8 ก.ค. 2022 เวลา 00:03 • ความคิดเห็น
Dream team นั้นควรมีองค์ประกอบอย่างไร
1
ผมได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือน google ที่ประเทศสิงคโปร์ และได้มีโอกาสฟัง google evangelist ซึ่งถ้าจะแปลเป็นไทยก็จะคล้ายๆคนที่มีหน้าที่เผยแพร่จิตวิญญาณ แนวคิดและวัฒนธรรมองค์กรของกูเกิ้ลให้ทั้งภายในและภายนอกฟัง เขาเล่าอยู่หลายเรื่องแต่เรื่องที่ผมสนใจฟังมากๆก็คือวิธีการที่กูเกิ้ลสามารถมีทีมเล็กๆที่แตกแขนงไปทำงานสร้างสรรค์ใหม่ๆได้ตลอดเวลาถึงแม้จะเป็นบริษัทใหญ่ และคุณคนนี้ก็เล่าให้ฟังถึงห้าองค์ประกอบของทีมที่ดีที่เขาพยายามสร้างกัน
ผมคิดว่าเป็นห้าส่วนที่ใครเป็นผู้นำทีมหรือผู้นำองค์กรควรทบทวนมองดูทีมตัวเองว่ามีอะไรพอใกล้เคียงความเป็นดรีมทีมแบบนี้หรือไม่ น่าลองประเมินกันดูนะครับ
ข้อแรกคือในทีมต้องมีบรรยากาศที่เรียกว่า psychological safety ก็คือว่าสมาชิกในทีมไม่ว่าตัวเล็กหรือใหม่แค่ไหนก็สามารถพูดไอเดียที่ประหลาดๆหรือ unpopular ได้โดยไม่ต้องกลัวคนมองหน้าแปลกๆ ทุกคนยอมรับฟังความเห็นซึ่งกันและกันโดยปราศจากการตัดสินล่วงหน้า ไม่มีความกลัวที่จะ “พูดผิด” หรือรู้สึกด้อยเวลาประชุมกัน ไม่มีเจ้านายที่คอยพูดคำว่า ไอเดียนี้โง่หรือไม่ได้เรื่อง ทุกคนยอมรับความเห็นที่ตัวเองไม่เห็นด้วยได้
ข้อสองที่คนในทีมต้องมีก็คือสิ่งที่เรียกว่า dependability ที่สมาชิกในทีมรู้หน้าที่ตัวเองว่าจะทำงานได้ตามเวลาที่ตกลงกันบนมาตรฐานที่สูงตามที่ในทีมคาดหวัง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานไหลลื่นไม่สะดุด
แต่ส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการที่ทุกคนในทีมเชื่อกันได้ว่าเราสามารถพึ่งพาความรับผิดชอบของคนอื่นที่จะไม่พาเรา “ซวย” ด้วยความเหลวไหลไม่รับผิดชอบด้วย มีความเชื่อใจซึ่งกันและกันเหมือนวิ่งผลัดสี่คูณร้อยที่ต้องทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุดและเพื่อนที่รับไม้ก็ไม่ต้องพะวงหันหลังว่อกแว่กในการรับไม้ต่ออะไรประมาณนั้น
ข้อที่สามนั้น ทีมต้องชัดเจนเรื่อง structure&clarity ก็คือรู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง มีสายการการสั่งการที่ชัดเจน รู้ว่าใครทำอะไร มีเป้าหมาย มีจุดประสงค์อะไรในงาน มีแผนงานที่จะเดินหน้าอย่างไร เห็นพ้องต้องกันว่างาน “สำเร็จ” โดยรวมนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ไม่ใช่ต่างคนเห็นแต่ของตัวเอง แต่เป้าของแต่ละคนก็ต้องชัดเจนเช่นกัน
ข้อที่สี่ ในการที่สมาชิกในทีมจะปล่อยพลังได้อย่างเต็มที่และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีมนั้น สมาชิกทุกคนจะต้องรู้สึกว่าตัวเองมี “meaning” หรือมีความหมายต่อทีม มีประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่จะทำให้งานโดยรวมสำเร็จไม่ว่าจะตัวเล็กแค่ไหนก็ตาม
ข้อที่ห้า งานที่ทุกคนทำอยู่นั้นมีคุณค่าที่จะทำให้รู้สึกว่าทำงานนี้สำเร็จนั้นจะสร้างผลกระทบอะไรบางอย่าง (impact) ต่อฝ่าย ต่อองค์กร ต่อลูกค้า หรือต่อส่วนรวม และสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นมาได้ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหนก็ตาม
ห้าข้อนี้ในกูเกิ้ลเองก็ไม่ใช่จะเป็นแบบนี้ทั้งหมด เพราะโลกนี้เปลี่ยนแปลงเร็วเหลือเกิน การคิดถึงถึง check list นี้เป็นระยะ วัดอุณหภูมิทีมจึงมีประโยชน์ในการสำรวจทีมตัวเองว่าขาดตกบกพร่องอะไรไปหรือไม่ หรือไม่มีข้อไหนบ้าง เพราะการที่จะสร้างทีมที่ทั้งรับผิดชอบ มีความคิดสร้างสรรค์ และลุยงานเกินร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นไม่ง่ายเลย
แน่นอนว่าหลายคนคงอ่านด้วยความเศร้าหมองว่าทำไมทีมเราไม่เป็นแบบนี้ (วะ) หัวหน้าเราไม่มีทางเข้าใจ แต่ในอีกมุมหนึ่งเราเองก็อาจจะเป็นหัวหน้าทีมเล็กๆอยู่ ถ้าหัวหน้าใหญ่เราอาจจะไม่เข้าใจนัก เราเองก็สามารถสร้างทีมเล็กๆของเราสองสามคนก็ได้ให้ได้ใกล้เคียงกับ check list นี้ให้มากที่สุดก็ได้
หรือถ้าอย่างน้อยถ้าเราไม่มีลูกน้องใดๆ การตัดสินใจเลือกเปลี่ยนงานไม่ว่าจะเปลี่ยนในองค์กรหรือจะย้ายงาน นอกจากจะดูผลตอบแทน ตำแหน่งแล้ว การที่ได้อยู่ในทีมที่ดีมีองค์ประกอบใกล้เคียงแบบนี้ก็จะส่งเสริมให้เรามีผลงานและเรียนรู้การทำงานได้มากกว่าทีมห่วยๆเช่นกัน
แต่ถ้าเราเป็นหัวหน้าคน เป็นผู้บริหารที่อยากจะให้องค์กรมีความก้าวหน้า มีทีมที่ดีในการทำงานแล้ว ผมว่าห้าข้อนี้น่าคิดมากในการประเมินทีมตัวเองแล้วหาทางปรับปรุงให้ทีมเล็ก ทีมใหญ่ ทีมผู้บริหารที่มีขยับให้ใกล้เคียง dream team กันให้มากที่สุด ขยับความคิดของตัวเองบ้าง ของคนในทีมบ้าง ขยับคนบ้าง ก็แล้วแต่สถานการณ์ แต่ก็น่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจที่ผันผวนและต้องการทุนมนุษย์ที่แข็งแรงในการแก้ปัญหา หลุดจากกับดักวงจรเดิมและพาองค์กรเติบโตต่อไปได้
แต่ต้องเปิดใจรับฟังกันจริงๆนะครับ …..
โฆษณา