25 มิ.ย. 2022 เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“ทั้งหมดที่ผมอยากรู้คือผมจะตายที่ไหน ผมจะได้ไม่ไปที่นั่น”
นี่คือคำพูดของชาร์ลี มังเกอร์ คู่หูของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ภูมิปัญญานี้เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจาก จาโคบี นักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมนี ที่แนะนำให้ "คิดกลับด้านเสมอ" เพื่อช่วยแก้ปัญหายาก ๆ
มังเกอร์ใช้แนวคิดนี้ครั้งแรก ๆ เมื่อถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาได้รับมอบหมายเป็นนักอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ
หน้าที่นี้ต้องรับผิดชอบชีวิตนักบิน มังเกอร์เลยคิดกลับด้านว่า “มีวิธีไหนที่จะทำให้นักบินเสียชีวิตได้” แทน มันเป็นคำถามที่ค่อนข้างหนักและคนส่วนใหญ่ไม่ถามกัน
เขาได้คำตอบว่ามี 2 วิธี หนึ่งคือพานักบินไปอยู่ในสภาพอากาศที่หนาวจัด สองคือพานักบินไปยังบริเวณที่สภาพอากาศย่ำแย่มาก นักบินจะลงจอดไม่ได้ และน้ำมันจะหมด
เมื่อได้คำตอบแบบนี้ เขาก็พยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์เหล่านั้น เพื่อให้นักบินปลอดภัย
การคิดแบบนี้เป็นการมองอีกด้านของปัญหา แล้วหลีกเลี่ยงมัน
มีอีกหลายตัวอย่าง เช่น ถ้ามีคนจ้างปู่มังเกอร์ให้ช่วยพัฒนาประเทศอินเดีย มังเกอร์จะคิดกลับด้านแทนว่า “ผมจะทำร้ายอินเดียได้ด้วยวิธีไหนบ้าง” เมื่อได้คำตอบแล้ว ก็ให้หลีกเลี่ยงมัน
ปู่มังเกอร์ใช้แนวคิดนี้บ่อยมาก เขาจะไม่พยายามเป็นคนฉลาด แต่จะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เป็นคนโง่แทน
1
วิธีคิดแบบกลับด้านหรือกลับหัวแบบนี้ใช้ได้กับคำถามที่ว่า “ทำอย่างไรให้รวย” เราจะพลิกกลับและถามว่า “ทำอย่างไรให้ถังแตก” แทน
2
บัฟเฟตต์เล่าถึงคู่หูเขาว่า “ชาร์ลีบอกว่ามีเพียงสามวิธีที่คนฉลาดจะถังแตกได้ คือ สุรา ผู้หญิง และกู้เงินมาซื้อหุ้น” เมื่อได้คำตอบแล้วเราก็หลีกเลี่ยงมันเท่านั้นเอง
มังเกอร์แนะนำนักศึกษาว่า “พวกคุณไม่ต้องไปคิดว่าต้องการอะไร ขอให้คิดสิ่งที่ต้องการหลีกเลี่ยงแทน เมื่อคุณคิดแบบนี้ก็คือกำลังคิดเรื่องที่ต้องการนั่นเอง”
แนวคิดนี้ใช้กับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันของเราได้ทุกอย่าง
2
เช่นแทนที่จะมองหาความสำเร็จ ให้คิดถึงวิธีที่จะล้มเหลวแทน เช่น ความขี้เกียจ ความริษยา ความแค้น การสมเพชตัวเอง ให้หลีกเลี่ยงเรื่องเหล่านี้ แล้วคุณจะประสบความสำเร็จ
ถ้าคุณมีเป้าหมายจะไปยิมเพื่อออกกำลังกาย 5 วันในสัปดาห์นี้ อย่าเพิ่งคิดว่าจะไปได้หรือไม่ ให้ลองคิดกลับด้านว่ามันมีอะไรบ้างที่จะขัดขวางไม่ให้คุณไปยิม คิดออกมาทีละข้อแล้วหลีกเลี่ยงมัน
ถ้าคุณกลัวว่าจะนำเสนองานได้ไม่ดีพอ ให้ลองคิดกลับด้านหาวิธีที่จะทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการนำเสนอดู เช่น ข้อมูลไม่เพียงพอ กราฟไม่ชัดเจน เมื่อได้แล้วให้หลีกเลี่ยงและแก้ไขมัน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ การลงทุน ความเป็นผู้นำ ลองนำแนวคิดของชาร์ลี มังเกอร์ ไปปรับใช้ดูนะครับ
เครดิตภาพ: Nick
โฆษณา