26 มิ.ย. 2022 เวลา 23:39 • ปรัชญา
ความยั่งยืน (Sustainability) กับ ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ร่วมทางด้วยกันได้อย่างไร
Cr. iStock by Getty Images, Photo by holwichaikawee
เราคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน หลายคนอาจสงสัยว่าการที่เรามุ่งมั่นสู่ความยั่งยืน (Sustainability) นั้น ไม่ว่าเกี่ยวกับเรื่ององค์กรก็ดี ชีวิตครอบครัวก็ดี หรือความสัมพันธ์ใด ๆ ก็ดี มันจะยั่งยืนได้อย่างไร ในเมื่อสัจธรรมจากพระพุทธศาสนาได้กล่าวความไม่แน่นอน หรืออนิจจัง ว่ามีเกิดขึ้น มีตั้งอยู่ ก็มีดับไป เป็นธรรมดา
วันนี้ถือเป็นวันครบรอบ 1 ปี ของการเปิดเพจ Future Perfect แห่งนี้ จึงขอชวนทุกท่านกลับไปคิดทบทวนปรัชญาพื้นฐานกันอีกครั้ง เพื่อให้ทุกท่านที่สนใจเรื่องการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือต้องการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น ได้มีมุมคิดที่จะไปจุดประกายต่อไป
Cr. iStock by Getty Images, Photo by patpitchaya
ความยั่งยืน (Sustainability) แท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาให้เกิดขึ้นในทุก ๆ ด้าน ทั้งเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว เรื่องครอบครัว ฯลฯ
เราอยากจะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงแบบยั่งยืนไปเรื่อย ๆ มีความสัมพันธ์กับครอบครัวที่ราบรื่นไปเรื่อย ๆ อยากทำงานอยู่ในองค์กรหรือมีธุรกิจของตนเองที่หล่อเลี้ยงชีวิตเราอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ โดยไม่ล่มสลายไปเสียก่อน
ฟังดูแล้วเหมือนเราอยากได้ อยากยึดถือ "ความแน่นอน" ที่มีอยู่ ที่เป็นอยู่นั้นไว้ ไม่ให้เปลี่ยนแปลง
แต่ในความเป็นจริงแล้ว สวนทางกับสัจธรรมที่เราเคยทราบ และความแน่นอนที่แท้จริง ก็คือความไม่แน่นอนนั่นเอง
ดังนั้น กรอบความคิดหรือ Mindset ของเราต้องเปลี่ยนใหม่ว่า ความยั่งยืนที่แท้จริง ไม่ใช่การยึดถือกับความแน่นอน แต่เป็นการปรับเปลี่ยน (Adaptation) ให้ได้ตามความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในทุกช่วงเวลานั่นเอง และความยั่งยืนนั้นก็จะไม่เกิดขึ้นชั่วนิจนิรันดร์
แมลงสาบ เราไม่รู้ว่าในอนาคตมันจะสูญพันธุ์ได้หรือไม่อย่างไร แต่ที่แน่ ๆ เรารู้ว่ามันมีเผ่าพันธุ์ที่ยั่งยืนมากกว่า ไดโนเสาร์ หรือสัตว์อีกหลาย ๆ ประเภทที่สูญพันธุ์ไปแล้ว
ชีวิตคู่หรือชีวิตสมรสก็ดี หลายคนคงปรารถนาให้ได้มีรักนิรันดร์ หรืออย่างน้อยก็ขอให้มีความรัก ความสัมพันธ์ที่ราบรื่นไปตลอดรอดฝั่ง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า คนเราเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ทั้งสภาพร่างกาย ความคิดอ่าน มุมมอง วิถีชีวิต ความกังวลในแต่ละข่วงวัย ถ้าไม่มีการปรับตัวเข้าหากัน มันจะเกิดช่องว่าง (Gap) มากขึ้นเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งก็ไม่สามารถไปต่อได้ หรือยั่งยืนอย่างที่ฝันไว้
องค์กรที่ยั่งยืนก็เช่นกัน ไม่ได้หมายความว่าองค์กรนั้นจะต้องทำธุรกิจเดิม ๆ ไปตลอดชั่วลูกชั่วหลาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป จะสามารถปรับตัว เปลี่ยนธุรกิจตัวเองไปเป็นธุรกิจใหม่ที่สอดคล้องกับบริบททางสังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ได้อย่างคล่องตัว รวดเร็ว และไม่รู้จบ
