1 ก.ค. 2022 เวลา 11:56 • การตลาด
สรุป ประวัติศาสตร์การตลาด ทั้งหมด 5 ยุค ที่ควรรู้
2
ปัจจุบันคำว่า “การตลาด” น่าจะเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด ชนิดที่ว่าเป็นดั่งเงาตามตัว
เพราะเอาแค่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ก็มักจะมีแต่ป้ายโฆษณา, ป้ายโปรโมชัน อยู่ทุกที่ตั้งแต่ป้ายรถเมล์ไปจนถึงหลังประตูห้องน้ำสาธารณะ
ยังไม่นับเวลาที่เราท่องโลกโซเชียลมีเดีย ก็มักจะมี Ads โผล่มาทักทายเรา มากกว่าที่เราจะเห็นเรื่องราวของเพื่อนจริง ๆ ของเราบนโซเชียลมีเดียเสียอีก..
1
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาก็คือส่วนหนึ่งของ “การตลาด” ที่หลาย ๆ แบรนด์ ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ไปตามยุคสมัย เพื่อให้สินค้าและบริการของพวกเขา มีโอกาสถูกเห็น และสร้างยอดขายให้ได้มากที่สุด
แล้วเคยสงสัยกันไหมว่า กว่าจะมาเป็นการตลาดที่แทบจะทำนายแนวโน้มพฤติกรรมของเรา ตั้งแต่ตื่นนอนจนก้าวเท้าออกจากบ้าน หรือรู้ถึงสิ่งที่เราอาจกำลังนึกอยากได้อยู่.. อย่างทุกวันนี้
จุดเริ่มต้นของ “การตลาด” มันมีที่มาจากตรงไหน และมีวิวัฒนาการเป็นอย่างไร ?
โดยเรื่องนี้คุณ Philip Kotler นักการตลาดชื่อดัง ได้ให้คำนิยามของคำว่าการตลาดในแต่ละยุคไว้ได้อย่างน่าสนใจ
1
เริ่มจาก Marketing 1.0
ยุคที่ “สินค้า” คือทุกอย่างของธุรกิจ (Product Centric)
1
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1950 ในยุคที่ไม่มีแบรนด์ ไม่มีข้อมูลใด ๆ ให้วิเคราะห์มากนัก มีแต่เครื่องจักรที่พร้อมจะผลิตสินค้าออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ต้นทุนถูกที่สุดเท่านั้น
โดยทฤษฎีการตลาดที่ถูกยกมาใช้บ่อย ๆ ในยุคนั้นคือ “4P” กลยุทธ์ที่ว่าด้วยเรื่องของ สินค้า (Product), ราคา (Price), ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place), การส่งเสริมการตลาด (Promotion)
ซึ่ง P ที่ถูกให้ความสำคัญมากที่สุดคือ สินค้า (Product)
จึงทำให้สินค้าในยุคนั้นจะถูกคิดและออกแบบมาโดย “ผู้ผลิต” ฝั่งเดียวเท่านั้น ภายใต้ความเชื่อที่ว่า “สินค้าที่ดี ย่อมมีคนซื้อ”
ทำให้ผู้ผลิตในยุคนี้ต่างพยายามผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงมาแข่งขันกัน
ซึ่งสินค้าคุณภาพสูงที่ว่านี้ ถ้ายิ่งผลิตได้เยอะ ต้นทุนต่อหน่วยของสินค้าก็จะยิ่งต่ำลง และจะทำให้สามารถแข่งขันด้านราคา (Price) ได้นั่นเอง
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ ถ้าผู้ผลิตจะแข่งขันในตลาดยาสีฟัน ยาสีฟันในยุคนั้นก็จะแข่งกันผลิตในปริมาณมาก ๆ (Mass) และขายในราคาถูกนั่นเอง..
