7 ก.ค. 2022 เวลา 00:26 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ตายให้โลกเปลี่ยน
https://en.wikipedia.org/wiki/Max_Planck
มักซ์ พลังค์ (Max Planck) นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน เคยกล่าวไว้ว่า
สัจธรรมทางวิทยาศาสตร์อันยิ่งใหญ่ไม่เคยเอาชัยได้ด้วยการโน้มน้าวใจฝ่ายตรงข้าม และทำให้พวกเขามองเห็นแสงสว่าง แทนที่จะเป็นเช่นนั้น กลับเป็นว่าเพราะฝ่ายตรงข้ามตายไปในที่สุด และคนรุ่นใหม่ที่เติบใหญ่ขึ้นคุ้นเคยกับมันต่างหาก
- Max Planck
คำกล่าวที่ว่าต่อมาเรียกว่าเป็น หลักการของพลังค์ (Planck’s Principle) แต่หลักการที่ว่านี้เป็นความจริงที่กลั่นกรองออกมาจากใจ หรือเป็นแค่มุมมองโลกในแง่ลบของนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังในอดีตคนหนึ่งกันแน่?
นี่ไม่ใช่คำถามที่ถามกันเล่นๆ นะครับ มีนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งที่เอ็มไอที คือ ปิแอร์ แอซูเลย์ (Pierre Azoulay) กับเพื่อนๆ ที่สงสัยเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ และหาทางพิสูจน์ว่า หลักการ (อันที่จริงน่าจะเรียกว่า “สมมุติฐาน (hypothesis)” มากกว่า) นี้จริงแท้แค่ไหน
งานวิจัยของเขาที่ชื่อว่า “วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าคราวละหนึ่งงานศพจริงหรือ (Does Science Advance One Funeral At a Time?” ตีพิมพ์ในวารสาร American Economic Review ปี 2015 (DOI: 10.3386/w21788) ระบุว่า
คำกล่าวนี้ถูกต้อง….อย่างน้อยก็ในสายของงานวิจัยวิทยาศาสตร์ชีวภาพ!
โดยคณะนักวิจัยพบว่า บ่อยครั้งที่มี “นักวิจัยตัวพ่อ” เสียชีวิตลง จะติดตามมาด้วยการเพิ่มขึ้นของการอ้างอิงงานวิจัยของพวกนักวิจัยหน้าใหม่ในสาขานั้นอย่างมากมายจนเห็นได้ชัด
ยิ่งไปกว่านั้น ทุกครั้งที่นักวิทยาศาสตร์ดาวค้างฟ้าสักคนจากไป มักจะมีการตีพิมพ์งานในสาขาย่อยจากสาขาใหญ่ที่นักวิจัยผู้นั้นทำงานอยู่ เพิ่มขึ้นราว 8.6% โดยเฉลี่ย
ข้อน่าสังเกตก็คือ เป็นผลงานตีพิมพ์ที่มาจากกลุ่มวิจัยที่ไม่ได้มีความร่วมมือกับผู้จากไปเหล่านั้น
อีกประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อยคือ เปเปอร์จากพวกหน้าใหม่เหล่านี้กลายมาเป็นงานที่ได้รับความสนใจ และได้รับการอ้างอิงถึงเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับงานวิจัยโดยเฉลี่ย
ในทางกลับกันจำนวนเปเปอร์ของกลุ่มที่เคยร่วมงานด้วยกับผู้ที่เสียชีวิตกลับลดลงถึง 20.7% ทีเดียว!
ตัวนักวิจัยผู้ตีพิมพ์ข้อสรุปนี้มองว่า ข้อสรุปต่างๆ ที่ได้มา ไม่ได้แสดงว่าพวก “ขาใหญ่” จะเลวร้ายอะไร แต่เป็นแค่เพียงว่าการอยู่ระดับบนๆ ของสาขานั้นนานๆ อาจจะมีผลทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะอยู่ดีมีสุขกับแนวคิดในสาขานั้นๆ ที่ตัวเองมีส่วนผลักดันมากไปสักนิดหนึ่ง
และเป็นไปได้ว่าอาจจะไปขัดขวางการตีพิมพ์งานแนวคิด “ทางเลือก” อื่นๆ โดยไม่เจตนา โดยอาจจะปัดทิ้งแนวคิดพวกนั้นอย่างรวดเร็วและทำแบบนั้นซ้ำๆ อย่างยาวนาน
นอกจากนี้ การที่ส่งอิทธิพลเป็นอย่างมากกับเพื่อนร่วมงานที่ทำงานกันอย่างใกล้ชิด จึงส่งอิทธิพลอย่างกว้างขวางต่อทั้งตัววารสารและการมอบรางวัลต่างๆ ในวงการอีกด้วย
กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า อิทธิพลที่ได้มาจากความสำเร็จเป็นตัวขัดขวางการถือกำเนิดของแนวคิดใหม่ๆ...ก็คงพอได้
Photo by Sharon Pittaway on Unsplash
ลงรายละเอียดสักนิดว่า เค้าวิจัยกันยังไงนะครับ
แรกสุดก็คือ การรวบรวมฐานข้อมูลนักวิทยาศาสตร์ในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพที่ยาวนานกว่าหนึ่งทศวรรษ
จากนั้นก็ทำตารางแสดงความก้าวหน้าในสายอาชีพขึ้น โดยให้ตัววัดค่าความสำเร็จหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นทุนวิจัย จำนวนผลงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ และจำนวนงานวิจัยของคนอื่นที่อ้างอิงจากผลงานของคนเหล่านี้ รวมไปถึงสถิติสิทธิบัตรต่างๆ โดยข้อมูลครอบคลุมการเสียชีวิตอย่างปุบปับของนักวิทยาศาสตร์ที่ยังขยันขันแข็งตีพิมพ์งานรวม 452 คน
อ้อ มีข้อสังเกตนิดนึงนะครับ คณะผู้วิจัยทิ้งท้ายไว้ว่า คำคมของพลังค์ที่ยกมานี่ ออกจะพิเศษอยู่สักหน่อย อาจจะไม่ตรงกับงานวิจัยชิ้นนี้เสียทีเดียวนัก
เพราะพลังค์อธิบายเรื่องการถือกำเนิดของควอนตัมฟิสิกส์ที่มีความพิเศษพิสดารเป็นอย่างยิ่ง ขนาดที่ว่าเชื่อกันในตอนนั้นว่า มีคนเข้าใจจริงๆ ทั้งโลกอยู่ไม่ถึง 10 คนหรอก
แม้แต่ไอน์สไตน์ก็ไม่ค่อยจะเชื่อ เพราะมันเหลือเชื่อมากเกินไป!