นี่ล่ะครับที่เรียกว่าตายแล้วเกิดใหม่ได้อยู่เรื่อย ๆ ในบริบทที่เปลี่ยนไป เหมือนกับนกฟีนิกซ์ในตำนานที่เป็นอมตะ สามารถเกิดใหม่ได้เสมอ นี่คือความแน่นอนที่อยู่บนความไม่แน่นอนนั่นเอง
อีกสิ่งหนึ่งทีหลายคนอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความยั่งยืนขององค์กร โดยคิดว่าเป็นเรื่องขององค์กรขนาดใหญ่ ไม่ค่อยเกี่ยวกับบริษัทเล็ก ๆ SME สตาร์ทอัพ หรือองค์กรเกิดใหม่เท่าใดนัก ณ จุดนี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ถ้าเราสร้างธุรกิจใด ๆ ขึ้นมาแล้ว เราคงไม่ต้องการให้มันล่มสลายภายในไม่กี่ปี จริงไหมครับ
Cr. iStock by Getty Images, Photo by arthon meekodong
นอกจากนั้น หากนึกถึงความยั่งยืนในธุรกิจ ก็มักจะมีภาพจำไปถึงเรื่องโครงการ CSR หรือโครงการเพื่อสังคม ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กิจกรรมปลูกป่า การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม การให้ทุนการศึกษาเด็กยากไร้ ฯลฯ
ตรงนั้นมันแค่เปลือก แต่ยังไม่ใช่แก่นของความยั่งยืน ที่เป็นการปรับตัวให้สามารถรับมือ้กับความเปลี่ยนแปลงได้ต่างหาก
แต่เพียงแค่การปรับตัวนั้น ยังไม่พอ การจะนำพาความยั่งยืนให้เกิดขึ้น ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม เราจะต้องเดินทางสายกลายเสมอ (ลองนึกถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงประกอบด้วยครับ)
ในเรื่องส่วนตัว เรื่องครอบครัว ถ้าเราต้องการให้ความสัมพันธ์ใด ๆ มีความยั่งยืน เราจะต้องคำนึงถึงคนที่อยู่รอบ ๆ ในความสัมพันธ์เหล่านั้นเสมอ เราจะต้องเป็นทั้งผู้ให้ (Giver) และผู้รับ (Taker) ไปพร้อม ๆ กัน
ถ้าเรามัวแต่จะเป็นผู้รับอย่างเดียว เวลาผ่านไป คนใกล้ตัวก็จะหนีหายไปจากเรา ไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย แต่ในทางกลับกัน ถ้าเรามัวแต่เป็นผู้ให้อย่างเดียว (และเบียดเบียนตัวเองเกินไป) โดยไม่มีอะไรตอบแทนกลับมาเลย ก็จะบั่นทอนกำลังกายและใจของตัวเองไปเรื่อยจนหมดกำลังในที่สุดเช่นกัน จะยั่งยืนได้นั้น ต้อง Balance ให้ได้ทั้งสองทาง
ฉันใดก็ฉันนั้น การบริหารองค์กรธุรกิจก็ไม่ต่างกัน ย่อมต้องการทางสายกลางเช่นนี้ด้วย เพื่อนำพาไปสู่ความยั่งยืน
การบริหารความยั่งยืนองค์กร ไม่ใช่ภาระที่เพิ่มขึ้น และต้องคอยประนีประนอมกับสมรรถนะทางธุรกิจ หรือต้องยอมลดผลประกอบการของบริษัท โดยเฉพาะผลกำไรสุทธิที่เป็นตัวเงิน
จริงอยู่ว่าในช่วงเริ่มต้น อาจมีต้นทุนที่สูงกว่าปกติ และอาจส่งผลถึงผลกำไรของบริษัท ที่ไม่ได้รับสูงสุดอย่างที่ควรจะเป็น (ในระยะสั้น) แต่ที่จริงไปกว่านั้น การบริหารความยั่งยืนองค์กร มันคือการลงทุน การลงทุนมีความเสี่ยง แต่ถ้าลงทุนอย่างฉลาด ก็จะได้ผลตอบแทนที่เกินคาดเช่นกัน
การลงทุนด้านความยั่งยืนนั้น ไม่ว่าในมิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม หรือการกำกับดูแลก็ตาม (ตามแนวคิด ESG) มันเป็นถือเป็นการลงทุนเพื่อให้เกิดคุณค่าที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด และสมดุลที่สุด (Value Optimization)
Cr. iStock by Getty Images