ผลลัพธ์ก็คือ การคิดแทนผู้บริโภคไม่ได้ส่งผลดีเสมอไป เพราะไม่ใช่ว่าสินค้าเพียงชนิดเดียว จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ครบทุกกลุ่ม
2
เหมือนกับที่ผู้บริโภคทุกคนไม่ได้ต้องการยาสีฟันที่หลอดใหญ่ที่สุด ราคาถูกที่สุด หรือมีคุณสมบัติเหมือนกันไปหมด
2
จึงนำไปสู่ยุคของ Marketing 2.0 ยุคที่สินค้าถูกออกแบบจากลูกค้า (Customer Centric)
2
เมื่อสินค้าชนิดเดียวกัน ไม่ได้เหมาะกับทุกคน ดังนั้นเหล่าผู้ผลิตจึงได้เลิกแนวคิดที่ว่า จะผลิตสินค้าออกมาเพื่อขายให้แก่ผู้บริโภคทุกคน
 
ดังนั้นการตลาดในยุคนี้ จึงได้เริ่มมีการกำหนด Segment ของผู้บริโภค มีการกำหนด Positioning ของแบรนด์ และนำไปสู่การพัฒนาสินค้า เพื่อนำมาขายให้แก่ผู้บริโภค ที่มีความชอบและมีรสนิยมแตกต่างกันนั่นเอง
1
จึงทำให้ในยุคนี้เรามักจะเห็นสินค้ามีรสชาติ, สูตร, ขนาด, แพ็กเกจจิง ฯลฯ ให้ผู้บริโภคเลือกมากขึ้น
ถ้าหากยกตัวอย่างในตลาดยาสีฟัน จากที่แข่งขันกันแบบในยุค Marketing 1.0 จะกลายมาเป็นยาสีฟันที่แข่งขันกันด้วย ขนาดที่หลากหลาย รวมไปถึงสูตร และรสชาติต่าง ๆ ที่เหมาะกับผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มมากขึ้น
อีกทั้งยุคนี้ยังเป็นยุคแรก ๆ ที่มีการแบ่งกลุ่มเป้าหมายของลูกค้า ออกเป็น 3 ระดับ (Mass, Segment, Niche)
และยังเป็นยุคแรก ๆ ที่เริ่มมีการทำ CRM หรือการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์และลูกค้า เพื่อหวังให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำอีกด้วย
2
จนกระทั่งการมาของกลุ่มคน Gen Y เจนที่ค่อนข้างมีการศึกษาที่ดี จากระบบการศึกษาที่พัฒนาขึ้นตามยุคสมัย จึงทำให้คนเจนนี้มีความมั่นใจในตัวเอง และชอบตั้งคำถามอยู่เป็นประจำ เกี่ยวกับสิ่งของรอบตัวอยู่เสมอ
1
ส่งผลให้การตลาดแบบเน้นขายแต่สินค้าแบบ Marketing 2.0 ไม่ค่อยจะถูกใจคนเจนนี้สักเท่าไร
เลยมาสู่ยุค Marketing 3.0 ยุคที่การตลาดต้องยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human Centric)
ในยุคนี้แต่ละแบรนด์จะทำการตลาดภายใต้ชุดความคิดที่ว่า ลูกค้าก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่มีความรู้สึกนึกคิด
และไม่ได้ต้องการแค่สินค้าไปใช้งานเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว แต่สินค้าจะต้องส่งมอบคุณค่าบางอย่างให้กับผู้บริโภคด้วย
ดังนั้นกลยุทธ์ที่ใช้แข่งขันในยุค Marketing 3.0 จะเป็นการวาง Position ของแบรนด์ให้มีภาพลักษณ์แตกต่างกัน (Brand Image) ทำให้เราเริ่มเห็นแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์หรูหรา, แบรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อม หรือจุดเด่นต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นในยุคนี้
1
ส่งผลให้แบรนด์ต่าง ๆ ถึงแม้จะขายสินค้าชนิดเดียวกัน แต่ก็มีภาพลักษณ์ในสายตาของผู้บริโภคที่ไม่เหมือนกัน..
