19 มิ.ย. 2022 เวลา 00:45 • อาหาร
Winnow กับอีกหนึ่งโมเดลธุรกิจของการลดอาหารเหลือทิ้ง ตามแบบฉบับ Circular Economy
Cr. iStock by Getty Images, Photo by gorodenkoff
หลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลายอุตสาหกรรม รวมถึงด้านอาหารด้วย เราเคยทราบมาแล้วว่าหลักการสำคัญก็คือการบริหารจัดการทรัพยากรให้เหลือของเสียน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ในวัยเด็ก หลายท่านอาจจะเคยถูกสอนว่าเวลาทานข้าว หรือทานอาหารใด ๆ ก็ตาม ให้ทานให้หมด อย่าให้เหลือเศษ รวมถึงอาจมีวลีต่อท้ายว่า สงสารคนที่อดอยาก ไม่มีอาหารจะรับประทาน จริง ๆ แล้ว นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิด Circular Economy ทางด้านอาหารด้วยเช่นกัน
สำหรับประชาคมโลกแล้ว อาหารเหลือทิ้ง หรือ Food Waste นั้น ในปัจจุบัน ถือว่าเป็นประเด็นใหญ่ จากสถิติที่ผ่านมา อาจทำให้เราประหลาดใจว่า
1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตออกมาทั่วโลก กลายเป็นอาหารเหลือทิ้ง…
อาหารเหลือทิ้งทั่วโลก คิดเป็นน้ำหนักรวมกันประมาณ 13,000 ล้านตันต่อปี คิดเป็นเงินที่สูญเสียไปประมาณ 1.2 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ ต่อปี...
25% ของน้ำที่นำมาใช้ประโยชน์ ถูกนำมาปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ เพื่อผลิตเป็นอาหาร ที่เราไม่เคยได้ทาน!
เช่นเดียวกัน ที่ดินทำการเกษตรกรรมขนาด 1 ใน 4 ของผืนดินทั่วโลก เป็นพื้นที่ผลิตอาหาร ที่ไม่เคยเข้าปากใครเลยสักคน
และผลที่ตามมาอีกก็คือ อาหารเหลือทิ้งเหล่านั้น ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3.3 พันล้านตันต่อปีขึ้นสู่บรรยากาศ
ดังนั้น ประเด็นเรื่องอาหารเหลือทิ้ง จึงเป็นปัญหาทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะในประเทศไทยด้วยแล้ว ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น "ครัวของโลก" ที่สำคัญแห่งหนึ่ง
ทั่วทุกหัวระแหง ตั้งแต่รถเข็นลูกชิ้นปิ้งหน้าปากซอย หาบเร่ ร้านริมถนน ตลาดนัด ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ไปจนถึงภัตตาคารใหญ่ ๆ ทุกที่ที่กล่าวมา ล้วนแล้วแต่เป็นแหล่งรับประทานอาหารที่เราคุ้นเคย และไม่ว่าที่ใดก็ตาม จะมีอาหารเหลือทิ้งด้วยกันทั้งสิ้น จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่
Future Perfect ชวนคิดดูว่า ถ้าเราลดอาหารเหลือทิ้ง หรือ Food Waste ได้ เราจะช่วยลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรเพื่อมาผลิตอาหาร และอาจมีอาหารเผื่อแผ่ไปถึงคนที่อดอยาก ไม่มีอาหารจะทานได้อีก ลดการใช้ทรัพยากรน้ำ รวมถึงช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย
ประโยชน์ที่กล่าวมา บางคนอาจจะคิดว่ามันไกลตัว ยังไม่จูงใจ…
