24 มิ.ย. 2022 เวลา 10:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ถึงแม้จะยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าที่สุดแล้ว วิทยาศาสตร์ทางทะเลหรือดาราศาสตร์จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติมากกว่ากัน แต่ประเด็นที่น่าสนใจของผู้คนที่กำลังพุ่งทะยานสู่การแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีในอวกาศ และการวิจัยจากใต้สมุทรที่เหมือนจะเป็นคู่ตรงข้ามกลับมีประโยชน์เอื้อถึงกันมากกว่าที่คิด
คำอธิบายที่ชัดเจนที่สุดที่ทำให้การสำรวจอวกาศดูน่าสนใจกว่าการศึกษาท้องทะเลคงเป็นผลกระทบจากอิทธิพลของสงครามเย็น และบรรยากาศการแข่งขันทางเทคโนโลยีอวกาศของอารยประเทศตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1947 ซึ่งทำให้รัฐบาลและผู้ลงทุนเอกชนให้ความสำคัญ ด้านทะเลรองลงมาในความพยายามเอาชนะข้อจำกัดสภาพแวดล้อม ขณะที่เทคโนโลยีและชุดอวกาศสามารถป้องกันอันตรายจากกัมมันตรังสีในอวกาศและข้อจำกัดด้านความเป็นอยู่ได้บ้างแล้ว
อีกทั้งความสนใจของสาธารณชนต่อการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับอวกาศซึ่งมักนำมาซึ่งข้อเท็จจริงที่น่าสนใจและสามารถเชื่อมโยงความคิดคนทั้งโลกเข้าด้วยกันได้ แต่ความท้าทายของการสำรวจใต้ท้องทะเลคือเรื่องของแรงดันน้ำ ความมืด การเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม และข้อจำกัดเรื่องงบประมาณการสนับสนุนการวิจัย
นอกจากนี้ ความคืบหน้าของการศึกษาวิทยาศาสตร์ทางทะเลหลายหัวข้อยังมีอิทธิพลหรือส่งผลกระทบแค่กับบางพื้นที่เท่านั้น จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้สาธารณชนให้ความสนใจกับการสำรวจอวกาศมากกว่าการสำรวจใต้ทะเล
อย่างไรก็ตาม จุดที่ทำให้การค้นคว้าทางทะเลมมาสัมพันธ์กับการสำรวจอวกาศได้ ก็คือจุดเชื่อมความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ วิทยาศาสตร์ทางทะเลและการสำรจอวกาศมุ่งไปที่ประเด็นทับซ้อนมิติความเป็นไปได้ของการสร้างที่อยู่อาศัยในภาวะสุดขั้ว ความมั่นคงทางอาหาร การบริหารจัดการทรัพยากร และการให้ความสำคัญในประเด็นเรื่องวิทยาศาสตร์การแพทย์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของอนาคตของที่อยู่อาศัย ที่ผ่านมามีการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการอยู่อาศัยใต้ทะเลและการศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งอาณานิคมในอวกาศควบคู่กันมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลทั่วโลก บริษัทเอกชน และผู้ลงทุนให้ความสนใจไปที่การสำรวจอวกาศมากกว่าในฐานะทางรอดของมนุษยชาติเมื่อโลกไม่สามารถอยู่ได้
อีกทั้งความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศยังถูกนำยึดโยงกับผลประโยชน์ทางการเมือง การวางกลยุทธภูมิรัฐศาสตร์ (geopoliticals) และเศรษฐกิจ จึงลดความสำคัญของการสำรวจใต้น้ำ
อย่างไรก็ตาม ก็เป็นที่น่าสนใจว่าการศึกษาท้องทะเลก็สามารถช่วยสนับสนุนการสำรวจอวกาศได้ เช่น ศูนย์วิจัยใต้น้ำอย่าง Aquarius ซึ่งจำลองสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงให้กับนักบินอวกาศ ของโครงการ NEEMO (NASA Extreme Environment Mission Operations) โดย NASA เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักบินอวกาศ วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ที่จะไปปฏิบัติภารกิจได้ทดลองการอยู่อาศัยจริงเพื่อจำลองการอยู่อาศัยในอวกาศ เป็นต้น
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- ความคาดหวังที่สำคัญในการค้นคว้าระหว่างวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการศึกษาอวกาศเพื่อสร้างสภาพที่อยู่อาศัยได้ให้มากยิ่งขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลบนโลก เช่น เพื่อการผลิตยา หรือ การดำรงชีวิตใต้ทะเล เป็นต้น
- การบริหารพื้นที่อสังหาริมทรัพย์และการสร้างที่อยู่อาศัยใต้น้ำจะได้รับการให้ความสนใจอีกครั้งในลักษณะของการจำลองเพื่อศึกษาการอยู่อาศัยบนอวกาศซึ่งไม่มีอากาศ ไร้แรงโน้มถ่วง และขาดแคลนทรัพยากร
- ความเป็นไปได้ที่จะมีการย้ายที่อยู่อาศัยครั้งใหญ่ไม่ว่าจะไปอยู่บนอวกาศ หรือ ใต้น้ำ จะเกิดเร็วขึ้นหากว่ามนุษย์ยังไม่สามารถรักษาทรัพยากรบนโลกและไม่สามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ที่เป็นเหตุกระทบหลักที่ทำให้โลกใบนี้เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com หรือติดตามที่ https://www.blockdit.com/futuretaleslab
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureUpdate #FutureofLiving #Habitat #Ocean #Space #Exploration #MQDC
โฆษณา