1 ก.ค. 2022 เวลา 10:00 • ท่องเที่ยว
วัดเขายี่สาร ตำนานพระกินเด็ก
"ภัตตาหารมื้อโหด เพื่อประโยชน์ของลูกหลาน"
จั่วหัวมาแบบนี้ คนอ่านคงจะคิดว่าลัดเลาะจะผันตัวเองจาก page ท่องเที่ยวมาเป็นเรื่องลี้ลับใช่มั๊ยล่ะ แต่ไม่ใช่หรอกครับยังเป็น page เน้นการท่องเที่ยวเหมือนเดิม แค่เกริ่นให้มันดูตื่นเต้นเฉยๆ
การเป็นสังคมพหุศาสนา ทำให้มีเรื่องเล่าเชิงพุทธ พราหมณ์ ผี ผสมปนเปกันอยู่แทบทุกพื้นที่ แต่ความน่าสนใจของเรื่องราวเหล่านี้ อยู่ที่จุดประสงค์ที่แท้จริงของตำนาน ว่าผู้เล่าต้องการอะไรกันแน่
พระกินเด็กวัดเขายี่สาร
วันนี้ลัดเลาะพามาเที่ยวกันที่วัดเขายี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ถึงแม้จะอยู่อำเภออัมพวา แต่ที่นี่ก็ห่างไกลจากตลาดน้ำอัมพวาที่เรารู้จักมาก และอยู่กันคนละฟากฝั่งของถนนพระราม2
เขายี่สารเป็นเขาลูกเล็กๆ และดูเหมือนจะเป็นเขาแห่งเดียวของจังหวัดสมุทรสงคราม การเดินทางมาก็ไม่ยากเย็น จากถนนพระราม2 ข้ามแม่น้ำแม่กลองแล้วเลี้ยวมาทางคลองโคน
ขับตามทางไปเรื่อยๆ ประมาณ 10นาที จะเจอป้ายบอกทางสีฟ้าๆ เรียงเป็นตับ
ภาพจาก google street view
อ่านไม่ทันไม่เป็นไร ป้ายวัดเขายี่สารอยู่แถบล่างสุดและเป็นป้ายเดียวที่ให้เลี้ยวขวา เราก็ไปตามลูกศรบอก แค่อึดใจเดียวก็ถึง
ผมลองแวะมาเที่ยวชมวัดนี้เพียงเพราะเป็นทางผ่านฆ่าเวลา แต่กลับพบว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย
ลองค้นประวัติดู วัดนี้คาดว่าน่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในด้านความเก่าแก่จึงมีมานานพอสมควร ซึ่งจะมีให้เห็นตั้งแต่บันไดทางขึ้นวัด
วัดเขายี่สาร
เขาลูกนี้ไม่สูงมาก เดินขึ้นมาได้นิดเดียวก็จะพบกับจุดน่าสนใจจุดแรก เป็นถ้ำเล็กๆ ขวามือของทางเดิน ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์
พระพุทธรูปปางไสยาสน์ 9 นิ้ววัดเขายี่สาร
พระพุทธรูปองค์นี้ มีความแปลกตรงที่นิ้วพระบาทมี 9 นิ้ว ในมุมหนึ่งอาจมองว่าเป็นความผิดพลาดของช่างปั้น
พระพุทธรูปปางไสยาสน์ 9 นิ้ววัดเขายี่สาร
แต่เรื่องบังเอิญที่ทำให้เกิดความสงสัย นั้นคือความสอดคล้องกับพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่วัดใหญ่สุวรรณารามซึ่งมีนิ้วพระบาทขวา 6 นิ้ว เหมือนเป็นที่มาที่ไปของนิ้วที่หาย
ทั้งนี้อาจเป็นความจงใจของช่างหรือเรื่องบังเอิญ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัด จึงต้องปล่อยให้เป็นปริศนาต่อไป
จากตรงนี้เดินขึ้นไปอีกนิดหน่อย ก็จะพบพระอุโบสถหลังหนึ่ง ที่มีศิลปะผสมผสานวัฒนธรรมจีนอย่างเห็นได้ชัด
พระอุโบสถวัดเขายี่สาร
ที่ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย โดยมีไฮไลท์อยู่ที่ภาพเขียนโบราณที่มีลายเส้นแบบจีน เป็นรูปเทพเจ้าในอิริยาบถต่างๆ ชี้ให้เห็นว่ามีพี่น้องชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยอดีตกาล
ศิลปะภายในพระอุโบสถวัดเขายี่สาร
จากพระอุโบสถ เดินต่ออีกหน่อยขึ้นไปบนยอดเขา จะเป็นที่ตั้งของวิหารที่ด้านหน้าเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องยืน ปางห้ามสมุทร
