23 มิ.ย. 2022 เวลา 09:13 • คริปโทเคอร์เรนซี
​เปิดกรณีศึกษา
"การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าและบริการ"
​เปิดกรณีศึกษา "การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าและบริการ"
ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 2.04 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ที่มา : www.sec.co.th) แม้จะน่าสนใจแต่มีความผันผวนสูง ในประเทศไทย ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสนใจจากนักลงทุนเช่นเดียวกัน โดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
เปิดให้มีการลงทุนและซื้อขายภายใต้การกำกับดูแล แต่ปัจจุบันหลายธุรกิจได้ขยายขอบเขตในลักษณะของการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจของไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ย้ำจุดยืนมาโดยตลอดในการไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment: MOP) เพื่อป้องกันผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน รวมถึงเสถียรภาพของระบบการเงิน และความเสียหายที่จะเกิดแก่สาธารณชน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ย้ำจุดยืนมาโดยตลอดในการไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment: MOP) เพื่อป้องกันผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน รวมถึงเสถียรภาพของระบบการเงิน และความเสียหายที่จะเกิดแก่สาธารณชน
เปิดหลักเกณฑ์คุมสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศต่าง ๆ
ประเทศส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการพิจารณา การใช้สินทรัพย์ดิจิทัล
ปัจจุบันบางประเทศเปิดกว้างในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการได้อย่างเต็มที่ อย่างประเทศเอลซัลวาดอร์ที่ยอมรับ Bitcoin เป็นเงินตราที่สามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้ตามกฎหมาย โดยรัฐบาลสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลไปเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ
แต่ก็มีประเทศที่ห้ามการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเด็ดขาดทุกรูปแบบอย่างประเทศจีน ที่การลงทุนซื้อขายรวมถึงการขุดเงินดิจิทัลถือเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ประเทศส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการพิจารณาออกหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ โดยเฉพาะรูปแบบการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลประเภท stablecoin เช่น สหรัฐอเมริกาเสนอให้มีกฎหมายจำกัดการชำระเงินด้วย stablecoin ให้ทำได้โดยมีการรับประกันจากสถาบันรับประกันเงินฝากและต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลกลาง
กลุ่มประเทศยุโรปอยู่ระหว่างเสนอกฎหมายกำกับดูแลการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง stablecoin รวมถึงการประกอบธุรกิจการให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล ขณะที่ประเทศอังกฤษอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลและ stablecoin
ส่วนประเทศสิงคโปร์มีการออกกฎหมาย Payment Services Act กำกับการใช้เงินเหรียญที่เข้าข่าย e-money รวมทั้งมีการออกคำแนะนำจำกัดการโฆษณา โดยห้ามซื้อขาย cryptocurrency ในพื้นที่สาธารณะ ห้ามจ้างอินฟลูเอนเซอร์ และหากโฆษณาจะต้องแจ้งเรื่องความเสี่ยงให้ประชาชนรับทราบ
ไทยเปิดรับฟังความเห็นคุม Cryptocurrency
ไทยเปิดรับฟังความเห็นคุม Cryptocurrency
ประเทศส่วนใหญ่รวมถึงไทยเห็นว่า การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ มีความเสี่ยงต่อระบบการชำระเงินและเสถียรภาพของระบบการเงิน หากมีการใช้อย่างแพร่หลาย ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยได้เริ่มขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจในลักษณะให้บริการ ชักชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมจะให้บริการแก่ร้านค้าและผู้ประกอบการในธุรกิจต่าง ๆ
การที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในลักษณะดังกล่าว ธปท. มองว่า อาจส่งผลให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง นอกเหนือจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงเป็นความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ
อาทิ ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน
ธปท. ก.ล.ต. และกระทรวงการคลัง จึงพิจารณาใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการในวงกว้าง โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างหลักเกณฑ์ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งมี 7 ข้อ ดังนี้
(1) ไม่โฆษณาเชิญชวนหรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้า ว่าจะให้บริการเพื่อให้ร้านค้าสามารถรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้
(2) ไม่จัดทำระบบหรือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกใด ๆ แก่ร้านค้า ในการรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลหรืออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลชำระค่าสินค้าหรือบริการ
เช่น การจัดทำ QR code เพื่อให้ลูกค้า สแกนชำระค่าสินค้าหรือบริการเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล หรือมีการจัดทำระบบเพื่อแสดงราคาของสินค้าหรือบริการเป็นสกุลเงินดิจิทัล รวมถึงการจัดทำระบบเพื่อให้ร้านค้าสามารถแปลงสินทรัพย์เป็นเงินบาทภายหลังจากที่ลูกค้าชำระราคา เป็นต้น
(3) ไม่ให้บริการเปิดกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) แก่ร้านค้า เพื่อรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
(4) ในกรณีที่ผู้ซื้อขายทำการขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับเป็นเงินบาท ผู้ประกอบการต้องโอนเงินบาทเข้าบัญชีผู้ซื้อขายเท่านั้น
(5) ไม่ให้บริการที่มีลักษณะเป็นการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลหรือเงินจากบัญชีของผู้ซื้อขาย ไปยังบัญชีของรายอื่นหรือบุคคลอื่นใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการ
(6) ไม่ให้บริการที่มีลักษณะเป็นการโอนเงินบาทจากบัญชีของผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เปิดกับผู้ประกอบธุรกิจ ไปยังบัญชีของผู้ซื้อขายรายอื่นหรือบุคคลอื่นใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการ
(7) ไม่ดำเนินการในลักษณะอื่นใดนอกเหนือจากข้อ 1 - 6 ที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ
ในกรณีที่พบว่าผู้ซื้อขายนำบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในการรับชำระค่าสินค้าและบริการ ผู้ประกอบการต้องแจ้งเตือน หรือพิจารณาดำเนินการกับผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการ เช่น ยกเลิกการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือระงับบัญชี เป็นต้น
ธปท. กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางกำกับและดูแล
ทั้งนี้ ธปท. และ ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม - 8 กุมภาพันธ์ 2565 หลังจากประกาศมีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบธุรกิจที่มีสัญญาหรือข้อตกลงที่ทำอยู่ก่อนวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวภายใน 15 วัน นับจากวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้
อย่างไรก็ตาม ธปท. กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางกำกับดูแลที่เหมาะสม สำหรับบริการที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อนวัตกรรมทางการเงิน เช่น THB stablecoin โดยจะต้องไม่สร้างความเสี่ยงเชิงระบบที่กล่าวถึงข้างต้น และคำนึงถึงการเพิ่มศักยภาพของระบบการเงินของประเทศ และประโยชน์ของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ โดยหน่วยงานกำกับดูแลจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและประชาชนต่อไป
ที่มาข่าวจาก : bot.or.th
บทความโดย : BOT MAGAZINE
โฆษณา