30 มิ.ย. 2022 เวลา 02:28 • ความคิดเห็น
นักการทูตคือใคร ทำอะไร และทำอย่างไรจึงจะเป็นนักการทูต?
“นักการทูต” เป็นอาชีพในฝันของใครหลายคน รวมทั้งตัวผมเอง แต่ต้องยอมรับว่า ก่อนจะมีโอกาสได้ฝึกงานที่กระทรวงการต่างประเทศ ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่านักการทูตคือใคร และมีหน้าที่อะไรกันแน่
นายณศักต์ พงษ์ศรี ผู้เขียน
เมื่อพูดถึง “นักการทูต” เรามักนึกถึงภาพจากละครที่เราคุ้นเคยแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัวเป๊ะ ๆ พร้อมแก้วไวน์กับซิการ์ในมือท่ามกลางเสียงดนตรีบรรเลงในห้องหรู ซึ่งในแง่หนึ่งก็จริง เพราะการวางตัวให้ดีนั้นสำคัญมากในการสร้างความประทับใจแรกพบกับต่างชาติ สร้างภาพจำที่ดีให้กับคนไทยและประเทศไทย แต่นี่ก็เป็นเพียงภาพภายนอกส่วนเล็ก ๆ เท่านั้น
แน่นอนว่า นักการทูตไม่ได้นั่งทำพาสปอร์ตกันอย่างเดียว มีงานวิชาการที่ต้องวิเคราะห์ประเด็นการเมืองโลก และประเมินผลกระทบต่อไทยอยู่บ่อยครั้ง บางโอกาสก็มีงานรับรองแขกของรัฐบาลและผู้แทนจากต่างประเทศ บางครั้ง ก็ต้องคิดเนื้อหา (content) ลงโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างแฟนคลับให้ประเทศ และหลายครั้งต้องลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือคนไทยในต่างแดน
หากจะให้สรุป นักการทูตเป็นเหมือนระฆังที่ช่วยก้องกังวานเสียงของประเทศไทย คนไทย และความเป็นไทยไปทั่วโลก โดยมีหน้าที่หลัก ๔ ด้าน ได้แก่ (๑) การเป็นผู้แทนไทยในเวทีโลก (๒) การหาข้อมูลเชิงลึกเพื่อดำเนินนโยบายต่างประเทศ (๓) การเจรจาว่าความผ่านคำพูดและตัวหนังสือ และ (๔) การปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทยและคนไทยทั่วโลก
2
การสอบคัดเลือกนักการทูตจึงต้องการเฟ้นหาบุคลากรที่พร้อมจะปฏิบัติภารกิจดังกล่าว โดยการสอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศสามารถทำได้ ๒ วิธี คือ (๑) สอบชิงทุนระดับปริญญาตรี หรือ (๒) สอบวัดความสามารถและความเหมาะสม ซึ่งมีวิธีการเตรียมตัวที่ต่างกัน
ผมจะขออธิบายการเตรียมตัวสำหรับข้อ (๒) เพราะเป็นประสบการณ์ตรงของผม โดยจะขอเกริ่นคร่าว ๆ ว่าข้อสอบกระทรวงฯ ครอบคลุมเนื้อหาใดบ้าง จากนั้น จะอธิบายแนวทางที่ท่านผู้อ่านอาจจะลองนำไปพิจารณาประยุกต์ใช้
ที่มา: istockphoto/turk_stock_photographer
สอบอะไรบ้าง?
การสอบนักการทูตใช้ข้อสอบคนละชุดกับ ก.พ. และไม่จำเป็นต้องจบรัฐศาสตร์เท่านั้น แม้แต่รอบที่ผ่านมา เพื่อน ๆ และพี่ ๆ ร่วมรุ่นหลายคนก็มีความรู้ความเชี่ยวชาญและภูมิหลังที่หลากหลาย ผมเองก็จบเศรษฐศาสตร์มา โดยการสอบมี ๓ ด่าน ได้แก่
1
๑) ภาค ก สอบ “ข้อกา” เกี่ยวกับความรู้รอบโลกและตรรกศาสตร์ + ภาษาอังกฤษ
๒) ภาค ข สอบ “ข้อเขียน” โดยแบ่งเป็น ภาษาอังกฤษ เรียงความ ย่อความ แปลไทย-อังกฤษ และแปลอังกฤษ-ไทย + ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และให้เลือกทำ ๒ ใน ๓ ข้อจากคำถามเรื่ององค์การระหว่างประเทศ เศรษฐกิจระหว่างประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศ อาจตอบเป็นภาษาไทยหรือภาษาอื่น ๆ ตามที่กำหนด
๓) ภาค ค สอบ “ความเหมาะสม” ในการเป็นนักการทูตผ่านกิจกรรม Assessment Center Method หรือกิจกรรมกลุ่มเพื่อประเมินพฤติกรรมและทัศนคติในการทำงาน + Public speaking หรือการพูดในที่สาธารณะ + การสัมภาษณ์เดี่ยว
การเตรียมตัว
การอ่านหนังสือสอบนักการทูตเป็นการลงทุนในระยะยาวในความหมายที่ว่า ความรู้ที่อ่านสำหรับภาค ก สามารถใช้ได้กับภาค ข ด้วย สำหรับภาค ค อาจจะใช้ได้บ้าง แต่โดยมากจะเน้นเรื่องบุคลิกและการวางตัวมากกว่า
โดยรวม การอ่านภาค ก และ ข ไม่ควรเริ่มจากการท่องจำ ควรพยายามทำความเข้าใจ “ภาพใหญ่” ก่อนและจึงลงมา “ภาพย่อย” กล่าวคือ การตามข่าวประจำวันจะง่ายขึ้นหากเรารู้บริบทโลกและบริบทไทย ทั้งหมดนี้ควรอ่านกับเพื่อน ช่วยกันติว แลกเปลี่ยนความรู้กันจะดีกว่าอ่านคนเดียว เพราะจะได้คอยช่วยกันเสริมประเด็นที่อีกคนขาด
และการสอบครั้งนี้ไม่ใช่การแข่งขันกับคนอื่น แต่คือการแข่งกับตัวเองว่าสามารถผ่านเกณฑ์ที่กระทรวงฯ กำหนดได้หรือไม่
3
ผู้เขียน (แถวหลัง คนที่สามจากซ้าย) ขณะร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม
ภาค ก
๑. ควรมีเว็บไซต์อ่านข่าวประจำเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งจะช่วยฝึกทักษะการอ่าน ไวยากรณ์ และคำศัพท์ภาษาอังกฤษด้วย
๒. วิธีตามข่าวคือ ควรอ่านทุกหัวข้อ (headline) เพื่อให้รู้และกดเข้าไปอ่านประเด็นที่สนใจจริง ๆ หรือกำลังเป็นกระแสในช่วงนั้น อาจทำสรุปเผื่อกลับมาอ่านทีหลัง และควรตามข่าวสารนิเทศของกระทรวงฯ เพื่อจะได้รู้จักภารกิจของกระทรวงฯ และทราบประเด็นที่ไทยให้ความสนใจ
๓. ทำข้อสอบย้อนหลังเท่าที่หาได้และพยายามหาแนวข้อสอบ หรือ pattern ของข้อสอบ สำหรับ ภาค ก หากสังเกตดี ๆ ข้อสอบแต่ละปีจะมีถามคล้ายกันแต่เปลี่ยนสำนวนคำถามที่ใช้เท่านั้นเอง
ภาค ข
๑. ควรประเมินว่า ในขณะนั้น บริบทโลกเป็นอย่างไรและมีเหตุการณ์สำคัญใดเกิดขึ้นบ้าง —> ผลกระทบต่อไทยคืออะไร อย่างไร —> ไทยควรรับมือ/ใช้ประโยชน์อย่างไร
๒. ควรศึกษาจุดยืนไทยในประเด็นต่าง ๆ อาจลองกำหนดเองตามความรู้/ประสบการณ์ที่มี หรือเริ่มศึกษาจากแผนการต่างประเทศ “5S/๕มี” ของกระทรวงฯ (สนใจรายละเอียดเปิดอ่านได้ที่หน้าเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศ)
๓. ควรอ่านข่าวสารนิเทศเพื่อสังเกตท่าทีและการดำเนินงานของกระทรวงฯ ในประเด็นต่าง ๆ อาจใช้เป็นตัวอย่าง หรือเป็นหลักฐานสนับสนุนในการตอบข้อสอบ อาจติดตามรายการ Spokesman Live!!! ของกรมสารนิเทศประกอบเพราะช่วยสรุปประเด็นสำคัญไว้อย่างดีเยี่ยม
ภาษาอังกฤษ
๑. เมื่ออ่านข่าวภาษาอังกฤษ ควรสังเกตการใช้คำ โครงสร้างประโยค และสไตล์ในการเขียน เพราะปีที่ผ่านมา ภาค ก ไม่ได้ออก “แกรมม่า” ตรง ๆ แต่ออกเป็น “collocation” หรือ “คำสร้อย” ของศัพท์ต่าง ๆ ซึ่งเก็งสอบได้ไม่ง่าย จึงควรอาศัยความคุ้นชินจากการอ่านข่าวภาษาอังกฤษเยอะ ๆ
1
๒. ควรศึกษาสำนวนการแปลและการเขียนของกระทรวงฯ จากข่าวสารนิเทศหรือ social media ต่าง ๆ ของกระทรวงฯ เพื่อให้คุ้นเคยและอาจช่วยให้เราวางแผนในการเขียนได้ว่าควรจัดรูปแบบอย่างไร
๓. ควรฝึกอ่านภาษาอังกฤษให้เป็นนิสัย ควรฝึกเขียนและแปลอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้มือแข็งตอนสอบ
การเขียนตอบ
๑. โดยพื้นฐาน เรียงความประกอบด้วย บทนำ + เนื้อความ + สรุป ควรร่างโครงเนื้อหาคร่าว ๆ ก่อนเขียนจริง
๒. บทนำควรมีข้อโต้แย้งหรือ argument ที่ชัดเจน หมายถึง ควรระบุให้ชัดเจนว่า อะไรคือคำตอบของเราต่อคำถามในข้อนั้น ๆ
๓. เนื้อความควรมี ๓ ย่อหน้า แต่ละย่อหน้าควรอธิบายเหตุผลสนับสนุนข้อโต้แย้งของเรา
๔. สรุปควรเป็นการขมวดทุกอย่างที่กล่าวมา พร้อมเสนอความคิดเห็นของผู้เขียน (หากมี)
๕. ควรเขียนกระชับ เป็นระบบ และวิเคราะห์/วิจารณ์อย่างรอบด้านและมีเหตุผล
ผู้เขียน (ขวาสุด) ขณะเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ (SOM2)
ภาค ค
ด่านสุดท้ายนี้ไม่ได้เน้นความรู้วิชาการแต่เน้นความ “ครบเครื่อง” เพราะถึงที่สุดแล้ว นักการทูตที่ดี คือ คนที่ “มีเสน่ห์” หรือ “charming” คือ คนที่ทำให้ทุกคนต้องหยุดมองด้วยความประทับใจ ซึ่งไม่เกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาแต่อย่างใด การจะเป็นคนคนนี้ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่เท่าที่สังเกตมา อาจมี ดังนี้
1
๑. เป็นตัวเองในแบบที่ดีกว่าเดิม
๒. เป็นคนพูดเก่ง และ/หรือพูดได้อย่างน่าฟัง ซึ่งอาจฝึกได้โดยการฝึกพูดทุกวัน
อาจพูดกับกระจก หรือพูดให้เพื่อนฟังเพื่อจะได้ไม่ตื่นเวที ต้องพูดได้อย่างมีจังหวะจะโคน มีการเน้นคำสำคัญ สบตาผู้ฟัง และมีภาษากายประกอบตามความเหมาะสม
๓. เป็นคนยิ้มแย้มบ้าง และหากเป็นไปได้ ยิงมุกตลกสักหน่อยจะทำให้มีเสน่ห์มากขึ้น
๔. เป็นคนจริงใจ นอบน้อม และพร้อมช่วยเหลือผู้อื่น
๕. เป็นคนที่ยืนหยัดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ แต่พร้อมจะรับฟังมุมมองที่แตกต่างและพร้อมร่วมกันหาทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้
หวังว่าทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์บ้าง ไม่มากก็น้อย กระทรวงฯ รอต้อนรับคนที่มีฝันร่วมกันนะครับ
ณศักต์ พงษ์ศรี
นักการทูตปฏิบัติการ
กรมสารนิเทศ
โฆษณา