Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
JEENTHAINEWS
•
ติดตาม
28 มิ.ย. 2022 เวลา 03:34 • ประวัติศาสตร์
‘พิธีฝังคนทั้งเป็น’ ของชนชั้นสูงจีน โศกนาฏกรรมจากความเชื่อเรื่องโลกหลังความตาย
1
ในสมัยจีนโบราณ ดวงวิญญาณที่น่าสงสารนับร้อยต้องตกเป็นเหยื่อของความเชื่อที่เรียกว่า ‘ซวิ่นจ้าง’ (殉葬) ซึ่งมีความหมายว่าการฝังศพแบบสังเวยชีวิต หรือในบางครั้งก็เรียกว่า ‘เหรินซวิ่น’ (人殉) ที่แปลว่าการเสียสละชีวิตของมนุษย์
4
‘ซวิ่นจ้าง’ คือการฝังเครื่องใช้ ข้าทาสบริวารและสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ไปพร้อมกับคนตาย เพื่อที่จะได้ตามไปรับใช้เจ้านายในชีวิตหลังความตาย
1
วิถีปฏิบัตินี้มีอยู่ในราชวงศ์ส่วนใหญ่ของจีน แม้จะมีความพยายามล้มล้างพิธีนี้หลายต่อหลายครั้งในตลอดหลายพันปีที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ต่างกับการฆ่าคนนับร้อยพันอย่างเลือดเย็น โดยที่พวกเขาเหล่านั้นไม่มีทางปฏิเสธ ‘การเสียสละ’ ที่ว่าได้เลย
2
นับเป็นเวลาหลายศตวรรษที่งานศพในสมัยโบราณของจีนมีพิธีซวิ่นจ้าง สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ในมณฑลส่านซี นอกจากรูปปั้นทหารม้าอันมีชื่อเสียงจำนวนเกือบ 9,000 ชิ้นแล้ว นักโบราณคดียังขุดพบ ‘ซากศพมนุษย์หลายพันชีวิต’ ที่คาดว่า ‘ถูกฝังทั้งเป็น’ ในช่วงพิธีศพของพระองค์
2
ซือหม่าเชียน (司马迁) นักบันทึกประวัติศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่บอกเล่าเรื่องราวไว้ใน “สื่อจี้” 《史记》ว่า หลังจิ๋นซีฮ่องเต้สิ้นพระชนม์ บุตรชายของพระองค์นามว่าองค์ชายหูไฮ่ (胡亥) ได้สั่ง “ประหารชีวิตและฝังนางสนมของบิดาทุกพระองค์ที่ไม่เคยให้กำเนิดบุตรธิดา” ด้วยเหตุผลว่า “ไม่สมควรปล่อยให้พวกเธอออกได้ออกไปใช้ชีวิตนอกวัง”
3
ซือหม่าเชียนไม่ได้อธิบายแน่ชัดว่าจากคำสั่งอันเหี้ยมโหดนี้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นกี่คน เขาระบุเพียงว่า “เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก” ปัจจุบัน นักโบราณคดีขุดค้นหลุมฝังศพขนาดในสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้แล้วรวม 10 หลุม จากทั้งหมด 99 หลุม และทั้ง 10 หลุมนี้ก็ล้วนพบซากโครงกระดูกของหญิงสาว ซึ่งคาดว่าน่าจะพบในหลุมอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
3
นอกจากนางสนมแล้ว ช่างฝีมือและเหล่าคนงานยังถูกสังหารหลังจากฝังพระศพเสร็จ เพื่อไม่ให้ความลับของสุสานหลุดลอดออกไป เพราะพวกเขาทราบคุณสมบัติและกลไกการทำงานของอุปกรณ์ทั้งหมดเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงต้องจบชีวิตอยู่ที่นี่เพื่อป้องกันโจรขโมยสุสานในภายหลัง
2