คุณค่าที่แท้จริง (True Value) นั้น เกิดขึ้นกับใครบ้าง แน่นอนว่าต้องมีทั้งองค์กรของท่านเองเป็นสำคัญ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรทุกกลุ่ม
ถ้าเราสามารถสร้างคุณค่าที่แท้จริงให้เกิดขึ้นได้อย่างสมดุล ตามแนวคิดทางสายกลาง รวมถึงสามารถปรับตัวให้ตอบรับกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นได้ในทุกช่วงเวลานั้น นั่นแหละครับคือหนทางสู่การสร้างองค์กรที่ยั่งยืน
ในยุคปัจจุบันนี้ องค์กรสมัยใหม่ หรือองค์กรที่มีแนวคิดด้านความยั่งยืนนั้น จะมีคำถามนำอยู่เสมอว่า องค์กรจะตั้งอยู่เพื่อสร้างประโยชน์อะไรให้กับคนอื่นรอบตัวได้บ้าง (เรียกได้ว่ามีเจตนารมณ์ หรือ Purpose) ก่อนที่จะมาคิดว่าองค์กรจะทำอะไรเพื่อให้เงินเข้ากระเป๋าองค์กรมากที่สุด
เหมือนกับเราถามตัวเองว่า เราเกิดมาเพื่ออะไร หรือเกิดมาทำไม จะทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อโลกได้อย่างไร นั่นล่ะครับ
Future Perfect ขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างยิ่งที่ได้ติดตามบทความของเพจนี้ ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยเจตนารมณ์ของเพจนี้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
จากองค์ความรู้และประสบการณ์ในด้านที่ Future Perfect หรือผู้เขียนเอง มีอยู่นั้น ต้องการเปิดมุมคิดใหม่ ๆ ให้กับผู้อ่านที่สนใจทุกท่าน พร้อมทั้งสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาแนวคิดเชิงนวัตกรรม (Innovative Idea) มาเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนอย่างที่เราจะกำหนดได้เองร่วมกัน
โดย Future Perfect เองยินดีอย่างยิ่งที่จะได้เรียนรู้จากผู้อ่านทุกท่านด้วยเช่นกัน ที่จะเข้ามาแชร์ ให้ความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ แบ่งปันองค์ความรู้ และประสบการณ์ร่วมกัน
เพราะอนาคตอันยั่งยืนที่จะกำหนดเองได้นั้น ไม่สามารถทำได้ลำพังโดยคน ๆ เดียว
ในปีที่ผ่านมา ข้อมูล องค์ความรู้ เกร็ดต่าง ๆ ที่น่าสนใจ มักเกี่ยวข้องกับประเด็นด้านความยั่งยืนซึ่งส่วนใหญ่ เน้นหนักไปที่เรื่องสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่มันจะไม่ได้มีอยู่แค่นั้น
หลังจากนี้ไป Future Perfect จะมีประเด็นอื่น ๆ ในมิติ และมุมมองที่เปิดกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ที่จะช่วยเป็นจิ๊กซอว์สำหรับผู้อ่าน นำไปต่อเป็นภาพอนาคตที่กำหนดได้ที่เราสร้างร่วมกัน โดยท่านก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้นด้วย และขอขอบคุณอีกครั้งสำหรับการติดตามครับ
3 มุมคิดที่ Future Perfect ขอฝากไว้
1) ความยั่งยืน (Sustainability) มุ่งเน้นการปรับตัว (Adaptation) ต่อความไม่แน่นอน (Uncertainty)
2) ความยั่งยืน (Sustainability) ประยุกต์ใช้ทางสายกลาง เพื่อสร้างคุณค่าที่สมดุล และเหมาะสมที่สุดกับตนเองและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
3) องค์กรธุรกิจที่ยั่งยืน เน้นการสร้างคุณค่าที่แท้จริงให้เกิดขึ้นกับองค์กร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งถ้าวิเคราะห์คุณค่าที่แท้จริงในระยะยาวออกมาเป็นตัวเลขแล้ว ย่อมมีมูลค่าสูงกว่าตัวเลขผลประกอบการในระยะสั้น
#FuturePerfect #อนาคตกำหนดได้
โฆษณา