25 มิ.ย. 2022 เวลา 07:20 • ประวัติศาสตร์
“ผ้าซิ่นต๋า” ในวัฒนธรรมสิ่งทอของชาวไทยวน
ในอดีตนั้นชาวไทยวนที่อาศัยอยู่ในทุกพื้นที่นิยมทอและใช้สอย "ผ้าซิ่นต๋า" ทั้งในชีวิตประจำวัน และในโอกาสพิเศษ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์
ภาพแม่อุ้ยชาวแม่แจ่ม (บ้านยางหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่) นุ่งผ้าซิ่นต๋าไทยวน
“ผ้าซิ่นต๋า” (เรียกตามภาษาพื้นเมืองเหนือว่า “ซิ่นต๋า”) มีโครงสร้างผ้าซิ่นที่ประกอบไปด้วย 3 ส่วนคือ ส่วนหัวผ้าซิ่น ส่วนตัวผ้าซิ่น และส่วนตีนผ้าซิ่น (ซึ่งเป็นโครงสร้างส่วนประกอบตามจารีตของการทอผ้าซิ่นไทยวนทั่วไป) ซึ่งทอแยกส่วนกัน
รูปภาพแสดงโครงสร้างผ้าซิ่นต๋าไทยวน (ต๋าไหมแบบโบราณ) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
"หัวผ้าซิ่น" เป็นผ้าฝ้ายพื้นเนื้อละเอียด ไม่มีลวดลาย โดยอาจจะเป็นผ้าหนึ่งผืน ซึ่งเป็นผ้าฝ้ายพื้นไม่มีลวดลาย สีแดง หรือสีดำ หรือสีน้ำเงินเข้ม (เกือบดำ) หรือสีขาว หรือสีน้ำตาล ก็ได้
หรืออาจต่อหัวผ้าซิ่นด้วยผ้าสองผืน ซึ่งเป็นผ้าฝ้ายพื้น ไม่มีลวดลายสีแดง-ขาว หรือสีดำ-ขาว หรือสีน้ำเงินเข้ม(เกือบดำ)-ขาว หรือสีน้ำตาล-ขาวก็ได้ (โดยมาก ส่วนของผ้าสีขาวจะอยู่ในตำแหน่งบนสุดของโครงสร้างส่วนหัวผ้าซิ่น) หัวผ้าซิ่นจะมีขนาดตามอัตราส่วน 1ใน 3 ของตัวผ้าซิ่น
"ตัวผ้าซิ่น" ทอขัดธรรมดา เป็นลวดลายเส้นตรงสลับสี ที่เกิดจากการสลับสีเส้นยืน ในขั้นตอนการจัดเตรียมเส้นยืน (การค้นเส้นยืน หรือการค้นเครือ) โดยได้จัดวางลวดลายเป็นกลุ่มๆ ตามแนวขวางลำตัว (เมื่อเย็บเป็นถุง) ให้ตำแหน่งของกลุ่มลายขวางนั้นจัดเรียงเป็นกลุ่มเท่ากัน สม่ำเสมอ ซึ่งลวดลายที่เกิดขึ้นนั้น มีหลากหลายลวดลาย แตกต่างกันไป
เช่น หากมีการจัดวางลวดลายขวางลำตัวให้เหลือ ”พื้น” หรือ ”ท้องผ้า” ไว้มาก โดยสามารถมองเห็นเป็นแถบใหญ่ มักเรียก "ต๋าโตน" (ต๋าโต) (อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่)
หรือหากมีลวดลายเป็นเส้นตรงสามเส้นอยู่ในกลุ่มเดียวกัน มักเรียก "ต๋าสามแลว" (อ.แม่แจ่ม-อ.ฮอด-อ.ดอยเต่า-อ.จอมทอง ฯลฯ จ.เชียงใหม่)
ลาย "ต๋าสามแลว" บนพื้นปั่นไก ในตัวซิ่นตีนจก อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
หากมีการใช้สีของเส้นตรงขวางลำตัวนั้นหลากหลายสีภายในกลุ่มลายเดียวกันมักจะเรียก "ต๋าแหล้ม"
ลาย "ต๋าแหล้ม" บนซิ่นตาไทยวน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
หรือหากมีการเพิ่มเส้นปั่นไก ที่เกิดจากเทคนิคปั่นไก (ควบเส้น หรือหางกระรอก) ในกลุ่มลาย ขนาบบน-ล่าง จะเรียก "ต๋าแอ้ม" (อ.แม่แจ่ม-อ.ฮอด-อ.ดอยเต่า-อ.จอมทอง ฯลฯ จ.เชียงใหม่) หรือ "ต๋าหมู่" (จ.ลำปาง-อ.ลอง จ.แพร่)
ลาย "ต๋าแอ้ม" หรือ "ต๋าหมู่" บนซิ่นตาไทยวน อำเภอลอง จังหวัดแพร่
หรือหากกลุ่มลายขวางนั้นเน้นทอโดยสอดเส้นไก (ปั่นไก, ควบเส้น,หางกระรอก) เข้าไป จะเรียก "ต๋าไก" (จ.ลำปาง-อ.ลอง จ.แพร่) ฯลฯ
ทั้งนี้พออนุมานได้ว่า คำว่า "ต๋า" น่าจะหมายถึง "ลาย" ในความหมายของ "ลายขวาง" (เป็นต๋าๆ เช่นเดียวกับ คำว่า "ดอก" "ดอกๆ" ที่หมายถึง "ลาย") และยังพบว่ามีการเรียกลาย "ก่าน" (ไทยวนบางพื้นที่ในภาคเหนือ และไทลื้อ บ้านแม่สาบ) หรือเรียกว่า "ป้อง" (จ.น่าน) (ผ้าซิ่นป้องเมืองน่าน มีลวดลายต๋าหมู่เป็นลวดลายหลัก) ที่ให้ความหมายในลักษณะเดียวกันกับ คำว่า ลาย "ต๋า"