องค์ชายหูไฮ่สั่งปิดประตูสุสานหลังพิธีศพจบลง โดยขังนางสนม สัตว์ และคนงานทั้งหมดไว้ข้างใน บันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุว่าสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้มีคนงานราว 720,000 คน แม้ว่าจะไม่ได้ถูกฆ่าทั้งหมด แต่ก็มีเหตุผลที่จะเชื่อว่ายอดผู้เสียชีวิตนั้นสูงมาก
2
จิ๋นซีฮ่องเต้ไม่ใช่จักรพรรดิองค์แรกและองค์สุดท้ายที่จัดพิธีซวิ่นจ้าง ในสมัย ราชวงศ์ซาง (1600-1046 ปีก่อนคริสต์ศักราช) สุสานของกษัตริย์ซางตอนปลายในเมืองอินซวี (ปัจจุบันคือมณฑลเหอหนาน) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเมืองหลวงสุดท้ายของราชวงศ์ซาง นักวิจัยได้ขุดพบโครงกระดูกจำนวน 164 โครงในหลุมฝังศพ คาดว่าเป็นทาสที่ถูกสังหารตามพิธีซวิ่นจ้าง
1
เวลาล่วงเลยไปหลายศตวรรษ เสียงคัดค้านและคำถามเกี่ยวกับศีลธรรมของซวิ่นจ้างก็เริ่มปรากฏชัดขึ้น ใน ยุคชุนชิว (770-476 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และ ยุคจ้านกั๋ว (475-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช)
2
ม่อจื๊อ (墨子) หนึ่งในนักปราชญ์จีนบันทึกไว้ในตำราม่อจื๊อของตนว่า “อ๋องตายคร่าชีวิตหลายร้อยถึงหลายพัน แม่ทัพและขุนนางตายคร่าชีวิตหลักสิบถึงหลักร้อย พร้อมรถม้า นางรำ เครื่องดนตรี การกระทำอันทารุณเช่นนี้ ทำร้ายชาวบ้าน และสร้างความเสียหายเหลือคณานับ”
4
ต่อมาในสมัย ราชวงศ์ฮั่น (202 ปีก่อนคริสต์ศักราช - ปี 220) จักรพรรดิหลายพระองค์ทรงเห็นแล้วว่าการปกครองแบบจิ๋นซีฮ่องเต้ในอดีต ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์ จึงมีความพยายามที่จะยกเลิกพิธีซวิ่นจ้าง ตัวอย่างเช่น จักรพรรดิฮั่นอู่ (汉武帝) ทรงยอมรับฎีกาจากเหล่านักปราชญ์ และออกคำสั่ง "ห้ามสังหารข้าทาสบริวารตามอำเภอใจ"
1
หรืออย่างเช่นเมื่อองค์ชายหลิวหยวน (刘元) ทรงขออนุญาตจักรพรรดิฮั่นเซวียน (汉宣帝) เพื่อสังหารบริวารตามความเชื่อซวิ่นจ้าง จักรพรรดิทรงปฏิเสธคำขอองค์ชายหลิวหยวนและถอดยศศักดิ์ของเขา เห็นได้ชัดว่าในสมัยราชวงศ์ฮั่นมีความพยายามที่จะลบล้างพิธีซวิ่นจ้างอยู่
2
ต่อมาในสมัย ราชวงศ์ถัง (ปี 618–907) และ ราชวงศ์ซ่ง (ปี 960–1279) ซึ่งนักประวัติศาสตร์ในยุคต่อมาถือว่าเป็นยุคที่รุ่งเรืองและ "มีอารยะ" มากที่สุด ธรรมเนียมซวิ่นจ้างก็ดูเหมือนจะหายไป เพราะในตำราประวัติศาสตร์ของทางการไม่ได้กล่าวถึงการทำพิธีนี้
3
อย่างไรก็ตาม การทำพิธีซวิ่นจ้างยังคงถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์สมัย ราชวงศ์เหลียว (ปี 907 - 1125) ราชวงศ์จิน (ปี 1115 - 1234) และ ราชวงศ์หยวน (ปี 1206 - 1368) ซึ่งทั้ง 3 ราชวงศ์นี้ก่อตั้งโดยกลุ่มชนเผ่าจากทางเหนือ
1
ตามบันทึกประวัติศาสตร์เหลียวสื่อ (《辽史》) เมื่อเย๋ลวี่อาเป่าจี (耶律阿保机) จักรพรรดิผู้ก่อตั้ง ราชวงศ์เหลียว สวรรคต จักรพรรดินีซู่ลวี่ผิง (述律平) ยินยอมที่จะถูกฆ่าทั้งเป็นตายตามผู้เป็นสามีไป แต่จักรพรรดินีเป็นบุคคลสำคัญที่ต้องว่าราชการแทนฮ่องเต้ ณ เวลานั้น
3
เหล่าข้าราชบริพารจึงโน้มน้าวใจให้พระนางมีชีวิตอยู่ต่อ แม้จักรพรรดินีซู่ลวี่ผิงจะยอมใจอ่อนมีชีวิตอยู่ต่อ แต่นางได้ตัดมือขวาของตัวเองฝังไปกับพระสวามี พร้อมสังหารข้าราชบริพารไปมากกว่าร้อยคน อาจจะเรียกว่าพิธีซวิ่นจ้างกลับมามีบทบาทอีกครั้งในสมัยราชวงศ์เหลียวก็ว่าได้
3
มาร์โค โปโล นักเดินทางชาวเวนิสเล่าว่า ในสมัย ราชวงศ์หยวน ซึ่งปกครองโดยชาวมองโกล ใครก็ตามที่เห็นขบวนแห่ศพของเจงกีสข่าน (成吉思汗) จะต้องถูกประหารชีวิต
4
เห็นได้ชัดว่าในสมัยราชวงศ์หยวนนี้มีการสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปเชื่อในพิธีซวิ่นจ้าง เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและจงรักภักดี
3
ยิ่งไปกว่านั้น ในหยวนสื่อ (《元史》) บันทึกประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการของราชวงศ์หยวนระบุไว้ว่า ในอำเภอเหอจ้ง เมืองต้าหนิง (มณฑลเหลียวหนิงในปัจจุบัน) หากตระกูลใดที่สามีตายแล้วภรรยายินยอมสังเวยชีวิตตัวเองเป็นเครื่องบูชาตามความเชื่อซวิ่นจ้าง ตระกูลนั้นจะได้รับคำสรรเสริญจากทางการ
2
มาถึงสมัย ราชวงศ์หมิง ซึ่งปกครองโดยชาวฮั่น พิธีซวิ่นจ้างก็ยังไม่หมดไป บันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุไว้ว่านางสนมของจักรพรรดิประมาณ 100 นางถูกสังหารเพื่อให้เป็นผู้ติดตามหลังความตายแด่จักรพรรดิ 5 พระองค์แรกแห่งราชวงศ์หมิง
4
แต่ต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าอิงจง (明英宗) จักรพรรดิองค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์หมิง ก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงสั่งเสียไว้ว่าให้ยกเลิกพิธีซวิ่นจ้างเสีย
3
กระทั่งราชวงศ์สุดท้ายของจีนอย่าง ราชวงศ์ชิง แม้ว่าในช่วงแรกขุนนางชาวแมนจูจะยังคงยึดขนบซวิ่นจ้างแบบเดิม
แต่ต่อมาในปี 1673 องค์จักรพรรดิคังซี (康熙皇帝) ก็ได้ประกาศห้ามทำพิธีดังกล่าวอย่างเป็นทางการ องคมนตรีของพระองค์ให้เหตุผลว่าประเพณีนี้ของชาวแมนจูนั้นโหดร้ายและไม่เป็นธรรม นับแต่นั้นมา พิธีซวิ่นจ้างก็หมดไปจากหน้าประวัติศาสตร์จีน แม้ต่อมาจะมีการขุดค้นพบหลักฐานความโหดร้ายในอดีตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม
อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.jeenthainews.com/china-news/27551_20211125
ติดตามข่าวเด่นประเด็นร้อนจากแดนมังกรและทั่วทุกมุมโลก:
https://www.jeenthainews.com/
จีน
เรื่องเล่า
ประวัติศาสตร์
9 บันทึก
9
6
9
9
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย