1 ก.ค. 2022 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ดุลการค้าคืออะไร ทำไมไทยขาดดุลในรอบ 7 ปี
ในโลกที่การค้าเป็นไปอย่างเสรี ไม่มีพรมแดนที่ปิดกั้นกระแสความต้องการของผู้บริโภค สินค้าและบริการจึงโยกย้ายจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง
ดุลการค้าจึงเป็นตัวเลขที่สะท้อนความต้องการนั้น ว่าประเทศแต่ละประเทศมีความต้องการซื้อหรือความต้องการขายสินค้าอะไร มากน้อยแค่ไหน
📌 ถ้าเกิดการขาย (ส่งออก) มากกว่าการซื้อ (นำเข้า) ประเทศก็จะ “เกินดุล” ทางการค้า
📌 ในทางกลับกันถ้าซื้อ (นำเข้า) มากกว่าขาย (ส่งออก) ก็จะเกิดการ “ขาดดุล” ทางการค้า
ซึ่งการเกินดุล หรือ ขาดดุล ไม่สามารถสรุปได้ว่าสภาวะเศรษฐกิจของประเทศดีหรือไม่ดี เป็นเพียงตัวเลขที่บอกถึง “รายรับ-รายจ่าย” เท่านั้น
ก็เหมือนกับการลงทุน ที่เราต้องดูรายละเอียดของรายรับ-รายจ่ายนั้น ๆ ว่าเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจหรือไม่
เช่น หากเป็นรายจ่ายเพื่อซื้อเครื่องจักรเข้ามาขยายกิจการ ก็นับว่าเป็นรายจ่ายที่เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ
1
หรือ สำหรับแบรนด์สินค้าชื่อดังระดับโลกที่ย้ายไปตั้งโรงงานการผลิตในต่างประเทศ เพื่อส่งสินค้ากลับมาขายในประเทศต้นทาง แบบนี้นับว่าเป็นการนำเข้าสินค้าของประเทศต้นทางเช่นกัน
ซึ่งทำให้ประเทศต้นทางขาดดุลทางการค้า แต่กลับช่วยให้บริษัทแบรนด์สินค้าชื่อดังของประเทศเติบโตมากขึ้น ก็ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน
กลับมาดูที่ประเทศไทย
ประเทศไทยเปิดเสรีทางการค้ามาอย่างยาวนาน นำเข้าและส่งออกสินค้าและบริการกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
🟢 จากสถิติการค้าระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 2558-2564 เราส่งออกมากกว่านำเข้ามาโดยตลอด เฉลี่ยปีละ 340,000 ล้านบาท เรียกได้ว่า เรามีดุลการค้า “เกินดุล” มาโดยตลอด
🔴 แต่ตัวเลขการค้าในปี 2565 สะท้อนให้เห็นว่านี่อาจเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ที่เราจะกลับมามีดุลการค้า “ขาดดุล” อีกครั้ง
โดยเพียง 4 เดือนแรกของปีเราขาดดุลไปแล้วกว่า 139,000 ล้านบาท หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ากว่า 1,100% !
ปัจจัยหลักมาจากประเทศส่งออกสำคัญของไทย โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าในเอเชียที่ต่างได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด และภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้มีการบริโภคที่ลดลงตามไปด้วย
ไล่ตั้งแต่ประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญ ล้วนนำเข้าสินค้าจากไทยลดลงทั้งสิ้น
จึงต้องติดตามกันต่อไปว่ากว่าจะถึงสิ้นปีนี้ ประเทศไทยจะก้าวผ่านภาวะการค้าขายที่ยากขึ้นเช่นนี้ได้ยังไง
📌 สาระความรู้เพิ่มเติม
การขาดดุลการค้าต่อเนื่อง ในระยะยาวจะทำให้อุตสาหกรรมในประเทศอ่อนแอลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจ้างงาน ยิ่งเราพึ่งพาการนำเข้ามาก ยิ่งเสี่ยงต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอย นำไปสู่การลดค่าเงิน และสินค้าที่นำเข้าก็จะมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในที่สุด
อ้างอิง
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน"
พวกเรากลุ่มคนที่รักเรื่องราวของการเงินการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ จึงก่อตั้งเพจ Dime! (ไดม์!) ขึ้น
Dime! แปลว่าเหรียญ 10 เซนต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุนเป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ เข้าใจง่าย และนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้จริง เหมือนกับเงิน 1 ไดม์ ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
หากทุกคนมีความรู้ทางการเงินที่แข็งแรง
สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
โฆษณา