วัดเขายี่สาร
คือเป็นลักษณะยืนตรง หันฝ่ามือสองข้างออกทางด้านหน้าเสมอกับพระอุระหรือหน้าอก
เนื่องจากวัดนี้อยู่บริเวณใกล้กับทะเล นัยยะของปางห้ามสมุทรก็คงจะตรงไปตรงมาตามชื่อที่เรียก
พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรวัดเขายี่สาร
เดินเข้ามาด้านในเป็นที่ประดิษฐานของรอยพระพุทธบาทสี่รอย
คำว่าสี่รอย ไม่ได้หมายถึงพระพุทธบาทเรียงกันสี่รอย หากแต่ซ้อนกันเป็นเลเยอร์ที่มีการลดหลั่นกันตามขนาดเล็กใหญ่ ดูแล้วสวยงามแปลกตา
รอยพระพุทธบาทสี่รอยวัดเขายี่สาร
และนอกจากรอยพระพุทธบาท ภายในวิหารแห่งนี้ยังประดิษฐานหลวงพ่อปากแดง พระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่ร่ำลือกันว่าเป็นพระพุทธรูปกินเด็กหรือกินคน
พระพุทธรูปปากแดงวัดเขายี่สาร
โดยตำนานเล่าไว้ว่า
มีเด็กคนหนึ่งมาเล่นบริเวณวิหารแล้วก็หายตัวไป ชาวบ้านออกตามหาแต่ก็ไม่พบตัวเด็ก แต่กลับเจอว่าบริเวณองค์พระมีเศษเสื้อผ้าและคราบเลือดติดอยู่ที่ปากและหน้าอก จึงสันนิษฐานว่าพระองค์นี้ได้กินเด็กเข้าไป
นั่นก็เป็นเพียงตำนานและเรื่องเล่าขาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว น่าจะด้วยเหตุผลที่ว่า วิหารดังกล่าวมีความเก่าแก่และทรุดโทรม อีกทั้งบริเวณเขาแห่งนี้ยังมีงูทุกชุม
เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเด็กๆในหมู่บ้าน จึงออกเป็นอุบายเพื่อให้เกิดความกลัว ไม่กล้ามาเล่นบริเวณวิหารแห่งนี้นั่นเอง
ภายในวิหารวัดเขายี่สาร
เวลาเราไปสถานที่ต่างๆในเมืองไทย ก็มักจะพบเจอเรื่องเล่าในลักษณะแบบนี้เป็นประจำ สำหรับคนชอบเรื่องลี้ลับอาจฟังดูตื่นเต้นน่ากลัวขนหัวลุก
แต่หากเจาะลึกลงไปถึงจุดประสงค์ที่แท้จริง ก็จะพบเจอเจตนาอันแสนดีและอ่อนโยนซ่อนอยู่เสมอ...
ที่วัดนี้ยังมีจุดสนใจอีกเยอะแยะ ที่ผมไม่ได้โฟกัสลงไป เช่นบริเวณด้านหน้าลานจอดรถ เป็นที่ตั้งของศาลพ่อปู่ศรีราชา อันเป็นที่เคารพของชาวบ้าน ให้เราได้มาสักการะบูชาและขอพร
ศาลพ่อปู่ศรีราชา
ส่วนบริเวณเชิงเขาไม่ไกลกัน ก็คือพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร ซึ่งจัดแสดงวัตถุโบราณ และวิถีการใช้ชีวิตของชาวบ้านในอดีตไว้อย่างน่าสนใจ
พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร
จากเพียงสะดุดตาป้ายชื่อวัดเขายี่สาร และหวังจะใช้เป็นที่ฆ่าเวลาก่อนไปทานอาหารเย็นที่หาดเจ้าสำราญ
แต่ผมกลับใช้เวลาในวัดนี้เป็นชั่วโมง ในการชื่นชมศิลปะและทำความรู้จักกับประวัติอันยาวนานที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
ทำให้ถนนสายคลองโคน-บ้านแหลม เป็นหนึ่งในเส้นทางโปรดของผม ที่จะผ่านไปยังหัวหินหรือภาคใต้ของไทย
แต่ของดีบนถนนสายนี้ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้หรอกนะครับ ไว้ผ่านไปอีกคราวหน้า ลัดเลาะก็จะมาเขียนเล่าให้ฟัง ในโอกาสต่อไป
เชิญแวะโดย โจน ทะยาน ตะลุย (ลักเลาะ)
#วัดเขายี่สาร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา