28 มิ.ย. 2022 เวลา 11:00 • ไลฟ์สไตล์
เจ็บสักกี่ครั้ง…ก็ไม่จํา! รู้จักทฤษฎี “Imago Theory” เมื่อเราดันตกหลุมรักคนนิสัยเดิมๆ เคยนับกันไหมว่ากี่ครั้งแล้วที่เราต้องเจ็บกับเรื่องเดิมๆ
ครั้งเดียว? สองครั้ง? ไม่เคยเลย? หรืออาจต้องตอบว่า “นับไม่ถ้วน” เท่านี้ยังไม่พอ ไม่ว่าจะเป็นรักครั้งเก่าหรือใหม่ก็ตาม เราดันพบอีกว่าคนเหล่านี้มักจะมีทั้งรูปร่างหน้าตาและนิสัยคล้ายกันอีกด้วย พูดง่ายๆ ก็คือ เรามักจะเจ็บและความสัมพันธ์ต้องจบลง เพราะคนนิสัยเดิมๆ และปัญหาเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นรักครั้งไหนก็ตาม
แล้วอะไรทำให้เราเป็นแบบนี้? เพราะความรักไม่มีเหตุผล หรือจริงๆ แล้วเหตุผลนั้นอาจจะ “มี” เพียงแต่เป็นตัวเราที่ไม่รู้และยังหาคำตอบไม่ได้
แต่ไม่เป็นไรเพราะวิทยาศาสตร์มีคำตอบและอธิบายได้ว่า ทำไมเราตกหลุมรักคนสไตล์เดิมๆ ที่มักจะมีปัญหาขัดแย้งด้วยเรื่องเดิมอยู่บ่อยๆ แต่เราก็ยังเลือกคนแบบนี้ที่ (อาจจะ) ดีต่อใจ แถมเรายังหลงรักแบบตะโกนโดยไม่รู้ตัว ด้วยทฤษฎี “Imago Theory”
Imago Theory คืออะไร? ทำไมรักกี่ครั้ง ทั้งช้ำและซ้ำแต่ยังทน!
ในปี 1980 Harville Hendrix นักจิตวิทยาชาวสหรัฐฯ และภรรยา Helen LaKelly Hunt นักเคลื่อนไหวและนักเขียนชาวสหรัฐฯ ร่วมกันตั้งทฤษฎีใหม่ขึ้นมาชื่อว่า “Imago Theory”
ที่อธิบายว่าเราทุกคนต่างมีความบกพร่องทางจิตใจในช่วงวัยเด็ก ทั้งจากการเลี้ยงดูหรือพฤติกรรมต่างๆ ของพ่อแม่และคนในครอบครัว ที่ทำให้รู้สึกขาดอะไรบางอย่างไป และยังคงมีประสบการณ์หรือความทรงจำที่ฝังใจเสมอมา ส่งผลให้เมื่อโตขึ้นนั้น เราจึงมองหาสิ่งที่จะช่วยเติมเต็มส่วนต่างๆ ที่ขาดหายไปโดยไม่รู้ตัว
แล้ว “Imago Theory” เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์อย่างไร?
ลองนึกย้อนถึงความรักที่ผ่านมาของตัวเองหรือคนรอบข้างดูกัน เราจะพบว่าส่วนใหญ่คนที่เรียบร้อย พูดน้อย และไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองนั้น มักจะลงเอยกับคนที่สนุกสนานและมีความมั่นใจในตัวเองสูง หรือคนที่โตมากับครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง ก็จะเลี่ยงคบกับคนประเภทนี้ และพยายามมองหาคนที่อ่อนโยนและไว้ใจได้ เพื่อเติมเต็มส่วนที่หายไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา
และแน่นอนว่า เมื่อเราเจอ “คนที่ใช่” ความรักก็จะค่อยๆ เบ่งบาน จึงทำให้ช่วงแรกๆ อะไรก็ดูดีไปหมด เราจะมองเห็นแต่ข้อดีของอีกฝ่าย เราจะตกหลุมรักคนคนนั้นจนมองข้ามข้อเสียต่างๆ ไปได้อย่างง่ายดาย เพราะชิ้นส่วนในชีวิตที่หายไปในช่วงวัยเด็กของเรากำลังได้รับการเติมเต็ม
แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก เราก็จะเริ่มเห็นข้อเสียของอีกฝ่ายมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะเป็นข้อเสียที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่ตอนแรกเราแทบจะไม่สนใจอะไรเลย จนนำไปสู่ความขัดแย้ง ทะเลาะกับเรื่องเดิมๆ และมีปัญหาเรื้อรังมากขึ้น
และคนในฝันอาจกลายเป็น “ฝันร้าย” ในที่สุด!
พยุงความสัมพันธ์ด้วยการปลอบโยนจิตใจซึ่งกันและกัน
การที่เรารักและสบายใจกับใครสักคนที่มีลักษณะคล้ายกับคนที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องผิดเสมอไป เพราะขึ้นชื่อว่าความรักแล้วนั้น ไม่ว่าใครก็อยากมีรักและความสัมพันธ์ที่ดี พร้อมกับคนที่อยู่เคียงข้างในทุกช่วงเวลาของชีวิต แต่สิ่งเหล่านี้อาจไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากเราไม่รับรู้ถึงปัญหาภายในใจของตัวเอง แถมปัญหานั้นยังค่อยๆ ทำลายความสัมพันธ์ทีละนิดๆ โดยที่เราไม่รู้ตัวอีกด้วย
แล้วจะรักษาความสัมพันธ์ไม่ให้วนกลับไปเจอปัญหาเดิมๆ ได้อย่างไร?
1. การรู้จักตัวเอง
ว่ากันว่าก่อนจะรักใครนั้น เราต้องรักตัวเองให้ได้เสียก่อน และการจะรักตัวเองได้นั้น ก็ต้องรู้จักและเข้าใจตัวเองก่อนด้วย โดยการมี “Self-Awareness” ที่จะช่วยให้เราเข้าใจทั้งอารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการ รวมถึงความผิดปกติภายในใจของตัวเอง
เมื่อรับรู้แล้วนั้น เราก็ควรแก้ไขและเติมเต็มด้วยตัวเองเสียก่อน โดยไม่ต้องรอให้คนอื่นมาเติมเต็มอยู่ฝ่ายเดียว
2. การสื่อสาร
ไม่มีใครสามารถเข้าใจสิ่งที่อยู่ภายในใจหรือความต้องการของเราได้ทุกอย่าง บ่อยครั้งที่หลายๆ คู่ต้องทะเลาะกันหรือจบความสัมพันธ์กันไป เพียงเพราะการไม่สื่อสาร ส่งผลให้เข้าใจไม่ตรงกัน ประชดประชัน ดังนั้น หากต้องการอะไรหรือมีเรื่องที่ไม่สบายใจ ก็ควรพูดเปิดอกกันอย่างตรงไปตรงมา เพราะการเงียบหรือเก็บไว้คนเดียวไม่ช่วยอะไร ซ้ำร้ายยิ่งมีแต่จะทำให้ทุกอย่างแย่ลงอีกด้วย
3. การยอมรับข้อเสีย
อย่าลืมว่าทุกคนต่างมีทั้งข้อดีและข้อเสียปะปนกันไป ไม่มีใครดีไปหมดทุกอย่าง แม้กระทั่งตัวเราเอง เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นคนรักกันแล้ว ย่อมหมายความว่าทั้งสองฝ่ายต้องให้เกียรติและสามารถยอมรับข้อเสียของกันและกันได้
หากใครกำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ ลองนำวิธีข้างต้นนี้ไปปรับใช้กันดู สิ่งสำคัญคือการรู้จักตัวเอง เรียนรู้ที่จะรักตัวเองก่อน และอย่าลืมพูดคุยกับคนรักอย่างจริงใจ แม้เราจะตกหลุมรักคนนิสัยเดิมๆ แต่มั่นใจได้เลยว่าเราจะไม่เจ็บและเจอกับปัญหาเดิมๆ เหมือนที่ผ่านมาแน่นอน!
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ :
4 รูปแบบของ Gaslighting ที่ต้องระวังในความสัมพันธ์: https://bit.ly/3xUqLfl
เริ่มต้นใหม่กับคนเก่า?! ไขข้อสงสัย ทำไมเราถึงไม่มูฟออน: https://bit.ly/3tZgnBV
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology
โฆษณา