30 มิ.ย. 2022 เวลา 13:14 • ครอบครัว & เด็ก
รู้จัก Parental Phubbing เพราะลูกๆ ก็รู้สึกโดดเดี่ยวได้เหมือนกัน เมื่อพ่อแม่ “ติดมือถือ”
คุณกำลังติดโทรศัพท์เกินไปหรือเปล่า?
อาการ “ติดโทรศัพท์” เป็นสิ่งที่คนแทบทุกเพศทุกวัยเป็นกันในทุกวันนี้ เราสามารถพนันได้เลยว่า ในร้านอาหารทั่วไป เกินครึ่งของลูกค้าในร้าน จะต้องควักเอาโทรศัพท์มือถือออกมาเช็กโดยอัตโนมัติ ทั้งๆ ที่พวกเขาเองยังไม่รู้เลยว่า ต้องการจะทำอะไรกับมันกันแน่
โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงวัยเด็ก-วัยรุ่น ที่มักจะโดนพ่อแม่ของตัวเองดุว่า เป็นคนที่มีอาการติดโทรศัพท์มากที่สุดจนไม่สนใจคนรอบข้าง จนทำให้เกิดปัญหาน้อยใจกันในครอบครัวอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ครอบครัวในสังคมยุคปัจจุบันจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจกันและกัน รวมถึงค่อยๆ ปรับตัวกันไปทีละน้อย
ส่วนใหญ่แล้ว ฝ่ายที่จะเป็นผู้กำหนดตารางเวลาในการเล่นโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ตของลูกๆ นั้นก็ตกมาอยู่ที่พ่อแม่ แต่ในขณะที่พวกเขากำลังพยายามจัดตารางการเล่นโทรศัพท์ให้ลูกของตัวเองอยู่ พวกเขามองข้ามไปว่า อาการติดโทรศัพท์นี้ไม่เข้าใครออกใคร และตัวพวกเขาเองก็มีโอกาสที่จะติดโทรศัพท์พอๆ กับลูกของตัวเอง ซึ่งเด็กๆ เอง ก็สามารถน้อยใจพ่อแม่ที่ติดโทรศัพท์ พอๆ กับที่พ่อแม่น้อยใจลูกๆ ได้เหมือนกัน
อาการติดโทรศัพท์ของพ่อแม่ในลักษณะนี้เรียกว่า Parental Phubbing และมันอาจสร้างผลกระทบที่อันตรายให้กับลูกๆ มากกว่าผู้เป็นพ่อแม่เองเสียอีก
Phubbing ภัยอันตรายครั้งใหญ่ต่อความสัมพันธ์
ก่อนจะไปทำความรู้จัก Parental Phubbing เราควรรู้จักกับพื้นฐานของมันก่อน ซึ่งก็คือคำว่า “Phubbing” หรือ “Phone Snubbing” ที่เอาไว้นิยามพฤติกรรมที่คู่รักใช้เวลาอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์มือถือมากเกินไป แทนที่จะให้ความสนใจกับคู่ของตัวเองที่อยู่ตรงหน้า จนเป็นเหตุให้เกิดปัญหาในความสัมพันธ์ ไปจนถึงเลิกรากันเลยทีเดียว
มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Computers In Human Behavior บอกว่า พฤติกรรมการ Phubbing นี้ไม่ว่าเราจะเป็นผู้กระทำหรือถูกกระทำการก็ตาม ต่างก็มีความเห็นตรงกันว่า ถ้าหากความสัมพันธ์ใดเกิดพฤติกรรม Phubbing ขึ้นมา
มันหมายความว่าความสัมพันธ์นี้กำลังน่าเป็นห่วง โดยกว่า 46% ของผู้เข้าร่วมงานวิจัยนี้เผยว่า เคยถูกเมินจากคนรักของพวกเขาที่กำลังง่วนอยู่กับการเช็กโทรศัพท์มือถือ นอกจากนั้น กว่า 22% ในคนกลุ่มนั้นบอกว่า Phubbing ทำให้เกิดปัญหาในความสัมพันธ์ ซึ่งมันทำให้คนใดคนหนึ่งเกิดความรู้สึกไม่พอใจอีกฝ่ายมากขึ้นเรื่อยๆ
เท่านี้เราก็จะเห็นได้แล้วว่าพฤติกรรมการ Phubbing นั้นไม่ใช่พฤติกรรมที่ส่งสัญญาณ หรือสื่อสารสิ่งดีๆ ออกไปเลย ไม่ว่าจะเป็นผู้ทำ หรือโดนกระทำ
Parental Phubbing เรากำลังทำร้ายลูกของเราอยู่หรือเปล่า?
