9 ส.ค. 2022 เวลา 08:19 • ธุรกิจ
Journey 12: : Amazing ตลาดยาในกัมพูชา By : วิลาสินี แจ่มอุลิตรัตน์
✏️ การใช้ชีวิตในกรุงพนมเปญของผู้เขียนเป็นเวลากว่า 5 ปี แน่นอนจะต้องมีป่วยบ้างเล็กๆ น้อยๆ ตามโอกาส ที่เป็นบ่อยที่สุด คือ ไข้หวัด ปวดหัว ตัวร้อน น้ำมูกไหล ไอจาม แพ้อากาศค่ะ จริงๆ เราก็เตรียมยามาจากเมืองไทยมาเยอะในระดับนึงแล้วนะ เพราะคิดว่าถ้ามาป่วยที่กัมพูชาน่าจะลำบากแน่ๆ คงไม่รู้จะไปซื้อยาที่ไหน หาหมอก็คงคุยกันไม่รู้เรื่องอธิบายอาการไม่ถูกอีก แย่กันไปใหญ่....นี่คือที่เราคิดจินตนาการไว้ แต่จริงๆ แล้วนั้น ขอบอกเลยว่า....ผิดถนัดค่ะ
วันนี้เลยอยากจะมาเล่าสู่กันฟังว่า...เวลาป่วย คนกัมพูชาเค้าทำยังไงกัน...วิถีชีวิตเค้าเหมือนเราไหมน้า...จะเล่าให้ฟังค่ะ 💉💊🩹🩺
เริ่มกันตั้งแต่ภาพรวมระบบสาธารณสุขในกัมพูชากันเลย ซึ่งยังถือว่าอยู่ในระหว่างการพัฒนา ประชาชนที่เจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยส่วนใหญ่จะไปซื้อยามาทานเองจากร้านขายยา โรงพยาบาลส่วนใหญ่ที่เป็นของรัฐบาลไม่มีงบประมาณมากพอจึงไม่มีการเก็บกักตุนยาไว้ในคลังของโรงพยาบาลมากนัก ส่วนใหญ่จะทำการรักษาและให้ยาในเบื้องต้น หากต้องรักษาต่อด้วยการกินยาทางโรงพยาบาลจะเขียนใบสั่งยาและให้ผู้ป่วยไปซื้อจากร้านขายยาเอง...จะไม่เหมือนเมืองไทยนะคะ ที่กัมพูชาไม่มีการจ่ายยาจากทางโรงพยาบาลนะคะ (กรณีโรงพยาบาลรัฐบาล)
แล้วถ้าเวลาคนกัมพูชาส่วนใหญ่ป่วยเค้าจะเข้ารักษาตัวยังไงนะ 🤔
✒️สำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้สูงส่วนใหญ่จะเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนหรือบินไปรักษาตัวในประเทศใกล้เคียง เช่น ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ และจีน
เมื่อผู้ป่วยจะต้องหาซื้อยาเอง...ที่นี่จึงมีแหล่งซื้อยา...อยู่บริเวณตลาดโอลิมปิก ( ตลาดนี้เป็นตลาดขายส่งสินค้าทุกชนิด ตั้งแต่ พืชผัก ผลไม้ เสื้อผ้า เครื่องสำอางและของใช้ต่างๆ รวมไปถึงยารักษาโรคและอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วยค่ะ) ซึ่งบริเวณตลาดโอลิมปิกนี้ จะมีร้านขายยารวม ๆ กัน แล้วมากกว่า 50 ร้านเลยที่เดียว วิธีการซื้อยาก็มีทั้ง ซื้อตามใบสั่งแพทย์ หรือบอกอาการให้พนักงานขาย (ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นเภสัช) แล้วเค้าจะไปหยิบยามาให้เราค่ะ....แค่นั้น จบเลย
แหล่งร้านขายยา ณ ตลาดโอลิมปิก
✏️จากประสบการณ์ของผู้เขียน...ครั้งแรกที่ต้องไปซื้อยาใน Style คนท้องถิ่น 🤪
นั่นคือ ตอนป่วยเป็นไข้หวัด มีอาการไอ เจ็บคอ มีเสมหะและน้ำมูกไหล ทุกอย่างมาครบค่ะ และตอนนั้นยาที่เอาไปจากเมืองไทยหมดแล้ว พี่ local staff คนท้องถิ่น เลยพาไปซื้อยาพอไปถึงร้านขายยา
📌งงครั้งที่ 1 🤔 คนเยอะมากยังกะ supermarket มีของ sale ประมาณนั้นเลยค่ะ เมืองไทยเราไม่ใช่แบบนี้ ต่อด้วย
