20 มิ.ย. 2022 เวลา 18:14 • ความคิดเห็น
สมมุติว่ามีคนตาบอด( ตั้งแต่เกิด) สามคนมาคลําช้าง คนหนึ่งคลําไปที่หาง อีกคนคลําไปหัว อีกคนคลําไปที่ลําตัวแล้วให้สามคนมาลองอธิบายว่า ช้างมีลักษณะอย่างไร คุณว่าเขาจะพูดเหมือนกันไหม? เขาจะอธิบายได้ถูกไหมว่าช้างเป็นอย่างไร? เหมือนดังสุภาษิตที่ว่าตาบอดคลำช้างแล้วถ้ามีคนหวังดีมาอธิบายให้คนตาบอดฟังว่าจริงๆแล้วช้างคือสัตว์สี่เท้า มีหูใหญ่ มีงวง มีงา ตัวใหญ่ หางเล็ก คนตาบอดจะเข้าใจไหมว่าช้างมีลักษณะเช่นไร?
เขาจะแยกความแตกต่างระหว่าง ช้างกับไดโนเสาร์ ได้ไหม? เปรียบเทียบกับคนตาดี เมื่อเรียนรู้ทีละส่วน เห็นหัว เห็นงา เห็นหู ลําตัว เท้า เห็นหาง ได้ยินเสียงร้อง เอาแต่ละส่วนมาประกอบกันจึงเข้าใจว่านี่แหละคือช้าง
แล้วโลกล่ะจะเหมือนช้างไหม? ทุกข์ก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกเหมือนงาช้างไหม? จําเป็นต้องเห็นไหมจึงจะเข้าใจโลก ถ้าโลกประกอบด้วยชิ้นส่วนทั้งรูปธรรม นามธรรม 1,2,3,4,5,6........ เราเห็นหรือรู้แค่ 1,2,3 แต่เราไม่รู้ไม่เห็น 5,6,7 ที่ประกอบเป็นโลกแล้วเราจะเข้าใจโลกได้จริงหรือ? จะเป็นเหมือนตาบอดคลำช้างหรือไม่?
ทุกข์ ในความหมายของไตรลักษณ์คือสภาพที่ทนไม่ได้ คือมันอยู่เฉยๆไม่ได้เลยจะต้องเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แล้วอะไรล่ะที่ทนไม่ได้ อะไรละที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ก็คือทุกอย่างในจักรวาลนี่แหละคือตัวทุกข์ ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ สิ่งของ ก้อนหิน ดิน ทราย ลม ฟ้า อากาศ แสงแดด เซล อวัยวะ ดวงดาว กาแล็คซี่ โมเลกุล อะตอม อิเล็กตรอน โปรตรอน รวมถึงจิตของมนุษย์และความคิดทั้งหลายแหล่ล้วนเป็นตัวทุกข์ทั้งสิ้น
คือมันแปรเปลี่ยนตลอดเวลา มีสภาพเป็นอนิจจัง (ควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้)และอนัตตา (ไม่มีตัว มีตน ที่แท้จริง) ร่วมอยู่ด้วย ทั้งหมดคือไตรลักษณ์ ในสภาพเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป คือมันเกิด-ดับ เกิด-ดับ ๆๆๆๆ ต่อเนื่องอย่างรวดเร็วในระดับอนุภาคมูลฐานที่ตามนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือแสงสว่างที่เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มันไม่ได้สว่างตลอดเวลา แต่เป็นการเกิด-ดับ ๆถ่ายทอดพลังงานในรูปแบบของคลื่น
ทุกข์ก็คือพื้นฐานหรือ fundamental ที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวตนให้เราเรียนรู้ ตัวทุกข์มันก็อยู่ของมันอย่างนั้นวนเวียนไปมา มีสภาพเกิด-ดับ เกิด-ดับ ตั้งแต่ยังไม่มีมนุษย์ถือกำเนิดแล้ว มาถึงตอนนี้คงจะมีคนงงและสงสัยว่าไอ้ที่เราบ่นว่าเป็นทุกข์เหลือเกิน ใครเป็นคนทุกข์ถ้ายังไม่มีมนุษย์มาเกิดแล้วทุกข์เกิดมาก่อนได้ไง?
ทุกข์ในความหมายที่เราเข้าใจก็คือฉันทุกข์ หรือทุกข์ในอริยสัจ4 ความหมายที่แท้จริงคือตัวสมุทัยหรือสภาพจิตที่เราปรุงแต่งตัวทุกข์ที่อธิบายข้างต้นให้มันมีผลกับชีวิตเรา ซึ่งทุกข์นั้นมันจะมีผลหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีเราเรียกสมุทัยเกิดขึ้นหรือวงจรปฏิจจสมุปบาทเกิด แต่ถ้าไม่มี สมุทัยดับไปทุกข์นั้นก็ไม่สามารถทําอะไรเราได้ เช่นฝนตกฟ้าร้อง(ตัวทุกข์) บางคนก็ทุกข์ถ้าเปียกฝน(มีสมุทัย) บางคนก็ไม่ทุกข์ (ไม่มีสมุทัย)
เวลาเราเรียงอริยสัจสี่ ตามเหตุและผล เราจึงเรียง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งถูกต้องโดยนัยแล้ว แต่ที่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจจะเรียง สมุทัย ทุกข์ นิโรธ มรรค ซึ่งเข้าใจแบบสลับความหมาย นั่นคือเข้าใจว่าทุกข์มีสาเหตุคือเกิดจากโน้นนี่และตัวสาเหตุนั้นแหละคือสมุทัย (คือมีสมุทัยเกิดก่อน ทุกข์จึงตามมา)
แต่ถ้าจะบอกว่าทุกข์เกิดก่อน พอมีสมุทัยเราจึงเกิดทุกข์ตามมา ( สมุทัยเป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นทางจิต ) เมื่อสมุทัยเกิด เราจึงต้องหาทางดับสมุทัย ด้วยนิโรธคือรู้แจ้งสภาพทุกข์และเจริญมรรค เพื่อดับสนิทสภาพปรุงแต่งตัวทุกข์นั้นขึ้นมาหรือสภาวะจิตนั้น เราไม่ได้ไปดับตัวทุกข์ตัวแรกในอริยสัจ4 เช่นฝนตกฟ้าร้อง
เราเป็นทุกข์ แต่เราไม่สามารถควบคุมฟ้าฝนได้ แต่เราดับสมุทัยได้( สมุทัยปรุงแต่งทุกข์)
สรุปว่า แค่ทุกข์เรายังจะไม่ค่อยเข้าใจว่าจริงๆแล้วคืออะไร? ทุกข์ในไตรลักษณ์กับทุกข์ในอริยสัจ4 ต่างกันอย่างไร? ศาสนาพุทธไม่ค่อยจะกล่าวถึงความสุขเลยเพราะเราจะติดกับดักในเรื่องภาษา
ทวิภาวะความเป็นคู่ตรงข้าม เช่น ทุกข์กับสุขซึ่งมันไม่ได้แยกกันอยู่แบบเป็นทางเลือก 2 ทาง แต่มันคือทางเลือกเดียวที่เลือกแล้วจะเกิดอีกทางขึ้นเสมอ คือทุกข์น้อย สุขก็จะมากขึ้นโดยอัตโนมัติ เราเลยไม่จำเป็นต้องพูดถึงสุข
แต่กล่าวโดยรวมแล้ว สภาพจิตที่จะหลุดพ้นไปจากโลกได้ จึงต้องเข้าใจสภาวะมูลฐานคือทุกข์ในไตรลักษณ์และไล่มาเป็น ทุกข์ในอริยสัจ4 จนเข้าใจในนิโรธและดับสภาวะนั้นด้วยหนทางแห่งมรรค ดังคำที่เกจิอาจารย์ท่านกล่าวว่า ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธให้รู้แจ้ง มรรคให้เจริญ
โฆษณา