1
เช่น รถยนต์ Mercedes-Benz ไม่ได้ขายเพียงรถยนต์ที่ใช้ขับขี่ได้เท่านั้น แต่ยังขายคุณค่าด้านภาพลักษณ์ให้กับผู้ขับขี่ที่หรูหรา และน่าเชื่อถือกว่าแบรนด์ทั่วไป
หรือ Starbucks ที่ไม่ได้ขายแค่กาแฟ แต่แบรนด์พยายามขายคุณค่าในการเป็น “บ้านหลังที่ 3” ให้กับลูกค้าด้วยนั่นเอง..
และด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ส่งผลให้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง, สมาร์ตโฟน และโซเชียลมีเดีย เริ่มเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น
2
ในที่สุดก็นำพาการตลาดมาสู่ยุค Marketing 4.0 หรือจุดกำเนิดของ Digital Marketing
เพราะสื่อจากยุคเก่า เริ่มสื่อสารไปไม่ถึงผู้บริโภคยุคใหม่อีกต่อไป จึงเป็นจุดสำคัญที่หลายแบรนด์หันมาทำการตลาดบนโลกออนไลน์กันมากขึ้น
1
และสิ่งที่จะทำให้สารของแบรนด์สื่อไปถึงผู้บริโภคยุคใหม่ได้ดีที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น “คอนเทนต์” จนกลายเป็นวลีฮิตที่ว่า “Content is king”
ซึ่งชนิดของคอนเทนต์ที่แบรนด์ใช้สื่อสาร ก็จะแยกไปตามชนิดของแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น วิดีโอสั้นบน TikTok, บทความบน Facebook, วิดีโอยาว หรือวิดีโอแนะนำสินค้าบน YouTube, พอดแคสต์บน Spotify
1
และด้วยพลังของโซเชียลมีเดียนี้เอง ที่ทำให้ผู้บริโภคหลายคน สามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ต่าง ๆ ด้วยตัวเองได้มากกว่าเดิม
และการทำคอนเทนต์โฆษณาตรง ๆ จากแบรนด์ อาจจะไม่ได้ผล 100%
หรือพูดง่าย ๆ ว่า ผู้บริโภคเริ่มเชื่อสารที่ส่งตรงจากแบรนด์น้อยลง แต่เชื่อตัวเอง และข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตมากขึ้น
จึงทำให้หลายแบรนด์เลือกใช้ “อินฟลูเอนเซอร์” (บุคคลที่มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์) ในการสื่อสารควบคู่กันไปด้วย
โดยมีผลสำรวจว่า ผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียนั้น มีแนวโน้มติดตามอินฟลูเอนเซอร์ ถึง 70% และอีก 76% มีแนวโน้มซื้อสินค้าที่แนะนำจากอินฟลูเอนเซอร์ ที่พวกเขาติดตามอีกด้วย
1
อีกทั้งยุคนี้ยังเป็นยุคที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดดเด่นขึ้นอย่างมาก จนบางแบรนด์ถึงกับปิดหน้าร้าน แล้วโยกย้ายไปใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซเป็นช่องทางหลัก ในการขายสินค้าไปเลย ซึ่งก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ
โดยถ้าจะยกตัวอย่าง Marketing 4.0 กับธุรกิจยาสีฟันให้เห็นภาพ ก็คงเป็นยาสีฟันที่มีการใช้ อินฟลูเอนเซอร์ มารีวิว และมีช่องทางการจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์ม Shopee, Lazada และเว็บไซต์ของแบรนด์เอง
1
สุดท้ายมาถึงยุคปัจจุบัน และอนาคตอันใกล้ อย่าง Marketing 5.0 ยุคทองของ Data หรือ ข้อมูล
นอกจากการมาของโซเชียลมีเดีย และแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น แพลตฟอร์มสตรีมมิงแล้ว
ตอนนี้อุปกรณ์ที่รองรับเทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่างแว่นตา AR/VR และ AI รวมถึงเซนเซอร์ในอุปกรณ์ไอที (IoT) ที่ใช้ตรวจวัดค่าต่าง ๆ เริ่มมีราคาที่ถูกลง และเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ต่างจากที่สมาร์ตโฟนเคยทำ
4
อีกทั้งการซื้อของและจ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์ ก็กลายเป็นเรื่องปกติ ที่แม้แต่อาม่าข้างบ้านก็สามารถทำได้
จึงไม่แปลกที่จะมี “ข้อมูล” มหาศาลจากคอนเทนต์ พฤติกรรม และธุรกรรมต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ จะถูกสร้างและจัดเก็บมากขึ้นทุกวัน
2
และเมื่อข้อมูลถูกจัดเก็บมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะส่งผลให้แบรนด์ต่าง ๆ สามารถนำไปวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค และเทรนด์การตลาดได้แม่นยำมากขึ้น..
