29 มิ.ย. 2022 เวลา 11:00 • สุขภาพ
เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จะยังคงอยู่ต่อไปภายหลังจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19
เหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ใกล้จะถึงบทสรุปแล้ว โดยในระหว่างที่โรค COVID-19 กำลังแพร่ระบาดอยู่ทั่วโลกนั้น ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆมาประยุกต์ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรคดังกล่าว ซึ่งเทคโนโลยีบางอย่างก็ได้กลายมาเป็นสิ่งจำเป็นที่จะขาดไปไม่ได้เสียแล้ว ในบทความนี้จะกล่าวถึงเทคโนโลยีเหล่านั้นกัน
1. หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ
หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสี UV
เนื่องด้วยเชื้อ Corona virus แพร่ได้ง่าย การให้แรงงานคนมาทำความสะอาดห้องพักของผู้ป่วยโรค COVID-19 ภายหลังได้รับการรักษา จึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อสูงมาก ซึ่งการใช้หุ่นยนต์มาทำความสะอาดห้องแทนแรงงานคนจะช่วยลดความเสี่ยงด้านนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังช่วบประหยัดต้นทุนอีกด้วย
วิธีที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อโรคได้ดีมากก็คือ การใช้รังสี UV โดยเฉพาะ UV-C โดยเมื่อรังสี UV ถูกฉายไปยังไวรัส จะทำให้สารพันธุกรรมของไวรัสเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสได้ แต่ทว่า หากรังสี UV ถูกฉายมายังผิวหนังของมนุษย์ ก็ทำให้เกิดผลเสียต่างๆมากมาย เช่น การระคายเคือง, ผิวหนังไหม้ และในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด อาจทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้เลย
อีกทั้งนักวิจัยทางด้านหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ ได้กล่าวว่า หุ่นยนต์รุ่นใหม่ อาจมีขนาดใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับการใช้งาน และสามารถสำรวจจุดเสี่ยงที่จะเกิดการสะสมของเชื้อโรคและกำจัดเชื้อโรคในจุดนั้นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในปัจจุบันมีหลายบริษัทได้ทำการผลิตหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อและส่งไปให้โรงพยาบาลหลายแห่งทั่วโลกได้นำไปใช้งานแล้ว โดยมีการประเมินประสิทธิภาพของหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ พบว่า หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อสามารถฆ่าเชื้อห้อง CT-Scan โดยใช้เวลาเพียง 15 นาที เมื่อเทียบกับแรงงานคนที่อาจใช้เวลาสูงถึง 60 นาที
นอกจากนี้ สถิติในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า มีคนงานเฉลี่ย 1 ใน 17 คนต้องเสียชีวิตจากการกำจัดเชื้อโรคภายในโรงพยาบาล ดังนั้นนวัตกรรมนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าว
2. การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, A.I.) มาทำนายการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่
ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 บริษัท BlueDot ซึ่งเป็นบริษัททางด้าน A.I. ได้ทำการประกาศเตือนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคนี้เป็นครั้งแรก จากการใช้ A.I. มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจากข่าวสาร, สายการบิน, และโรคระบาดในสัตว์ จากนั้นนักระบาดวิทยาได้นำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์เพิ่มเติม และพบแนวโน้มของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้ที่ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการนำ A.I. มาประยุกต์ใช้เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัย Georgetown ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกมากล่าวว่า A.I. แทบจะไม่มีบทบาทในการช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เลย
แต่ผู้คนอีกส่วนหนึ่งที่เชื่อว่า เป็นเพราะพวกเราเองที่ยังเตรียมตัวได้ไม่ดีพอในการรับมือกับโรคระบาด ทั้งๆที่มีเทคโนโลยีที่พร้อมใช้งานขนาดนี้ ซึ่งก็ถือเป็นบทเรียนในการรับมือกับโรคระบาดใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในครั้งต่อไป
