22 มิ.ย. 2022 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์
IQ และ EQ สำคัญอยู่ไหม? เมื่อ “AQ” ทักษะการแก้ไขปัญหา จะยิ่งจำเป็นในอนาคต
6
ในอดีต การที่เราจะวัดว่าคนคนหนึ่งทำงานเก่งหรือเก่งเรื่องคนหรือไม่ เราก็คงจะวัดจากระดับ IQ (Intelligence Quotient) และ EQ (Emotional Quotient) ที่พนักงานคนหนึ่งมี
1
แต่ในปัจจุบันนี้ หลายๆ องค์กรกลับหันให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า “AQ (Adversity Quotient หรือ Adaptability Quotient)” หรือว่าความสามารถในการแก้ไขปัญหา ปรับตัว และรับมือกับอุปสรรคที่เขามาในชีวิตมากยิ่งขึ้น
9
แต่แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้นกัน?
ลองหันไปรอบๆ ตัวตอนนี้ เราจะเห็นได้ว่า โลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก มีหลายครั้งหลายคราที่ธุรกิจหรือองค์กรอาจต้องเจอสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่นสถานการณ์ที่เรารู้จักกันอย่างดีอย่างโควิด-19 หรือจะเป็นเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศหรือเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือแม้แต่การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีที่เป็นทั้งโอกาสและเป็นทั้งความท้าทายของธุรกิจมาโดยตลอด
คุณท๊อป Bitkub เคยกล่าวในการสัมภาษณ์หัวข้อคนทำงานกับการก้าวสู่ปี 2030 ไว้ว่า
“โลกเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา การที่เราหยุดอยู่นิ่งๆ ล้มเหลวแน่นอน – สกิลที่สำคัญที่สุดของคนทำงาน ไม่ใช่ IQ หรือ EQ แต่คือ AQ ความสามารถที่จะ Unlearn และ Relearn สิ่งต่างๆ – คนที่ประสบความสำเร็จในยุคที่แล้ว คือคนที่สามารถที่จะอ่านออกเขียนได้ .. แต่ทุกวันนี้ทุกคนอ่านออกเขียนได้กันหมดแล้ว คนที่จะประสบความสำเร็จคือคนที่มีความสามารถที่จะ Unlearn และ Relearn สิ่งต่างๆ”
6
รับฟังบทสัมภาษณ์แบบเต็มได้ที่: https://bit.ly/3b7BTxD
ทำให้เราเห็นว่า เมื่อโลกเปลี่ยน AQ จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่บุคลากรของบริษัทจำเป็นต้องมีเพื่อใช้ในการรับมือกับปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ ที่ยากเกินกว่าจะใช้เพียง IQ และ EQ แก้ปัญหาได้
1
คุณเป็นคนแบบไหนในองค์กร Quitter, Camper หรือ Climber?
Dr.Paul Stolz ผู้เชี่ยวชาญด้าน Human Resilience ผู้สร้างแนวคิดของ Adversity Quotient ขึ้นมา ได้แบ่งระดับของคนที่มี AQ ในองค์กรออกเป็น 3 ระดับ ซึ่งจะได้แก่ Quitters, Campers และ Climbers ระหว่างที่อ่านคำอธิบายของกลุ่มคนแต่ละประเภท มาเช็กดูกันว่าตอนนี้คุณกำลังมี AQ ในระดับไหน
2
[ ] Quitters - AQ ต่ำ
คนกลุ่มนี้จะยอมแพ้ง่ายต่อความท้าทาย อุปสรรคต่างๆ หรือแม้แต่สถานการณ์แย่ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต จากนั้นพวกเขาจะเริ่มที่หมดหวังกับเส้นทางสู่ความสำเร็จของตัวเอง พวกเขาจะถอดใจง่ายๆ และไม่แม้แต่ที่จะพยายามคิดถึงหนทางในการก้าวข้ามความท้าทาย ซึ่งเราอาจพูดได้ว่าคนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่มี Fixed Mindset ที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนถึงแม้โลกจะหมุนไปข้างหน้ามากเท่าไรก็ตาม
2
[ ] Campers - AQ ปานกลาง
คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความพยายามที่จะฝ่าฟันอุปสรรคในระดับหนึ่ง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็อาจจะถอดใจดื้อๆ โดยส่วนมากแล้วพวกเขาจะกลัวที่จะเผชิญอะไรใหม่ๆ และอยากที่จะอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง และจะมีความสุขที่ชีวิตของพวกเขาเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ต้องรับมือหรือฝ่าฟันความท้าทายใหม่ๆ มากเท่าไร
4
[ ] Climbers - AQ สูง
คนกลุ่มนี้เรียกได้ว่าเป็น “นักล่าความสำเร็จ” พวกเขาจะมีความกล้าและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคหรือความท้าทายใหม่ๆ ที่เข้ามา Climbers จะไม่ยอมล้มเลิกความพยายามจนกว่าจะทำสำเร็จ อีกทั้งยังมองโลกในแง่ดี มีความกระตือรือร้นและมีความตั้งใจที่มั่นคง ไม่เหมือนกับ Campers ที่เดี๋ยวพยายามเดี๋ยวถอดใจ
1
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของ Stoltz พบว่า คนทำงานกว่า 90 เปอร์เซ็นต์จะอยู่ในกลุ่มของ Campers หรือกลุ่มคนที่อยู่ในเซฟโซนของตัวเอง แต่เมื่อเจอเป้าหมายที่คุ้มค่าที่จะปีนป่ายอีกครั้ง Campers ก็จะกลับมามีแรงใจที่จะสู้และฝ่าฟันกับอุปสรรคใหม่อีกครั้งเช่นกัน
1
แล้วเราในฐานะ “คนทำงาน” จะสามารถพัฒนา AQ ให้ตัวเองและทีมได้อย่างไร?
ในหนังสือ The Oz Principle โดย Rogers Connors, Craig Hickman และ Tom Smith ได้อธิบายถึงวิธีที่จะช่วยให้เราพัฒนา AQ ให้ตัวเราเองและให้กับทีมผ่าน 4 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่ See It, Own It, Solve It และ Do It
[ ] See It ยอมรับว่าเราต้องทำอะไรบางอย่าง
หากพูดง่ายๆ ขั้นตอนของ See It คือขั้นตอนของการทำความเข้าใจ ทั้งความเข้าใจตัวเอง และทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นว่าทำไมเราถึงจะต้องลงมือทำอะไรบางอย่าง และจะก้าวข้ามผ่านปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง
[ ] Own It รับผิดชอบต่อสถานการณ์นั้นๆ
มันเป็นเรื่องปกติที่เราหลายคนไม่อยากที่จะเปลี่ยน ไม่อยากที่เจอกับความท้าทายอะไรใหม่ๆ แต่ถ้าเราไม่ลองเจอกับความท้าทายเลย เมื่อถึงคราวจำเป็นที่เราจะต้องทำมันเพื่อความอยู่รอด มันก็มีสิทธิ์สูงที่เราจะล้มเหลว เพราะไม่เคยฝึกที่จะลงมือทำเลยจากความต้องการที่จะอยู่ในคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง
ดังนั้น เราจึงต้องรู้สึกว่า เรามีความรับผิดชอบกับสิ่งนั้นๆ หรือทุกคนมีส่วนร่วมกับสิ่งนั้นๆ เพื่อที่จะได้ผลลัพธ์ที่เราต้องการออกมา เพื่อที่เราจะมีแรงใจ และมีความกระตือรือร้นมากขึ้นที่จะลงมือทำอะไรบางอย่าง เพราะผลที่ออกมานั้นอยู่ในความรับผิดชอบของเรา หรือมีส่วนได้ส่วนเสียต่อชีวิตของเรา
[ ] Solve It หาวิธีรับมือกับปัญหา
เมื่อเราพยายามที่จะหาโซลูชันแก้ไขปัญหา สิ่งที่เราควรจะถามตัวเองอยู่เสมอคือ “What else can I (we) do?” หรือเราจะทำอะไรได้อีกบ้าง
1
ในที่นี้ What else ไม่ได้หมายความว่าให้ทำมากขึ้น แต่เป็นการบอกว่า ให้เราคิดต่างออกไปจากเดิม จะมีวิธีไหนที่เราทำได้อีก ที่จะช่วยให้เราไม่ยึดติดกับวิธีการเดิมๆ และมองหาโซลูชันที่แปลกใหม่ ด้วยความเชื่อที่หวังว่ามันต้องมีสักทางหนึ่งที่ทำให้เราไปสู่ความสำเร็จ
1
[ ] Do It ลงมือทำ
ขั้นตอนสุดท้ายคือการลงมือทำ เชื่อมั่นและยึดมั่นกับเป้าหมาย ถึงแม้ว่าจะล้มเหลวสักเท่าไร ก็ขอให้ยังมีหวังเหมือนอย่าง Climbers ที่ไม่ย่อท้อและมองถึงโอกาสและความเป็นไปได้อยู่เสมอ หาหนทางใหม่ๆ เพื่อที่จะคว้าความสำเร็จมาให้ได้
ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับคนทำงาน IQ และ EQ ก็ยังมีความสำคัญอยู่ แต่ในโลกที่จะมีความผันผวนมากกว่าเดิม มีความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม AQ จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และจะเป็นสิ่งที่หลายองค์กรมองหาจากตัวพนักงาน ดังนั้นถ้าใครอยากที่จะพัฒนา AQ ก็สามารถที่จะลองทำตาม 4 ขั้นตอนนี้ได้ ก่อนที่เราจะวิ่งช้ากว่าโลกธุรกิจที่หมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill
โฆษณา