📌งง ครั้งที่ 2 🤔 พอบอกอาการไปก็คิดว่าคงจะจ่ายยาให้เราแบบเมืองไทย คือ ยาสารพัดชนิด แต่เปล่าค่ะ....พอเค้าฟังอาการเราจบ เค้าหยิบกล่องยามาให้กล่องนึง ข้างในมียา 1 แผง ในแผงบอกว่าให้กิน 5 วัน วันละ 4 เวลา มีตัวหนังสือกำกับไว้เลยที่แผงยา เราก็ย้ำเค้าว่าอาการเราเยอะนะ แค่นี้จะพอเหรอ เค้าบอกว่า...พอ กินแค่นี้แหละ ‼️
📌งง ครั้งที่ 3 🤔 อาการที่เป็นอยู่หายตามที่เค้าบอกเลยค่ะ....ไม่น่าเชื่อ
🔊 ลืมบอกไปค่ะ...ยาที่เค้าจ่ายมาให้นั้น ส่วนใหญ่เป็นยานำเข้ามาจากต่างประเทศนะคะ
หลังจากนั้นเป็นต้นมา...ร้านขายยาจะเป็นอีกแหล่งที่ผู้เขียนชอบไปมาก...ไม่ใช่เพราะป่วยนะคะ แต่ไปเพราะ...พบว่า ร้านขายยาที่นี่ นอกจากยาดีๆ จากต่างประเทศแล้ว ยังมี skincare และวิตามินต่างๆ ที่นำเข้ามาจากยุโรป อเมริกา แคนนาดา ออสเตรเลีย อินเดีย รัสเซีย และไทย มากมายสารพัดชนิดให้เลือกซื้อ และที่สำคัญราคาถูกกว่าราคาซื้อในเมืองไทยมากค่ะ
🔶️ ปัจจุบันร้านขายยา 🏥 ในกัมพูชามีทั้งในลักษณะที่เป็นร้านขายยาแบบดั้งเดิมซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณตลาดโอลิมปิก และแบบ Modern Trade คล้ายๆ Watson หรือ Boots นั่นแหละค่ะ แต่ที่นี่จะเป็น ร้าน U-Care เป็นเชนมาจากฝรั่งเศส และร้าน Guardian เป็นเชนมาจากมาเลเซีย ซึ่งจะอยู่ตามห้างสรรพสินค้าหรือแหล่งชุมชนที่มีคนต่างชาติอาศัยอยู่ ดังนั้น หากต้องไปเที่ยวในกัมพูชาแล้วเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ ไม่ต้องห่วงเรื่องยานะคะ อันนี้การันตีเลย หาซื้อยาดีๆ ได้ทั่วไป ตามแหล่งที่บอกได้เลยค่ะ
ร้านขายยาแนว Modern
✏️ ตลาดยาในประเทศกัมพูชา ( ข้อมูลปี 2562) ตอนนี้น่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20%
1. ร้านขายยาที่ขึ้นทะเบียน จำนวน 2,649 แห่ง
2. บริษัทนำเข้าส่งออกยาที่ขึ้นทะเบียน จำนวน 426 บริษัท
3. โรงงานผลิตยา อาหารเสริม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ จำนวน 19 แห่ง
4. จำนวนยาที่ขึ้นทะเบียน จำนวน 22,328 รายการ
📊 สถิติการนำเข้ายา
ในปี 2562 กัมพูชานำเข้ายา (Hs Code 3003, 3004) จากทั่วโลก คิดเป็นมูลค่า 465.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า คิดเป็นร้อยละ 18.71 จากไทยมากเป็นอันดับ 1 ที่มูลค่า 49.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 10 ของการนำเข้ายาจากทั่วโลก ตามด้วยอินเดียที่มูลค่า 44.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ฝรั่งเศส 37.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เวียดนาม 17.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จีน 16.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ 16.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
📚 การจัดซื้อและกระจายยาของภาครัฐ
(1) กรมยาและอาหาร กระทรวงสาธารสุข เป็นหน่วยงานที่ควบคุมการนำเข้า ยารักษาโรค โดยการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ ใบอนุญาตนำเข้า และจดทะเบียนตำรับยา
