23 มิ.ย. 2022 เวลา 23:00 • สัตว์เลี้ยง
ปรากฏการณ์ Pet Humanization
ยุคสัตว์เลี้ยงเทียบเท่าสมาชิกในครอบครัว
"Pet Humanization" โดยทั่วไปจะหมายถึงพฤติกรรมการเลี้ยงของเจ้าของที่เลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงของตัวเองเสมือนลูก หรือเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว หรือที่เรียกว่า “Pet Parents” พร้อมทุ่มเท ทั้งเงิน และการเลี้ยงดู จนแทบไม่ต่างจากมนุษย์
ซึ่งจะแตกต่างจาก “เจ้าของสัตว์เลี้ยง” ที่มีทัศนคติต่อสัตว์เลี้ยงของตัวเองว่าเป็นเพียงสัตว์เลี้ยง นั่นคือ จะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงไว้เพื่อไว้ใช้งานหรือต้องการประโยชน์บางอย่างจากสัตว์เลี้ยง เช่น เลี้ยงไว้เพื่อเฝ้าบ้าน และมีรูปแบบการเลี้ยงเป็นไปแบบง่าย ๆ
ปรากฏการณ์ Pet Humanization ยุคสัตว์เลี้ยงเทียบเท่าสมาชิกในครอบครัว
สำหรับ "Pet Humanization" มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยและต่อเนื่อง โดยผลการสำรวจของ Morgan Stanley Research ชี้ว่า
  • เกือบ 70% ของผู้เลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงของตัวเองเสมือนสมาชิกในครอบครัว
  • 66% ของผู้เลี้ยงมีความรักความผูกพันกับสัตว์เลี้ยงของตัวเองมาก
  • 47% ของผู้เลี้ยงยังเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของตัวเองเสมือนลูกอีกด้วย
  • 37% ของผู้เลี้ยง หากน้องหมา น้องแมว อยากได้อะไร ผู้เลี้ยงเหล่านี้ก็จะหามาให้
6 ปัจจัยผลักดันแนวโน้ม “Pet Humanization” ขยายตัว
แนวโน้ม “Pet Humanization” ไม่ได้เป็นเพียงแค่กระแสในช่วงเวลาสั้นๆ ที่มาแล้วก็ไป แต่นับวันจะยิ่งปรากฏชัดเจนขึ้น และกลายเป็น “Mainstream” โดยมี 6 ปัจจัยหลักหนุนคือ
1. คนโสดมากขึ้น
ปัจจุบันในหลายประเทศทั่วโลก ประชากรแต่งงานช้าลง และเป็นโสดมากขึ้น ปัจจุบันคนไทยเป็นโสดกันมากขึ้น จากจำนวนการแต่งงานที่ลดลง และการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลการจดทะเบียนสมรสและจดทะเบียนหย่าของกรมการปกครองพบว่า จำนวนการจดทะเบียนสมรสของคนไทยลดลงจาก 3.13 แสนคนในปี 2550 มาอยู่ที่ 2.98 แสนคนในปี 2560 (ลดลง 5.1%)
สวนทางกับจำนวนการจดทะเบียนหย่าที่เพิ่มขึ้นจาก 1.02 แสนคน มาเป็น 1.22 แสนคน (เพิ่มขึ้น 19.7%) ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งการแต่งงานที่ลดลง และการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่าประเทศไทยมีจำนวนคนโสดมากขึ้น
2. คู่รักไม่มีบุตรเพิ่มขึ้น
ทุกวันนี้คู่รักคนรุ่นใหม่ มีแนวโน้มชะลอการมีบุตรออกไปก่อน หรือตัดสินใจไม่มีบุตรเลย ด้วยหลากหลายเหตุผล เช่น กังวลกับสภาพสังคม และเศรษฐกิจในปัจจุบัน การเลี้ยงลูกยุคนี้มีต้นทุนสูง ต้องการโฟกัสความก้าวหน้าในงานก่อน อยากหาประสบการณ์ชีวิต ปัจจัยด้านสุขภาพ ฯลฯ ทำให้หลายคู่ตัดสินใจที่จะเลี้ยงน้องหมา น้องแมว และดูแลพวกเขาเหล่านั้นเป็นเหมือนลูกของตัวเอง
3. สัตว์เลี้ยงคลายเหงาผู้สูงอายุ รับแนวโน้มสังคมสูงวัย
ปี 2021 ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจาก “สังคมสูงอายุ” (Aging Society) ประชากรอายุ 60 ปีขึ้น มีสัดส่วน 10% ของประชากรทั้งประเทศ เข้าสู่ “สังคมสูงวัยสมบูรณ์” (Aged Society) แล้ว นั่นคือ 20% ของประชากรทั้งประเทศ อายุ 60 ปีขึ้นไป
หนึ่งในวิธีช่วยให้ผู้สูงอายุคลายเหงา ได้บำบัด และกลับมามีชีวิตชีวาอีก คือ การเลี้ยงสัตว์ แต่ต้องเลือกให้ประเภทสัตว์เลี้ยง และสายพันธุ์ที่เหมาะสม ไม่เป็นอันตรายกับผู้สูงอายุ เลี้ยงง่าย ดูแลง่าย
4. Supply เฟื่องฟู
จาก 3 ปัจจัยข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึง Demand ในตลาดสัตว์เลี้ยงมหาศาล เช่นเดียวกับฝั่ง Supply ปัจจุบันมีสินค้าและบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงมากมาย และหลายประเภท
ตั้งแต่อาหารสัตว์ ที่ตลาดพัฒนาลงลึกระดับ Fragmentation ทั้งอาหารสุนัขแต่ละสายพันธุ์ และมี Health Benefit บำรุงด้านต่างๆ อุปกรณ์การดูแล และของเล่นสัตว์เลี้ยง คลินิก – โรงพยาบาลสัตว์ โรงแรมสัตว์เลี้ยง และในยุคดิจิทัล มีสตาร์ทอัพหลายรายมองเห็นโอกาสธุรกิจ ได้พัฒนาแพลตฟอร์มดูแลสัตว์เลี้ยงแบบ On-Demand ในหลายบริการ
อย่างรายงานจาก “Wunderman Thompson” ได้ฉายภาพการเติบโตของธุรกิจแพลตฟอร์มดูแลสัตว์เลี้ยง On-demand ว่า ข้อมูลจาก VitusVet บริษัทผู้ให้บริการด้านสัตวแพทย์ ระบุว่าในปี 2020 คนอเมริกันเลี้ยงสัตว์ 47 ล้านตัว เพิ่มขึ้น 5% จากปี 2019
5. COVID-19 คนใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น
COVID-19 และมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้วิถีชีวิตคนเปลี่ยน ต้องใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น และเดินทางออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ทำให้บ้านกลายเป็นสถานที่ทุกอย่าง ไม่ว่าจะทำงาน เรียน คาเฟ่ขนาดเล็กๆ ออกกำลังกาย ฯลฯ
เมื่อคนมีเวลาอยู่กับบ้าน แทบจะตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน เพื่อคลายความเบื่อ และความเครียด จึงหากิจกรรมต่างๆ ทำ ทั้งทำอาหาร ปลูกต้นไม้ ปลูกผัก จัดบ้าน ตกแต่ง ซ่อมแซม ปรับปรุงบ้าน รวมถึงเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อน เป็นลูก ช่วยคลายเหงา และความเครียด
6. อีคอมเมิร์ซ ทำให้คนเข้าถึงสินค้าสัตว์เลี้ยงได้มากขึ้น
อีกปัจจัยที่เร่งให้ตลาดสินค้าและบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงโตอย่างรวดเร็ว คือ การมีช่องทางจำหน่ายหลากหลาย ทั้งร้านค้าออฟไลน์ และช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซ ทำให้ผู้คนเข้าถึงสินค้าได้มากขึ้น
ยิ่งช่วงสถานการณ์ COVID-19 ทั้งฝั่งแบรนด์สินค้า หรือร้านค้า รุกอีคอมเมิร์ซ ขณะเดียวกันพฤติกรรมการช้อปของผู้บริโภค Pet Lovers ก็เปลี่ยนมาสั่งซื้อสินค้าให้กับสัตว์เลี้ยงของตัวเองผ่านทางอีคอมเมิร์ซเช่นกัน
#สาระจี๊ดจี๊ด
พฤติกรรม Pet Humanization อยู่ในกลุ่มผู้บริโภควัย 18-34 ปี เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่มีสัตว์เลี้ยงเป็นของตนเอง และมีแนวโน้มในอนาคตจะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีพฤติกรรมเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเสมือนลูกในสัดส่วนที่มากที่สุด
#Wasabi ขอเพียงมีส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้คุณ!
"เจริญเติบโต ก้าวหน้า สำเร็จ อย่างภาคภูมิใจ"
แหล่งที่มา / แหล่งอ้างอิง
#สาระจี๊ดจี๊ด #Wasabi #ความรู้ขึ้นสมอง
โฆษณา