แต่ถ้าบอกว่า นอกเหนือจากประโยชน์ที่กล่าวมา มันจะช่วยประหยัดต้นทุนค่าอาหาร ประหยัดเงินในกระเป๋าคุณ จากการมีของเสียลดลง รวมถึงอาจทำให้เกิดรายได้เพิ่มเติม จากอาหารเหลือ ที่จะเอาไปทำประโยชน์อย่างอื่น หรือขายต่อได้อีก คราวนี้ดูน่าสนใจขึ้นแล้วใช่ไหมครับ
นี่อาจเป็นโจทย์ข้อหนึ่งของ Startup ในเมืองไทยเช่นกัน ในการหาวิธีการแก้ปัญหานี้ เพื่อให้ทุกฝ่าย Win-Win-Win
ในบทความนี้ Future Perfect จะกล่าวถึงแบรนด์ Winnow ซึ่งเป็น Startup รายหนึ่งจากสหราชอาณาจักร ที่มุ่งเน้นการทำธุรกิจเกี่ยวกับการลดอาหารเหลือทิ้ง (Food Waste) มาตั้งแต่ปี 2013
แนวคิดของ Winnow จะเป็นอย่างไร มีวิธีการที่น่าสนใจอย่างไร Future Perfect มีคำตอบมาอัพเดทและเปิดมุมคิดให้กับทุกคนครับ
Cr. iStock by Getty Images, Photo by Daisy-Daisy
Winnow เป็น Startup ที่มีเป้าหมายที่จะช่วยอุตสาหกรรมบริการ ที่เกี่ยวกับการปรุงและจำหน่ายอาหาร หรือช่วยครัวที่ทำอาหารนั่นเอง ในการลดปริมาณขยะเศษอาหารภายในครัว โดยการบริหารจัดการผ่านข้อมูล หรือใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ช่วยในการวิเคราะห์อาหารที่เหลือทิ้งในถังขยะของครัว ด้วยความแม่นยำที่สูงขึ้น
Winnow ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ต้องการจะช่วยให้ลูกค้าของตนเองทั่วโลก ประหยัดเงินจากการลดเศษอาหารเหลือทิ้งได้ถึง 1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ภายในปี 2025
โดยในจุดเริ่มต้นของ Winnow ที่คิดโมเดลธุรกิจนี้ Marc Zornes หนึ่งในผู้ก่อตั้งและ CEO มีแนวคิดว่า อะไรที่สามารถวัดได้ ก็สามารถจัดการได้
โดยในทางปฏิบัติของการจัดการเศษอาหารเหลือทิ้งแบบเดิม ๆ ในครัว โดยเฉพาะครัวขนาดใหญ่ ถ้าไม่มีตัวช่วยในการจำแนกที่มาของเศษอาหารและวัดปริมาณ ก็ถือเป็นเรื่องจุกจิกและจัดการได้ยาก ข้อมูลส่วนใหญ่ได้จากการเดาและประมาณการ และมักจะตก ๆ หล่น ๆ เป็นปกติ
ลองนึกถึงถังขยะที่บ้าน ซึ่งเราใส่เศษอาหารจนเต็มถัง เราเองก็คงไม่อยากจะไปมองหรือไปยุ่งกับมันเท่าไหร่นัก
ดังนั้น ถ้าเราสามารถวัดปริมาณที่เหลือทิ้งของขยะอาหารได้ ก็สามารถวางแผนแก้ไขในการลดปริมาณวัตถุดิบบางอย่างได้ถูกจุดนั่นเอง โดยที่ Marc Zornes เคยประเมินขยะอาหารเหลือทิ้งว่ามีมูลค่าประมาณ 5-20% ของราคาอาหารที่จ่ายไป
อาหารที่เหลือทิ้ง โดยเฉพาะในครัวขนาดใหญ่นั้น ไม่ได้เกิดจากการที่เชฟ หรือพ่อครัว ต้องการให้สิ้นเปลือง หากแต่เกิดจากการที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำว่าวัตถุดิบใดจะเหลือทิ้งบ้าง ถึงแม้จะพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อกะปริมาณแล้วก็ตาม