1
ชนิดที่สามารถรู้ได้ว่า ลูกค้าคนไหนต้องการสินค้าอะไร และต้องการเมื่อไร
ก่อนที่ลูกค้าคนนั้นจะรู้ตัวเอง ว่าอยากได้อะไรเสียอีก..
จึงไม่แปลกที่หลายคนจะเริ่มสงสัยว่า โดนโทรศัพท์มือถือของตัวเองดักฟังอยู่หรือเปล่า..
ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นผลมาจากข้อมูลจำนวนมาก ที่ทั้งเกี่ยวข้องกับเราโดยตรงและโดยอ้อม ถูกนำมาประมวลผลด้วย AI หรืออัลกอริทึมอันซับซ้อน จนเกิดเป็นผลลัพธ์ที่แม่นยำเท่านั้น
สรุปก็คือการแข่งขันในยุคนี้ จะเป็นยุคที่แต่ละแบรนด์ต่างนำประโยชน์จากเทคโนโลยี และข้อมูลมหาศาล (Big Data) มาใช้ประโยชน์ หรือประมวลผลเพื่อใช้สร้าง Customer Journey และประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าแต่ละคน
2
ยกตัวอย่างเช่น IKEA ใช้เทคโนโลยี AR ช่วยจำลองเฟอร์นิเจอร์ 3 มิติขนาดจริงในบ้านของลูกค้า
Netflix ที่มีการทำ Personalized คอนเทนต์ ให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละคน ด้วยเทคโนโลยี AI และข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้า
1
ดั่งสมการที่คุณ Philip Kotler ได้ให้ไว้ คือ
Human + Data + Technology + Platform + Analyze = Marketing 5.0 นั่นเอง
2
สุดท้าย ถึงแม้ว่ากลยุทธ์การตลาดนั้น จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่อย่างไรก็ตามใช่ว่าเทคนิคที่เคยใช้ในยุคเก่า ๆ จะนำกลับมาใช้ไม่ได้แล้วในปัจจุบัน
ยกตัวอย่างเช่น ทฤษฎีอมตะอย่าง 4P ก็ยังเป็นกลยุทธ์ที่ดี และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสินค้าในยุคปัจจุบันได้เสมอ
หรือแนวทาง Human Centric (การออกแบบสินค้าโดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง) ในยุค Marketing 3.0 ก็ยังเป็นแนวทางที่ใช้ได้ดีในปัจจุบัน
เช่น Apple ที่เข้าใจว่าไม่มีมนุษย์คนไหนชอบถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัว จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
3
ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของนักการตลาด ที่จะต้องค้นหาให้ได้ว่า สินค้าแต่ละชนิดเหมาะกับการตลาดแบบไหน
และกลุ่มเป้าหมายจริง ๆ ของแบรนด์คือใคร
ซึ่งยุคนี้ เราก็มีสิ่งที่เรียกว่า “Data” มาช่วยทำให้คำตอบมันชัดเจนขึ้น เพียงแค่รอให้ใครบางคนมาใช้มันให้ถูกวิธี..
โฆษณา