19 มิ.ย. 2022 เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Stagflation คืออะไร??
ช่วงนี้ เราอาจได้ยินคำนี้บ่อยๆ ว่า เศรษฐกิจมีโอกาสเข้าสู่ stagflation ไหม ในช่วงที่เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น และดูเหมือนธนาคารกลางจะยังคุมเงินเฟ้อไม่ได้ มารู้จักกันว่า stagflation คืออะไรกัน
Stagflation ประกอบจากคำภาษาอังกฤษ 2 คำ มาผสมรวมกัน คือ Stagnation ภาวะหยุดนิ่ง ไม่เติบโต เป็นภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน ซบเซา และ Inflation ซึ่งหมายถึง เงินเฟ้อ
ในภาวะปกตินั้นเมื่อเศรษฐกิจเติบโตดี คนมีงานทำ (อัตรากการว่างงานต่ำ) มีรายได้มากขึ้น ก็จะทำให้ความต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก
ส่วนถ้าเศรษฐกิจไม่ดี การว่างงานสูง คนมีรายได้น้อย ก็ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าน้อยลง เงินเฟ้อก็จะไม่มาก
แต่ Stagflation นั้น คือ เศรษฐกิจไม่ดี อัตราการว่างงานก็สูง แต่เงินเฟ้อก็สูงขึ้นด้วย เกิดภาวะที่ราคาสินค้าและค่าครองชีพปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่คนมีรายได้เพิ่มไม่ทัน เมื่อคนมีรายได้โตช้ากว่าค่าครองชีพที่เพิ่ม ทำให้ต้องควบคุมการใช้จ่ายมากขึ้น ไม่อยากบริโภคมาก
ผู้ประกอบการก็จะขายสินค้าได้ลดลง จะส่งผ่านต้นทุนโดยการเพิ่มราคาสินค้าก็ทำได้ยาก เพราะจะทำให้คนยิ่งไม่บริโภค ทำกำไรได้ลดลง ทำให้ไม่เกิดการจ้างงานหรือลงทุนขยายกิจการ และอาจต้องลดคนงานลงด้วย มันก็ยิ่งวนลูปที่ทำให้ยิ่งแย่ลงไปเรื่อย ๆ
เหตุการณ์ Stagflation ที่โด่งดังในอดีต
เริ่มจาก ปี 1971 ประธานาธิบดีสหรัฐ Richard Nixon ยกเลิกการผูกค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐกับทองคำ
ทำให้ดอลล่าร์อ่อนค่า เงินเฟ้อปรับสูงขึ้น
ปี 1974 กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน OPEC ห้ามส่งออกน้ำมันไปสหรัฐและประเทศที่สนับสนุนอิสราเอล ทำให้เกิด supply shock ยิ่งทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
FED ลดดอกเบี้ยเพื่ออุ้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและฝั่งรากลึก
ปี 1979-1981 เกิด stagflation เศรษฐกิจไม่โต (GDP สหรัฐติดลบ บางปีบวกเพียงแค่ 3%) อัตราการว่างงานสูง 10 กว่า % และเงินเฟ้อขึ้นไปสูง 13.5 % ในปี 1980
FED ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย ซึ่ง Paul Volcker ประธาน FED ตอนนั้น ต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปถึง 20% ถึงจะคุมเงินเฟ้อได้
FED ถูกมองว่า Behind the Curve คือ ธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไปเมื่อเทียบกับแนวโน้มของเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไป ทำให้เงินเฟ้อควบคุมไม่ได้ และมักจะต้องดอกเบี้ยแรงและเร็วกว่าเดิม
สถานการณ์ตอนนี้ น่าจะยังห่างจากตอนนั้น แต่ถ้าธนาคารกลางยังไม่สามารถทำให้เชื่อได้ว่าจะคุมเงินเฟ้อได้ จะทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อฝั่งรากลึกว่าเงินเฟ้อจะสูงไปเรื่อย ๆ จะยิ่งทำให้คุมไม่ได้ และเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิด Stagflation
#หมอยุ่งอยากมีเวลา #เงินเฟ้อ #เศรษฐกิจ #เงินเฟ้อเพิ่ม #เศรษฐกิจซบเซา #อัตราเงินเฟ้อ #เศรษฐกิจชะงักงัน #ภาวะเงินเฟ้อ #เศรษฐกิจไม่โต #inflation #stagnation #stagflation
โฆษณา