3 ก.ค. 2022 เวลา 08:54 • ความคิดเห็น
**การหลอมรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอาเซียน**
พาไปรู้จักผู้กำกับภาพยนตร์คนดังของอาเซียนตอนนี้ เป็นชาวมาเลเซียชื่อ เอ็ดมันด์ โยว์ คนที่ชอบดูหนังญี่ปุ่น น่าจะผ่านตาผลงานล่าสุดของเขาไปไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คือเรื่อง Moonlight Shadow หรือ ชื่อไทย “ปาฏิหารย์รักใต้เงาจันทร์”
ช่วงนี้ เอ็ดมันด์อยุ่ที่ประเทศไทย เพราะกำลังอยุ่ในช่วง Post-production ของภาพยนตร์ที่เขาอำนวยการสร้าง ที่ถ่ายทำในมาเลเซีย มีนักแสดงนำเป็นชาวอินโดนีเซีย ในขณะที่ช่างภาพ และงานอีกหลายส่วนทำโดยคนไทย
ภาพยนตร์ที่ว่านี้ ผ่านการทำเวิร์กช๊อปตัดต่อที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง มีที่ปรึกษาเป็นคนเบื้องหลังชาวฝรั่งเศส นอกจากนี้ งาน animation ที่ใช้ในหนัง ก็ได้นัก animation ชาวอังกฤษที่ปกติทำงานอยู่ที่ญี่ปุ่น มาทำให้
พอเล่าอย่างนี้ ก็น่าจะเห็นภาพการหลอมรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอาเซียนมากขึ้น เอ็ดมันด์บอกว่า 15 ปีที่แล้ว ก็ไม่เป็นไแบบนี้ อยู่บ้านใครบ้านมัน ตอนนี้คุยกันเรื่องทำหนัง ถ้าจะมีใครพูดขึ้นมาว่ามาไปประเทศโน้น ประเทศนี้ในอาเซียน ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดา เขามองว่ามันคือการดึงคนเก่ง ๆ จากประเทศต่าง ๆ มาทำงานร่วมกัน ทั้งความสามารถทั้งทรัพยากร
ระหว่างการสัมภาษณ์เมื่อ 28 มิถุนายน 2565
"ผมคิดว่าในช่วง 10 - 15 ปีที่ผ่านมา คนทำหนังจากประเทศอาเซียนได้มาทำงานด้วยกันบ่อย ๆ โดยเฉพาะ พวกเราส่วนใหญ่ทำโพสต์โปรดักชั่นในประเทศไทย"
ความเป็นประเทศอาเซียน เดินทางไปมาถึงกันสะดวก ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างและเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่ก็ยังมีความคล้ายคลึงในบางแง่มุม และนั่นคือสิ่งที่เอ็ดมันด์คิดว่าทำให้คนเก่ง ๆ จากหลายประเทศทำงานด้วยกันได้ดี
แน่นอนว่า ก็ต้องมีการปรับตัว เรื่องการทำงานให้เข้ากัน แต่เขามองว่ามันก็เป็นเรื่องความเคารพที่มีให้กันด้วย ไม่ใช่ว่าไปทำงานที่ประเทศไหนแล้วจะไม่พยายามเข้าใจคนที่นั่น หรือยกเอามาตรฐานของตัวเองไปตั้ง เขามองว่าทุกคนต้องเรียนรู้กันและกัน
"และผมคิดว่านั่นคือความดีงามของมันนะครับ เวลาที่เราทำงานกับคนเก่ง ๆ ผืนผ้าใบก็ขยายใหญ่ขึ้น ผมคิดว่าเราก็จะเติบโตไปด้วยกัน แน่นอนว่าในทางประวัติศาสตร์ แต่ละประเทศมีเรื่องราวที่ต่างกัน เราผ่านอะไรมาที่แตกต่างกัน และผมคิดว่านั่นทำให้อาเซียนมีความสวยงาม เรามีเรื่องเล่าที่ไม่เหมือนกัน"
สำหรับเอ็ดมันด์ ความเป็นพหุวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เขาคุ้นเคย เกิดที่ประเทศสิงคโปร์ ในครอบครัวมาเลเซีย ซึ่งเดินทางต่างประเทศบ่อย เอ็ดมันด์บอกว่า การเดินทางทำให้เขาเกิดความสงสัยกับโลกภายนอก และภาพยนตร์คือเหมือนเป็นสื่อให้เขาเรียนรู้โลก
"พ่อแม่ของผมเคยเดินทางเพราะงานบ่อยมาก ๆ ผมเลยมีโอกาสได้เดินทางไปด้วย ผมคิดว่านั่นช่วยผมนะ ทำให้ผมมีความสงสัยกับโลกภายนอกมากขึ้น และนั่นก็คงเป็นเหตุผลว่าทำไมผลหลงรักภาพยนตร์ตั้งแต่เด็ก มันเคยเป็นวิธีที่ผมเรียนรู้เกี่ยวกับโลก เราสงสัยเมื่อเราดูหนังฮ่องกง หนังญี่ปุ่น หนัวฮอลลีวูด “ว้าว! ญี่ปุ่นเป็นแบบนี้เองเหรอ” ผมคิดว่า การที่โตมาแบบนั้น การได้สัมผะสงานวรรณกรรมแบบที่ผมได้พบเห็น เลยกลายมาเป็นวิธีเล่าเรื่องของผมแบบนี้
เอ็ดมันด์มองว่า ภาพยนตร์อาเซียนเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง หลัง ๆ มานี้ เราได้เห็นภาพยนตร์จากอาเซียนในเทศกาลหนังใหญ่ ๆ ของโลกมากขึ้น อย่างเช่น “Anatomy of time” จากประเทศไทย หรือ “Vengeance is mine, all others pay cash” จากอินโดนีเซีย และเขามองว่าเราก็น่าจะได้เห็นภาพยนตร์จากภูมิภาคนี้ในเวทีโลกมากขึ้นอีก เขาบอกว่าเรื่องภาษาไม่ใช่อุปสรรค แต่เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง "ผมคิดว่าในที่สุดแล้ว ภาษาของเราเหมือนกัน ภาษาของเราคือภาพยนตร์ ดังนั้นเราสื่อสารกันด้วยอารมณ์มากกว่าคำพูด"
สำหรับผลงานที่เขาเป็นผู้อำนวยการสร้าง ครั้งนี้ไม่ได้กำกับเอง กำลังทำ post-production อยู่ในประเทศไทย ชื่อ Stone Turtle เป็นภาพยนตร์ที่ปรับแต่งมาจากเรื่องเล่าทางตอนเหนือของมาเลเซีย เกี่ยวกับผู้อพยพชาวอินโดนีเซียบนเกาะแห่งหนึ่ง ที่หาเลี้ยงชีพด้วยการขโมยไข่เต่าไปขาย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
ภาพยนตร์น่าจะพร้อมฉายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และเขาหวังว่าจะได้มาเข้าโรงที่ประเทศไทยเหมือน Moonlight Shadow ของเขาด้วย
"มันเป็นการผสมผสานของความสามารถจากประเทศต่าง ๆ นะครับ ก็จะเข้าฉายที่เทศกาลภาพยนตร์ก่อน และหวังว่า ผมหวังว่าจะเหมือนที่เกิดขึ้นกับ Moonlight Shadow เมื่อตอนต้นปี คือเราจะได้เอาภาพยนตร์เรื่องนี้มาฉายที่ไทยครับ"
สัมภาษณ์พิเศษโดย กีรติกร นาคสมภพ เบลาว์
โฆษณา