(2) ยารักษาโรคสามารถนำเข้าโดยบริษัทผู้นำเข้าที่จะทะเบียนเป็นผู้ประกอบกิจการนำเข้าและจำหน่ายยารักษาโรค หรือองค์กรที่ขออนุญาตจากกรมยาและอาหารแล้ว
(3) สถานรักษาพยาบาลของรัฐ จะได้รับยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ส่วนหนึ่งจากการกระทรวงสาธารณสุขผ่านช่วยเหลือจากต่างประเทศ
(4) สถานรักษาพยาบาลของรัฐ แต่ละแห่ง ดำเนินการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์เท่าที่จำเป็นจากผู้นำเข้าเอกชน โดยการเปิดให้เสนอราคา ทั้งนี้ สถานพยาบาลของรัฐ ส่วนใหญ่จะให้บริการแก่ผู้ป่วยเพียงการวินิจฉัยโรคเท่านั้น สำหรับการจ่ายยา จะออกเป็นใยสั่งยาให้กับผู้ป่วยไปซื้อจากร้านขายยาด้วยตนเอง
📜 กฎระเบียบเกี่ยวกับการนำเข้าและจำหน่ายยารักษาโรค อุปกรณ์การแพทย์ อาหารเสริม สมุนไพรหรือยาแผนโบราณ
🔷️ ยารักษาโรค อุปกรณ์การแพทย์ อาหารเสริม สมุนไพรหรือยาแผนโบราณ เครื่องสำอางและอาหาร 💊💉🩹เป็นกลุ่มสินค้าที่ต้องขออนุญาตก่อนนำเข้า โดยต้องปฎิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัด
🏨 กระทรวงสาธารณสุข (Ministry of Health) กรมยาและอาหาร (Department of Drug and Food) เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบเกี่ยวกับ การออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเข้า ส่งออก และจำหน่ายยารักษาโรค อุปกรณ์การแพทย์ อาหารเสริม สมุนไพรหรือยาแผนโบราณ เครื่องสำอางและอาหารรวมถึงการขึ้นทะเบียนสินค้าแต่ละชนิด และการขึ้นทะเบียนโรงงานผู้ผลิตสินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ
สำหรับขั้นตอนการนำเข้ายา แบบคร่าวๆ ก็ตามนี้เลยค่ะ ⬇️
🔶️ มาถึงตรงนี้ หลายท่านคงแปลกใจว่า...แล้วทำไมกัมพูชาจึงมียาดีๆ จากทั่วโลกเข้ามาจำหน่ายให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาดีๆ ได้ง่ายและทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นคนจน คนรวย คนต่างชาติ เมื่อเทียบกับประเทศไทย ทั้งๆ ที่ยาทุกชนิดที่นำเข้าก็ผ่าน อย. ของประเทศเค้าเหมือนกันใช่ไหมค่ะ❓️
🔷️ คำตอบ คือ เนื่องจากระบบสาธารณสุขของกัมพูชายังไม่ดี และกัมพูชายังไม่สามารถผลิตยารักษาโรคใช่เองได้ในประเทศ ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาโรคได้ง่ายและทั่วถึงที่สุด คือ การลดต้นทุนราคายารักษาโรค ให้ทุกคน ทุกระดับฐานะ มีสิทธิ์เข้าถึงได้มากที่สุด โดยการเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำมากหรือไม่เก็บเลยนั่นเองค่ะ จึงส่งผลให้ประชาชนในกัมพูชาได้ใช้ยาคุณภาพดีดี จากทั่วโลก นั่นเองจ้า
เรื่อง : วิลาสินี แจ่มอุลิตรัตน์
ภาพ: Khmer Time, PhmomPenh Post, Voa Cambodia, Facebook Guardian
📌 บทความนี้มาจากประสบการณ์และความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดแต่อย่างใด หากต้องการคัดลอกหรือทำซ้ำ รบกวนติดต่อผู้เขียนก่อนนะคะ 🥰
โฆษณา