เนื่องจากโรค COVID-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ จึงยังมีข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้น้อยมากในช่วงเริ่มต้น แต่ A.I. ก็ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการทำนายแนวโน้มของการแพร่ระบาดออกมาแล้ว ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของผู้ที่มีอำนาจในด้านสาธารณสุขของแต่ละประเทศ ที่ควรจะทำการศึกษาเกี่ยวกับ A.I. เพิ่มเติม และนำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยในทุกๆโรงพยาบาล เพื่อเตรียมการรับมือกับโรคระบาดในครั้งใหม่ได้ดีขึ้น
3. การรักษาทางไกลผ่านทางสมาร์ทโฟน
จากสถิติพบว่ามีเพียง 1 ใน 10 ของผู้ป่วยชาวอเมริกัน ใช้บริการการรักษาทางไกล ในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แต่ในช่วงของการแพร่ระบาด เมื่อผู้คนออกจากบ้านน้อยลง บริการการรักษาทางไกลจึงมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นในด้านนี้มีการใช้งานเพิ่มขึ้นกว่า 158%
ในช่วงที่ผู้คนกักตัวอยู่ที่บ้านนั้น ได้มีการใช้ประโยชน์จากสมาร์ทโฟนในการดูแลสุขภาพกายและจิตเพิ่มมากขึ้น แม้แต่ผู้ป่วยโรคมะเร็งก็ได้รับการรักษาทางไกล ซึ่งบริการการรักษาทางไกลนั้นมีอยู่มากมายเช่น การได้รับคำปรึกษาทางการแพทย์ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์, การส่งยาถึงบ้าน, รวมถึงการส่งชุดตรวจ COVID-19 ถึงที่บ้าน
นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังสามารถใช้อุปกรณ์ตรวจสุขภาพ ซึ่งมีอยู่หลากหลายชนิด เช่น Smart watch เป็นต้น มาตรวจสุขภาพได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า อีกทั้งยังสามารถแชร์ข้อมูลทางสุขภาพของผู้ป่วยให้กับแพทย์ทางออนไลน์ได้อีกด้วย ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ Corona virus และยังมีความสะดวกต่อผู้ใช้งาน โดยการลดเวลารอคิวในการพบแพทย์
มีการคาดการณ์ว่า ตลาดของการรักษาทางไกลจะมีมูลค่ากว่า 175.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2026 หรืออีกเพียงไม่กี่ปีข้างหน้า จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในตลาดนี้
4. เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตมาจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ
สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้จักเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สามารถศึกษาได้จากบทความก่อนหน้านี้ตามลิงค์ https://www.blockdit.com/posts/5e083aa6f2ac8b0cf3026f07
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้อุปกรณ์ป้องกันและเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในการรักษาโรคดังกล่าวขาดแคลนอย่างหนัก เป็นเหตุให้บุคลากรทางการแพทย์ ต้องเลือกว่า จะช่วยให้ผู้ป่วยคนไหนอยู่ต่อหรือปล่อยให้ตาย
ในประเทศสเปน ได้มีการร่วมมือกันขององค์กรต่างๆ เพื่อนำเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มาใช้ในการผลิตเครื่องมือแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ, ชุดตรวจโรค COVID-19, และชุด PPE สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งสร้างคุณประโยชน์อย่างประเมินค่ามิได้ในทางการแพทย์
อย่างไรก็ตาม ควรมีการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติอย่างจริงจังในการใช้งานด้านการแพทย์ เพื่อช่วยประหยัดต้นทุน และลดระยะเวลาในการผลิตเครื่องมือแพทย์ลง รวมถึงสามารถนำไปติดตั้งได้ในทุกๆโรงพยาบาล เพื่อเตรียมพร้อมรับมือวิกฤติต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
สุดท้ายนี้ เทคโนโลยีต่างๆล้วนมีประสิทธิภาพในการช่วยรับมือกับเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และอาจถูกนำไปใช้ต่อหลังจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดสิ้นสุดลง แต่ทว่าอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญและไม่ควรถูกมองข้าม คือ การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลทางการแพทย์เหล่านี้ เช่น การนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย ซึ่งก็ถือเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจเช่นกัน
นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีใหม่ๆที่มีประโยชน์ทางด้านการแพทย์เท่านั้น หากใครอยากศึกษาเทคโนโลยีเหล่านี้เพิ่มเติม ฝากกดติดตามเพจ BioMedTech ด้วยนะครับ
References:
โฆษณา