22 มิ.ย. 2022 เวลา 14:15 • ข่าว
เงินเฟ้อที่ไม่อาจควบคุมได้ ภัยคุกคามเศรษฐกิจโลกที่รอการปลดล็อก
สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เริ่มก่อตัวมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงความพยายามปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด
เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกขนาดไหน วันนี้ “เรา” ลองไปรับฟังบทวิเคราะห์ของ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ของไทยในประเด็นเหล่านั้นกันดู
รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ของไทย
✤ ต้นตอของปัญหาเศรษฐกิจโลกสงครามรัสเซีย-ยูเครนอันแสนยืดเยื้อ :
“การเมืองภายในสหรัฐฯ เวลานี้ นอกจากจะทำให้สงครามในยูเครนยืดเยื้อแล้ว ยังกำลังโหมไฟเรื่องความขัดแย้งกับจีน หรืออิหร่าน เพิ่มเติมเข้าไปอีก”
การต่อสู้ทางการเมืองอย่างดุเดือดในสหรัฐฯ ที่ใกล้เข้าสู่ช่วงศึกเลือกตั้งกลางเทอม ได้กดดันให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ไม่สามารถเล่นบทบาท “ผ่อนปรน” เรื่องการเจรจาทางการค้ากับจีนซึ่งจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯได้ เนื่องจาก "กลุ่มการเมืองปีกสายเหยี่ยว" รวมถึง กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตในประเทศสหรัฐฯ “ไม่เห็นด้วย”
1
รวมถึงในกรณียูเครน แม้รัฐบาลสหรัฐฯ อยากจะลดการสนับสนุนยูเครน เพื่อเปิดทางไปสู่การเจรจาสงบศึกก็ยังไม่สามารถทำได้อีกเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มการเมืองปีกสายเหยี่ยวในประเทศอีกมากมายที่ยัง “คัดค้าน” ซึ่งนั่นรวมถึงกรณีความขัดแย้งกับอิหร่านด้วย
เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด
✤ อัตราดอกเบี้ยนโยบายและปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ :
“โดยหลักการที่เป็นจริง เท่าที่ผมได้ติดตามนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด มาตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา ทุกครั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะต้องสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ จึงจะถือว่าเป็นแนวโน้มที่ถูกต้อง!”
เมื่อใดก็ตามที่เงินเฟ้อสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มักจะเกิดปัญหาตามมาทันที โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในช่วงกลางทศวรรษ 70 ที่สงครามเวียดนามใกล้จะสิ้นสุด ซึ่งได้มีการปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินเฟ้อเพียงไม่กี่ปี ผลลัพธ์ที่ได้คือเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เกิดความปั่นป่วนและได้รับผลกระทบตามมาอีกมากมาย
“ฉะนั้นคำถามที่ว่า เฟด จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกกี่ครั้งในปีนี้ คำตอบมันจึงคือ ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถดึงเงินเฟ้อลงมาได้หรือเปล่ามากกว่า”
เวลานี้เงินเฟ้อในสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงถึง 8-9% แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ห่างจากเงินเฟ้อมากถึง 3-4 เท่า ฉะนั้นวิธีการที่ถูกต้องคือ จะต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถดึงเงินเฟ้อลงมาอย่างมีนัยสำคัญให้ได้ แล้วจึงค่อยๆ ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไป
แต่คำถามสำคัญสำหรับประเด็นนี้คือ จะใช้เครื่องมืออะไรในการดึงเงินเฟ้อลงมา หากสหรัฐฯ ยังคงใช้ “ความแข็งกร้าวของเครื่องมือภูมิรัฐศาสตร์” แบบที่เป็นอยู่ในเวลานี้ เพราะเครื่องมือภูมิรัฐศาสตร์ที่ว่านี้ เป็นที่มาสำคัญของการก่อเกิด “การเสียศูนย์ของระบบเศรษฐกิจโลก”
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "การเสียศูนย์ของระบบการทำงานของห่วงโซ่อุปทานโลก” จนทำให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นมา เช่นที่เห็นได้ชัดคือ อาหาร น้ำมัน ถ่านหิน ปุ๋ย โลหะ และสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ
“หากจะพูดกันแบบตรงไปตรงมา การที่สหรัฐฯ และพันธมิตรรวมตัวกันคว่ำบาตรรัสเซียยังถือเป็นเพียงระดับต้นน้ำ เพราะถ้าหากสหรัฐฯ และพันธมิตรเกิดไปคว่ำบาตรจีนเพิ่มเติมอีก คราวนี้ คุณจะโดนทั้งกลางน้ำและปลายน้ำ เพราะจีนถือเป็นโรงงานโลก ที่ผลิตสินค้าป้อนให้กับคนทั้งโลก”
ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ของรัสเซีย ไม่ถึง 10% ของ GDP จีน ตัวเลขการค้าขายระหว่างประเทศไม่สูงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศจีน รัสเซียค้าขายกับต่างชาติเต็มที่ไม่น่าจะเกิน 700,000-800,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งผิดกับจีนที่นำเข้า-ส่งออก สูงถึง 4-5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
ฉะนั้นลองจินตนาการดูแล้วกันว่า เพียงแค่การคว่ำบาตรรัสเซียประเทศเดียวยังทำให้เกิดความปั่นป่วนต่อห่วงโซ่อุปทานโลกได้ขนาดนี้ หากเพิ่มจีนเข้าไปอีกประเทศ ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นมันจะใหญ่โตมากมายขนาดไหนกัน
✤ คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในปีนี้ :
“ความเห็นส่วนตัวผมคิดว่าสิ้นปีนี้อย่างน้อยที่สุด เฟดน่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ประมาณ 3-4% และหลังจากนั้นหากเงินเฟ้อยังไม่ลงมา ก็จะมีการปรับเพิ่มขึ้นต่อไปอีก”
ในเวลานี้มีคำถามเกิดขึ้นว่าระหว่าง เงินเฟ้อ (Inflation) หรือ เศรษฐกิจถดถอย (Recession) สหรัฐฯจะเลือกแบบไหน?
หากเลือก “เงินเฟ้อ” โดยการปล่อยให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นต่อไปก็จะทำให้เกิดผลกระทบแบบ 3 ชิ่ง คือ 1.ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทำให้คนส่วนใหญ่ชักหน้าไม่ถึงหลัง 2.ผลกระทบต่อสังคม เมื่อคนส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องปากท้องก็จะนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรม 3.ผลกระทบต่อการเมือง ผู้คนอาจเริ่มออกมาประท้วงรัฐบาลเช่นที่กำลังขึ้นในหลายประเทศของยุโรปเวลานี้
แต่กลับกันหากสหรัฐฯ เลือก “เศรษฐกิจถดถอย” ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสหรัฐฯจะน้อยกว่า “เงินเฟ้อ” มาก เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ค่อนข้างดี
โดยดูได้จากตัวเลขการว่างงานในสหรัฐยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 3.6% ฉะนั้น หากเฟดตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบแรงๆ อย่างต่อเนื่องต่อไป แม้อาจทำให้เศรษฐกิจถดถอย หรือ GDP ติดลบไปบ้าง
แต่สหรัฐฯจะเจ็บน้อยกว่าเรื่องปัญหาเงินเฟ้อแน่นอน นอกจากนี้หากเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มถดถอย เฟด ยังสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการ ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีกด้วย
“เฟด ยิ่งเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปมากเท่าไร ก็ยิ่งสามารถปรับลดลงมาได้มากเท่านั้น”
Recesflation :
“หากแต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือหากเกิดสิ่งที่เรียกว่า Recesflation หรือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในขณะที่ เงินเฟ้อ (Inflation) ด้วย”
ปกติแล้วเวลาเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อจะชะลอตัวลง เพราะอำนาจการซื้อของผู้คนและการลงทุนจะลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหรืออาจติดลบ แต่จากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกการดึงเงินเฟ้อให้ลดลงมันอาจไม่สามารถทำได้โดยง่าย
เพราะปัจจัยเงินเฟ้อในปัจจุบันมันมาจากปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ฉะนั้น หากยังไม่มีการ “ปลดล็อก” เรื่องนี้ คำถามคือ? ราคาน้ำมัน ถ่านหิน ปุ๋ย หรือ สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ จะลดลงได้อย่างไร?
โดยเฉพาะ "น้ำมัน" ที่เป็นต้นตอของปัญหาในทุกเรื่อง โดยหากเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือ น้ำมันคือต้นน้ำ ที่จะทำให้กลางน้ำและปลายน้ำใสหรือน้ำขุ่น หากแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ณ เวลานี้ คือ น้ำมัน นอกจากจะทำให้กลางน้ำและปลายน้ำขุ่นแล้ว มันยังทำให้น้ำเชี่ยวอีกด้วย
✤ สถานการณ์เศรษฐกิจโลก :
“เมื่อประมวลผลกันแล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน คือ สภาวะเงินเฟ้อที่ไม่สามารถควบคุมได้ อันเกิดจาก 2 ปัจจัยหลักคือ 1. ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ 2. ปัจจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์”
ในอดีตปัญหาเงินเฟ้อมักเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจโดยตรง มันจึงสามารถใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจหรือวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ต่างๆ เข้าไปแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากแต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะมันมีเรื่องการทำสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน
ซึ่งมีกลุ่มประเทศพันธมิตรตะวันตกมากมายคอยให้การสนับสนุนในลักษณะ “สงครามตัวแทน” และจนถึงปัจจุบันก็ยังคงหาจุดที่ “ลงตัวไม่ได้” เข้ามาแทรกซ้อนอยู่ด้วย ซึ่งปัจจัยทั้ง 2 เรื่องนี้ ถือเป็น “ตัวแปรสำคัญ” ที่คุกคามปัญหาเงินเฟ้อและยังทำให้เกิด “ความรวนของห่วงโซ่อุปทานไปทั่วโลก” ด้วย
“เศรษฐกิจโลกซึ่งบอบช้ำจากโควิด-19 และควรจะค่อยๆ ฟื้นตัวได้แล้วหลังทั่วโลกเริ่มสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่เหมือนบุญมีแต่กรรมบัง เพราะปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์กลับกำลังทำให้เศรษฐกิจโลกอาจต้องเผชิญปัญหามากยิ่งขึ้นไปกว่าเก่า”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
โฆษณา