1
ในขณะที่งานวิจัยชิ้นนี้พูดถึงวิทยาศาสตร์สามัญ (normal science) ตามคำเรียกของนักปรัชญา ธอมัส คูห์น (Thomas Kuhn) ที่ใช้เรียกวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันต่างๆ
พูดถึงเรื่องนี้ ก็เลยนึกไปถึงอีกเรื่องที่ใกล้เคียงกัน คือ “แมทธิวเอฟเฟกต์ (Matthew Effect)” ที่นักสังคมวิทยาชื่อ รอเบิร์ต เมอร์ตัน (Robert Merton) ใช้อธิบายเรื่อง ความน่าจะเป็นที่ผลการศึกษาของนักวิจัยที่มี “สถานะ” ความน่าเชื่อถือสูงกว่า มักจะได้รับความเอาใจใส่มากกว่างานคล้ายๆ กันที่ทำโดยพวก “โนเนม”
Photo by SUNBEAM PHOTOGRAPHY on Unsplash
คณะนักวิจัยออกแบบการทดลองแบบนี้นะครับ เลือกเอานักวิจัยที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจสอบ (investigator) ของ HHMI (Howard Hughes Medical Institute) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยเอกชนสำคัญมารวมทั้งสิ้น 443 คน
แล้วเปรียบเทียบกับพวกที่ไม่ได้รับการแต่งตั้ง ผลงานก็เก็บมาใช้วิเคราะห์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1984–2003 โดยในกลุ่มทดลองก็เลือกมารวม 3,636 เปเปอร์ จำนวนเท่ากันกับเปเปอร์ในกลุ่มควบคุม
สิ่งที่พบก็คือ เปเปอร์ที่พวก “ชนชั้นสูง” ในวงการวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพตีพิมพ์ ได้รับการอ้างอิงถึงบ่อยครั้งกว่าพวกนักวิจัยด้วยกันแต่โลโซกว่าที่เป็นกลุ่มควบคุมราว 12% งานวิจัยบางหมวดหัวข้อ
ความแตกต่างยิ่งมากขึ้นไปอีก ยิ่งเป็นสาขาใหม่ๆ ก็ยิ่งเห็นผลกระทบชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ทำนองเดียวกับยิ่งเป็นวารสารที่ไม่โด่งดังนัก ก็ยิ่งเห็นความแตกต่างของแมทธิวเอฟเฟกต์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในชื่อ Matthew: Effect or Fable? (Management Science 60(1):92-109. http://dx.doi.org/10.1287/mnsc.2013.1755)
ชื่อเสียงหรือความดังจึงส่งผลต่อมุมมองของคนอื่นต่องานวิจัยที่นักวิทยาศาสตร์คนนั้นๆ ทำ
แต่เป็นไปได้เหมือนกันว่านักวิจัยที่ดังๆ ก็แค่ทำวิจัยด้วยคุณภาพที่สูงกว่า จึงได้รับความสนใจตอบรับการตีพิมพ์มากกว่า
อีกเรื่องหนึ่งที่ควรระวังในการสรุปผลงานวิจัยนี้ก็คือ การที่มีผู้อ้างอิงงานเยอะๆ อาจไม่ได้สะท้อนว่าผลงานดีกว่าเช่นกัน
เมื่อพิจารณาร่วมกันทั้งสองเรื่องข้างต้น ก็จะทำให้เห็นภาพว่า ชื่อเสียงส่งผลต่อความยอมรับผลงาน (ในรูปแบบของการยอมตีพิมพ์หรือเลือกมาอ้างอิงถึงในงานตัวเอง) ซึ่งก็จะไปกระตุ้นหรือเพิ่มความมั่นใจ ทำให้ได้สถานะในวงการที่ดีขึ้นไปอีกเป็นวงรอบ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ครอบงำวงการ จนทำให้แนวคิดใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ยาก
น่าสนใจว่าปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับวงการอื่นๆ หรือไม่?
โฆษณา