3 ก.ค. 2022 เวลา 05:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ส่องความแตกต่าง หนัง “รีเมค-รีบูต-ภาคต่อ” ทริคโกยเงิน ค่าย “ฮอลลีวูด”
ค้นหาความหมายของ “รีเมค” “รีบูต” “ภาคต่อ” “ภาคต้น” เทคนิคของค่ายภาพยนตร์ที่พบบ่อยในวงการ “ฮอลลีวูด” ว่าแตกต่างกันอย่างไร และแต่ละประเภทมีภาพยนตร์เรื่องไหนบ้าง หลังสตูดิโอหลายรายหันมาใช้กลยุทธ์เหล่านี้ในการโกยรายได้มหาศาล
ส่องความแตกต่าง หนัง “รีเมค-รีบูต-ภาคต่อ” ทริคโกยเงิน ค่าย “ฮอลลีวูด”
ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา วงการ “ฮอลลีวูด” อุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มักจะนำภาพยนตร์หรือเรื่องราวที่เคยได้รับความนิยมในอดีตกลับมาสร้างใหม่ เห็นได้จากภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดทั่วโลกประจำปีนี้ อันดับ 5 แรก (ข้อมูลวันที่ 23 มิ.ย. 2565) ล้วนเป็นภาพยนตร์ที่เคยถูกสร้างมาก่อนแล้วทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็น อันดับ 1 อย่าง “Doctor Strange in the Multiverse of Madness” ภาคต่อของ Doctor Strange ตามมาด้วยอันดับ 2 อย่าง “Top Gun: Maverick” ขณะที่อันดับ 3 เป็นของภาพยนตร์อัศวินรัตติกาลอย่าง “The Batman” ส่วนอันดับที่ 4 เป็นของภาพยนตร์ไดโนเสาร์ “Jurassic World: Dominion” อันดับ 5 เป็น ภาพยนตร์จีนเรื่อง “Water Gate Bridge”
นี่จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าการนำภาพยนตร์เก่ากลับมาทำใหม่นั้นก็สามารถสร้างกำไรให้แก่สตูดิโอภาพยนตร์ได้ เนื่องจากได้ฐานผู้ชมที่เคยชื่นชอบในเวอร์ชันเก่า รวมถึงยังสามารถดึงดูดกลุ่มผู้ชมกลุ่มใหม่ ๆ ได้อีกด้วย
ในทุก ๆ ปี มักจะได้ยินชื่อเรียกประเภทเหล่าภาพยนตร์ที่ถูกกลับมาทำใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างใหม่เลย หรือเป็นภาพยนตร์ภาคต่อหรือแม้กระทั่งเรื่องราวก่อนภาพยนตร์ฉบับเดิม ในชื่อของ “รีเมค” (Remake) “รีบูต” (Reboot) “ภาคต่อ” (Sequel) “ภาคต้น” (Prequel) ซึ่งแต่ละคำนั้นมีความไม่เหมือนกัน แต่ก็มีความใกล้เคียงกัน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จึงอยากชวนผู้อ่านมารู้จักความหมายของแต่ละคำ
🎬รีเมค (Remake)
วงการฮอลลีวูด เริ่มใช้การ "รีเมค" หรือการนำภาพยนตร์เก่ามาสร้างใหม่ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 โดยวิธีนี้จะยึดโครงเรื่องของเวอร์ชันเดิมเอาไว้ เล่าเรื่องเหมือนกับต้นฉบับทั้งหมด หรือดัดแปลงเสริมเติมเรื่องย่อยเข้าไปด้วยก็ได้ ขึ้นอยู่กับสตูดิโอผู้สร้าง
ในปัจจุบัน ผลงานรีเมคที่สร้างผลกำไรและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในหมู่ผู้ชม คือภาพยนตร์ฉบับคนแสดง (Live Action) ที่รีเมคมาจาก ภาพยนตร์แอนิเมชันขึ้นหิ้งของดิสนีย์ ไม่ว่าจะเป็น Beauty and the Beast (2560), The Lion King (2562) และ Aladdin (2562) เป็นต้น
🎬รีบูต (Reboot)
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีคำใหม่ที่ใช้เรียกภาพยนตร์เวอร์ชันใหม่ว่า “รีบูต” จนหลายคนเข้าใจว่าคำนี้มีความหมายเดียวกันกับ รีเมค แต่ความจริงแล้ว 2 คำนี้มีความแตกต่างกันอยู่ โดยรีบูตหมายถึงภาพยนตร์เวอร์ชันใหม่ที่มีความแตกต่างจากภาพยนตร์เวอร์ชันเก่าอย่างสิ้นเชิง หรือเป็นการรีเซ็ตใหม่นั่นเอง
นอกจากนี้ การรีบูตมักใช้ภาพยนตร์ชุดหรือภาพยนตร์ที่มีแฟรนไชส์มากกว่าภาพยนตร์เพียงเรื่องเดียว ซึ่งภาพยนตร์ฉบับใหม่นี้จะมักไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเวอร์ชันต้นฉบับเลย แม้ว่าองค์ประกอบบางอย่าง เช่น โครงเรื่อง ตัวละคร สถานที่ อาจจะอิงกับเวอร์ชันเก่าบ้าง แต่ก็แทบไม่มีความเกี่ยวข้องกับเวอร์ชันต้นฉบับเลยแม้แต่น้อย
🎬ภาคต่อ (Sequel)
คำนิยามที่เข้าใจได้ง่ายที่สุดของ “ภาคต่อ” (Sequel) คือ ภาพยนตร์ที่ดำเนินเรื่องราวต่อจากภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้า และรับรู้ได้ว่าเนื้อเรื่องในภาพยนตร์เรื่องก่อนได้เกิดขึ้นจริง โดยมักจะได้นักแสดงชุดเดิมมารับบทเดิม
🎬ภาคต้น (Prequel)
“ภาคต้น” (Prequel) เป็นภาพยนตร์ที่สร้างที่หลังจากภาพยนตร์ภาคแรก แต่กลับไปย้อนเล่าเรื่องราวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าภาพยนตร์เรื่องแรก โดยภาพยนตร์ภาคต้นนี้ยังคงมีตัวละครหลักเป็นตัวละครเดิม เช่นเดียวกับในภาพยนตร์ต้นฉบับและภาพยนตร์ภาคต่อ
อย่างไรก็ตาม การใช้คำนิยามเหล่านี้กับภาพยนตร์แต่ละเรื่องเริ่มเป็นเรื่องที่ยากขึ้น อย่างเช่น “Halloween” (2561) ภาพยนตร์สยองขวัญที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างภาคต่อและรีบูตเลือนหายไป เนื่องจากตัวละครในภาคนี้รับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ภาคแรกที่เข้าฉายในปี 2521 แต่ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ภาคต่อ ๆ มา จนทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกเรียกว่า "Rebootquel" ที่เป็นการรวมคำระหว่าง reboot และ sequel
ดังนั้น ไม่ว่าภาพยนตร์แต่ละเรื่องจะถูกนิยามว่าเป็นภาพยนตร์แนวใดก็ตาม คงไม่สำคัญเท่าภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ สามารถมอบความสนุก ความคุ้มค่าให้กับผู้ชมได้เท่ากับภาพยนตร์ต้นฉบับ หรือ ภาพยนตร์ภาคก่อนได้หรือไม่ มิฉะนั้น ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวก็ไม่ถือว่าประสบความสำเร็จ และอาจทำลายความดีงามของแฟรนไชส์ต้นฉบับอีกด้วย
โฆษณา