Parents นั้นหมายถึง ผู้ปกครอง หรือพ่อแม่ ซึ่งพอนำมารวมกับคำว่า Phubbing เป็น Parental Phubbing นั่นหมายถึงพฤติกรรมการติดโทรศัพท์มากเกินไปของพ่อแม่ จนละเลยความสนใจที่พวกเขาควรจะมอบให้กับลูก โดยมีการวิจัยที่ตีพิมพ์ลงใน Journal of Pediatric Nursing นั้นพบว่า ผู้ปกครองเกือบ 70% ยอมรับว่า พวกเขาเองก็เคยใช้เวลาอยู่กับหน้าจอเยอะเกินไป ในช่วงเวลาที่พวกเขาต้องอยู่กับลูก
ซึ่ง Parental Phubbing ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทำร้ายเด็กๆ ทางกายภาพ แต่มันก็มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กๆ อยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อเด็กๆ เห็นว่าพ่อแม่นั้นเลือกที่จะสนใจโทรศัพท์มือถือของตัวเองมากกว่าพวกเขา เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่คู่ควร โดดเดี่ยว ถูกปฏิเสธ และไม่มีความเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เป็นเหตุให้เด็กที่มีความรู้สึกแบบนี้ จะพยายามเรียกร้องความสนใจด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะด้วยวิธีที่ดีหรือแย่ก็ตาม
นอกจากนั้น Xioachun และ Julan Xie คู่รักนักวิจัยชาวจีนที่เชี่ยวชาญเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการใช้สื่อ กับสุขภาพจิตของวัยรุ่น ได้ตีพิมพ์บทวิจัยเกี่ยวกับ Parental Phubbing ใน Journal of Adolescence ว่า เมื่อพ่อแม่ชอบใช้โทรศัพท์มากกว่าใช้เวลาอยู่กับลูก มันอาจทำให้ลูกมีความรู้สึกซึมเศร้า (Depression) มากขึ้น เป็นความรู้สึกว่าพวกเขาถูกละเลยทางอารมณ์ จนเกิดเป็นความวิตกกังวล (Anxiety) มีปัญหาทางด้านการเรียน จนถึงอย่างแย่ที่สุดก็คือการใช้สารเสพติด และรุนแรงไปถึงการจบชีวิตของตัวเองอีกด้วย
เมื่อเตือนลูกแล้ว อย่าลืมเตือนตัวเอง
โดยเฉลี่ยแล้ว คนส่วนใหญ่หยิบโทรศัพท์มือถือของตัวเองขึ้นมาเช็กประมาณ 60 ครั้งต่อวัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไรในสังคมปัจจุบันที่เราต้องออนไลน์อยู่ตลอดเวลา ทั้งยามทำงาน และยามพักผ่อน แต่ก็ยังมีมาตรการป้องกันที่บรรดาพ่อแม่สามารถนำไปใช้ เพื่อให้แน่ใจว่าตัวเองจะสามารถให้เวลาที่มีคุณภาพกับลูกของตัวเองตามที่พวกเขาต้องการ
วิธีที่แก้ปัญหาได้ตรงประเด็นที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรม Parental Phubbing ก็คือพ่อแม่ต้องเลิกเล่นโทรศัพท์โดยสิ้นเชิงเมื่ออยู่กับลูก โดยเฉพาะกับวัยรุ่น ที่นานๆ ทีจะยอมมาสังสรรค์เปิดใจคุยเรื่องราวต่างๆ กับพ่อแม่ของตัวเอง ยิ่งต้องให้ความสนใจกับเขามากเป็นพิเศษ เพราะว่าถ้าพลาดแบบไม่รู้ตัวเพียงไม่กี่ครั้ง วัยรุ่นก็อาจจะเกิดความรู้สึกไม่อยากเปิดใจกับพ่อแม่ไปอีกหลายปีเลยก็ได้
ซึ่งถ้าใครสามารถเลิกเล่นโทรศัพท์ในเวลาที่อยู่กับลูกๆ ได้อย่างสิ้นเชิงนั้นย่อมเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าใครทำไม่ได้นั้นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจ เพราะฉะนั้นลองใช้วิธีเหล่านี้ดูได้เช่นกัน
1. ปิดเสียง และเปิดโหมด Do Not Disturb เมื่ออยู่กับลูก
การได้ยินการแจ้งเตือนทางโทรศัพท์คือต้นเหตุสำคัญของความไขว้เขวที่จะมารบกวนเวลาระหว่าง พ่อ-แม่-ลูก เพราะฉะนั้น ลองปิดเสียง และเปิดโหมด Do Not Disturb เพื่อเป็นการลดเสียงรบกวนจากโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะช่วยให้พ่อแม่สามารถจดจ่อกับสิ่งสำคัญที่อยู่ตรงหน้าได้ ซึ่งในที่นี้ก็คือลูกๆ
2. มีพื้นที่ปลอดโทรศัพท์
ถ้าเราต้องการใช้เวลาที่มีคุณภาพร่วมกันระหว่างพ่อ-แม่-ลูก ลองจัดตั้งพื้นที่บางส่วนของบ้านให้เป็นพื้นที่ปลอดโทรศัพท์ ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด ห้องกินข้าว หรือแค่บนโต๊ะกินข้าวก็ได้ ทำให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่จะไม่มีโทรศัพท์มารบกวน โดยอาจจะมีกล่องเอาไว้ใส่โทรศัพท์ก่อนที่จะทุกคนจะมาทานข้าวร่วมกันก็เป็นวิธีที่ดีเช่นกัน
3. ตั้งเวลาการใช้โทรศัพท์ของตัวเอง
พ่อแม่สามารถตั้งเวลาการใช้โทรศัพท์ของตัวเองเหมือนกับที่ทำให้ลูกๆ ก็ได้ บอกกับลูกว่า ในอีกหนึ่งชั่วโมง พ่อแม่จะอยู่กับพวกเขาแบบ 100% โดยไม่มีอะไรมากั้น ซึ่งจะส่งผลดีทั้งตัวลูก และตัวพ่อแม่เองด้วย
ท้ายที่สุดแล้ว เราไม่สามารถทิ้งโทรศัพท์มือถือของเราได้ เพราะเราใช้ชีวิตอยู่ในยุคโทรศัพท์มือถือเป็น “สิ่งจำเป็น” เพราะฉะนั้น ในฐานะพ่อแม่ เราต้องพยายามหาวิธีการใช้โทรศัพท์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ได้ลดความสำคัญของสมาชิกในครอบครัวอย่าง “ลูก ๆ” ด้วยเช่นกัน
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society
โฆษณา