กรรมวิธีการสลับสีเส้นยืนเพื่อให้เกิดลวดลายขวางนี้ (ในขั้นตอนการเตรียมเส้นยืน หรือค้นเครือ) มีความสอดคล้องกับการทอผ้าซิ่นในกลุ่มชนเผ่าบนพื้นที่สูงหลายชนเผ่า โดยเฉพาะชนเผ่าลัวะ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าน่าจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันกับการทอผ้าซิ่นต๋าของชาวไทยวน เนื่องด้วยชาวลัวะเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อนการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวไทยวน (พื้นที่ จ.เชียงใหม่)
ซิ่นลัวะโบราณ บ้านเฮาะ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
อีกทั้งพบว่า ผ้าซิ่นกลุ่มเชียงแสนดั้งเดิมที่เชื่อว่าเป็นผ้าซิ่นโบราณของชาวไทยวน (ก่อนการอพยพมาอยู่ในพื้นที่ลัวะ (จ.เชียงใหม่)) ไม่นิยมตกแต่งลวดลายทางเส้นยืนมากนัก แต่มักจะตกแต่งลวดลายตามหน้าผ้าทางเส้นพุ่ง (ทั้งเส้นพุ่งปกติ (มัดหมี่, มัดก่าน, ยก, เกาะล้วง) และเส้นพุ่งพิเศษ (ยกมุก-ขิด, จก, ยก) และมีลวดลายเต็มผืน
เช่นผ้าซิ่นกลุ่มไทยวนราชบุรี ตระกูลหนองโพ-บางกะโด (ต.หนองโพ-บางกะโด อ.โพธาราม จ.ราชบุรี) ผ้าซิ่นตีนจกเชียงแสนไหล่น่าน (อ.เวียงสา จ.น่าน) ผ้าซิ่นตีนจกเชียงแสนแม่แจ่ม (อ. แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่) ผ้าซิ่นตีนจกเชียงแสนลำปาง (จ. ลำปาง) เป็นต้น (หากมีเวลาและมีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังอย่างละเอียดนะครับ)
"ตีนผ้าซิ่น" นิยมใช้ผ้าฝ้ายพื้น ไม่มีลวดลาย สีดำ หรือสีน้ำตาลเข้ม หรือสีแดงเข้ม หรือสีน้ำเงินเข้ม (เกือบดำ) ซึ่งทอขัดธรรมดาด้วยเส้นฝ้ายเนื้อละเอียด มีขนาดตามอัตราส่วน 2ใน 3 ของตัวผ้าซิ่น
ผ้าซิ่นต๋านั้นเดิมทีพบว่ามีการใช้สอยทั้งในกลุ่มชาวบ้าน แม่ค้า และกลุ่มเจ้านาย คหบดี ครอบครัวข้าราชการ โดยการใช้สอยในแต่ละกลุ่มนั้นไม่ได้แบ่งแยกทางด้านรูปแบบโครงสร้าง ลวดลาย สีสันของผืนผ้า หากแต่มี "ความแตกต่าง" กันในการใช้วัสดุตามแต่ความสามารถในการซื้อหาของแต่ละบุคคล
ภาพเจ้านาย? หรือคหบดี นุ่งผ้าซิ่นต๋า (ต๋าไหม)
ซึ่งชาวบ้านธรรมดาสามัญชนมักจะนิยมทอผ้าซิ่นต๋าด้วยเส้นฝ้ายที่หาได้ในท้องถิ่น หรือซื้อหา แลกเปลี่ยนมาในราคาถูก ส่วนเจ้านาย คหบดี นิยมนุ่งผ้าซิ่นต๋าไหมที่ทอมากจากเส้นไหม (ทั้งในท้องถิ่น และนำเข้า) ซึ่งมีราคาแพงกว่าเส้นฝ้าย ให้เนื้อสัมผัส และรายละเอียดอื่นๆ ที่ดีกว่าเส้นฝ้ายอีกด้วย
ภาพสตรีนุ่งซิ่นต๋า (ซิ่ตา) ในจิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครกหลวง จังหวัดเชียงใหม่
นอกจากนี้แล้วยังพบว่า ใน "ผ้าซิ่นตีนจก" ของชาวไทยวน นิยมต่อ "ตัวต๋า" ในลักษณะข้างต้นบริเวณตำแหน่งตัวผ้าซิ่น (หากแต่ผ้าซิ่นตีนจกจะมีความแตกต่างจากผ้าซิ่นต๋า คือ ส่วนตีนผ้าซิ่นจะต่อตีนจก ที่ใช้เทคนิคการจกลวดลาย จึงเรียก "ซิ่นตีนจก")
เป็นศรีเวียงน่าน 17 ก.ค. 62
ข้อมูล (ทั้งหมด) : อรรถพงษ์ ประดิษฐพงษ์
รูปภาพ : เป็นศรีเวียงน่าน
สามารถแชร์ข้อมูลและรูปภาพได้
แต่ขอสงวนสิทธิ์ในการคัดลอกข้อมูล และรูปภาพเพื่อไปใช้ในงานส่วนตัว ก่อนการได้รับอนุญาตทุกกรณีครับ เว้นแต่จะได้รับการอ้างอิงในทุกส่วนของเนื้อหา
อ้างถึงสิทธิในลิขสิทธิ์เกิดขึ้นทันที นับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาโดยไม่ต้องจดทะเบียน หรือผ่านพิธีการใดๆ
โฆษณา