Winnow ใช้ระบบที่ช่วยวิเคราะห์เศษอาหารที่ทิ้งลงไปในถังขยะ ว่าประกอบด้วยวัตถุดิบใด ในปริมาณเท่าใด โดยมีการติดตั้งระบบ Winnow Waste Monitor ให้กับลูกค้า ซึ่งระบบดังกล่าวประกอบด้วยตาชั่งแบบฉลาดที่อยู่ใต้ถังขยะ แท็บเล็ตที่มีแอปพลิเคชั่นและมีข้อมูลรายการอาหารภายในร้าน และระบบคลาวด์ โดยอุปกรณ์และระบบเชื่อมต่อกันทั้งหมด
Cr. techcrunch.com
เมื่อในครัวมีการทิ้งเศษอาหารลงในถังขยะ และพนักงานบันทึกรายการอาหารลงในแท็บเล็ต ระบบก็จะประมวลผลข้อมูลน้ำหนักและชนิดของอาหารออกมาในรูปแบบที่สามารถแสดงผล ติดตาม และเรียกดูข้อมูลเศษอาหารเหลือทิ้งที่ผ่านมาได้
นอกจากระบบ Winnow Waste Monitor แล้วยังมีอีกระบบหนึ่งที่ไฮเทคมากขึ้น นั่นก็คือ ระบบ Winnow Vision ประกอบด้วยกล้องที่ใช้เทคโนโลยี AI แบบเดียวกับยานยนต์ไร้คนขับ คอยจับภาพเศษอาหารอยู่ที่ถังขยะ เมื่อมีการเทขยะลงไปในถัง ตัวกล้องเองที่มีระบบ Machine Learning จะประมวลผลจากภาพถ่ายและบ่งชี้ว่าเศษอาหารมีองค์ประกอบใดบ้าง ในปริมาณเท่าใด และคอยวิเคราะห์ข้อมูล ติดตามผลลัพธ์ของปริมาณเศษอาหารอย่างต่อเนื่อง
Cr. foodtank.com
สรุปโดยหลักการแล้ว สิ่งที่ Winnow ช่วยอำนวยความสะดวกกับลูกค้า ก็คือการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven) เพื่อให้เจ้าของครัว สามารถบริหารจัดการวัตถุดิบในการทำอาหาร ตัดสินใจปรับเปลี่ยนวิธีการ หรือดำเนินการต่อ เพื่อลดของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประหยัดเงินในกระเป๋านั่นเอง
ปัญหาหนึ่งที่มักจะพบเจอ โดยเฉพาะในครัวขนาดใหญ่ เช่น ตามโรงแรม ตามร้านอาหาร นั้นก็คือ การสั่งซื้อวัตถุดิบมากเกินความจำเป็น และการเตรียมอาหารเกินความต้องการของแขกที่มารับประทาน
ลองนึกถึงไลน์บุฟเฟต์ในงานแต่งงานของโรงแรม เมื่อจบงานแล้ว เราคงพอนึกออกว่า โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีอาหารเหลืออยู่ในไลน์บุฟเฟต์มากเพียงใด ที่เจ้าภาพต้องขนกลับไป หรือไม่ก็ทิ้งเป็นขยะให้โรงแรมไปจัดการต่อ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่อาหารเหลือนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากเจ้าภาพที่จัดงาน จำเป็นต้องเตรียมอาหารไว้ให้พอสำหรับแขกที่มาร่วมงาน ตามคติที่ว่า เหลือดีกว่าขาด
แต่ในส่วนของเชฟเองนั้น วัตถุดิบในครัวที่เหลือทิ้ง หลายครั้งเกิดจากการกะ หรือประมาณการวัตถุดิบที่ต้องใช้จากประสบการณ์ แต่อาจไม่เคยตระหนักว่าสุดท้ายแล้วมีวัตถุดิบหรืออาหารเหลือทิ้งมากเพียงใด
แต่เมื่อสามารถเก็บและติดตามข้อมูลอาหารเหลือทิ้งต่าง ๆ ในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะลักษณะของเสียที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ (Pattern) และอาจเกิดขึ้นในจุดใดเป็นพิเศษ ก็จะช่วยให้เชฟมองเห็นจุดบอด และสามารถบริหารจัดการในการจัดเตรียมวัตถุดิบได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและมีของเสียลดลง
Winnow ได้เคยอ้างข้อมูลไว้ว่าครัวที่ใช้ระบบ Winnow จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของการลดขยะอาหารได้ 40-70% ภายใน 6-12 เดือนที่เริ่มดำเนินการ และช่วยประหยัดต้นทุนด้านอาหารได้ประมาณ 2-8%
Cr. iStock by Getty Images, Photo by BsWei
จากที่กล่าวมานั้น จะเห็นได้ว่า Winnow เป็นตัวอย่างหนึ่งของ Startup ที่มุ่งเน้นเรื่องการลดอาหารเหลือทิ้งอย่างจริงจัง และประสบความสำเร็จในการขยายผลธุรกิจ โดยถูกจัดเป็น 1 ใน 11 บริษัทที่เป็นผู้นำทางด้าน Circular Economy โดย World Economic Forum เมื่อปี 2019
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ Winnow ให้ความสนใจในธุรกิจ เกี่ยวข้องกับครัวที่ปรุงหรือผลิตอาหารเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นเพียงพื้นที่หนึ่งในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจอาหาร
ทั้งนี้หากลองไล่เรียงห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจอาหารนั้น เราอาจจะต้องย้อนไปพิจารณาเริ่มตั้งแต่เกษตรกรที่เพาะปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ ไล่เรียงต่อไปที่ผู้รับซื้อวัตถุดิบ โรงงานแปรรูป โรงงานบรรจุภัณฑ์ ร้านค้าส่ง ร้านค้าปลีก เพื่อส่งมอบวัตถุดิบไปให้พ่อครัว หรือผู้ปรุงอาหาร ผลิตอาหารพร้อมทานออกมาให้ผู้บริโภค
ยิ่งไปกว่านั้นอาหารที่ผลิตมาแล้ว แต่ขายไม่หมด หรืออาหารที่รับประทานไม่หมด เหลือเป็นเศษอาหาร นี่ก็คือโจทย์ปัญหาที่สามารถนำไปขบคิดต่อได้ ที่ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจได้เช่นกัน ถ้าสามารถแก้ปัญหาให้อาหารเหลือทิ้งลดลงได้
อย่างที่ Future Perfect ได้กล่าวไว้แล้วตอนต้นว่า หากแก้ปัญหาได้ คนลดของเสียก็ได้ประโยชน์ คนเสนอโซลูชั่นก็มีรายได้ คนที่อดอยากก็อาจได้ผลพลอยได้ แถมยังช่วยลดโลกร้อนด้วย… แบบนี้ก็ Win-Win-Win ครับ
3 มุมคิดที่ Future Perfect ขอฝากไว้
1) การลดอาหารเหลือทิ้ง (Food Waste) เป็นแนวทางหนึ่งของ Circular Economy ที่ช่วยลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรของโลก ลดความอดอยากหิวโหยของผู้คนที่ยากไร้ และลดโลกร้อนได้ด้วย
2) Winnow คือหนึ่งใน Startup ที่มุ่งเน้นการลดอาหารเหลือทิ้งจากครัวของลูกค้า โดยใช้ระบบ Winnow Waste Monitor บันทึกและติดตามข้อมูลผ่านแท็บเล็ต หรือระบบ Winnow Vision ที่ติดตั้งกล้องตรวจจับเศษอาหารพร้อมระบบ Machine Learning ในการประมวลผล
3) การค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาหรือโซลูชั่น จากปัญหาอาหารเหลือทิ้ง สามารถพิจารณาได้ตั้งแต่ต้นทางของห่วงโซ่คุณค่า ได้แก่ เกษตรกร ไปจนถึงผู้บริโภค หรือที่เรียกว่า "from FARM to FORK"
#FuturePerfect #อนาคตกำหนดได้
โฆษณา