10 ก.ค. 2022 เวลา 02:36 • การเมือง
คำถามในใจคนไทย !! "ปณิธาน" รุกล้ำอธิปไตยไทยสะสางได้
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อดีตอาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว วิเคราะห์กรณีเครื่องบินรบเมียนมาบินล้ำแดนไทย เมื่อ 30 มิ.ย. 65 บริเวณ อ.พบพระ จ.ตาก ที่ผ่านมานั้น
ในระยะสั้นไทยกับเมียนมาคงทำความเข้าใจกันได้ เพราะมีความสัมพันธ์ที่ดี แต่ระยะยาว คำถามสำคัญในใจของคนไทย คือ
เมียนมาเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของไทยหรือไม่ !?
ไทยจะจัดการกับปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดนที่ทับซ้อน ซับซ้อน ให้ดีขึ้นอย่างไรในอนาคต !?
แน่นอนคงต้องใช้เวลาตอบคำถามเหล่านี้กันนานพอสมควร ซึ่งอาจเริ่มต้นด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันใน 5 ประเด็นข้างล่างนี้ให้ชัดเจนขึ้น
1.พื้นฐานความเข้มแข็งของเมียนมา...มากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค !?
☆ เมียนมาเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในภาคพื้นดินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ประมาณ 676,578 ตร.กม. ขณะที่ไทยมีประมาณ 513,120 ตร.กม.
☆ มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ หลายหลากมากกว่าไทยและหลายชาติ
ด้านพลังงาน = โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ที่ไทยต้องนำเข้ามาจากเมียนมา มากกว่า 20 % และมีทรัพยากรแรงงานจำนวนมาก เกือบ 70 % ของประชากรอยู่ในวัยทำงาน แล้วหลายล้านคนเป็นกำลังฐานรากเศรษฐกิจไทย
ด้านทรัพยากรน้ำจากแม่น้ำหลายสาย = เช่น แม่น้ำอิระวดี มีต้นน้ำจากเทือกเขาหิมาลัย – แม่น้ำสาละวิน มีความยาวเป็นอันดับ 2 รองจากแม่น้ำโขง แม่น้ำสะโตง
ด้านพืชพรรณธรรมชาติ อัญมณี แร่ธาตุสำคัญ ๆ มากมายหลายชนิด มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่เพาะปลูกราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ สามารถทำการเกษตรเลี้ยงตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาภายนอก
ด้านภูมิยุทธศาสตร์ = เป็นที่สนใจของมหาอำนาจและหลายประเทศ
* จุดเชื่อมต่อภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้กับเอเชียใต้ ซึ่งเป็นพันธมิตรที่จำเป็นของจีน เพราะใช้เมียนมาเป็นช่องทางออกสู่ทะเล
* พรมแดนติดกับอินเดีย คู่แข่งสำคัญของจีน
* ในอนาคต ความสำคัญของเมียนมาในเชิงที่ตั้ง เชิงภูมิรัฐศาสตร์ จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวี
• เมื่อโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนเสร็จสมบูรณ์
• เมื่อสหรัฐ ดำเนินยุทธศาสตร์อินโดแฟซิฟิกเข้มข้นขึ้น
• เมื่ออินเดีย ทะยานเป็นคู่แข่งในการเป็นมหาอำนาจหมายเลข 1
ด้านการลงทุน ทั้งจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไทย ได้ประโยน์อย่างมากจากการเป็นคู่ค้าที่เกินดุลกับเมียนมา ส่วนรัสเซีย อิสราเอล เกาหลีเหนือ มีรายงานว่า มีความสัมพันธ์ทางการทหารอย่างลับ ๆ มามานาน ทำให้ทหารเมียนมาได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์
ด้านการทหาร = กองทัพพม่า มีขนาดใหญ่เป็นลำดับต้น ๆ ของภูมิภาค มีกำลังทหารกว่า 4 แสนคน ล้วนมีประสบการณ์ในการต่อสู้ เข้มแข็ง และมีเอกภาพ
* กองทัพเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจของประเทศอย่างลึกซึ้ง
* มีสงครามกลางเมืองยาวนานที่สุดลำดับต้น ๆ ของโลกสมัยใหม่
* รัฐบาลสะสมยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ มากพอสมควร เช่น ระบบป้องกันภัยทางอากาศ เรือดำน้ำ เครื่องบินขับไล่สมัยใหม่ เป็นต้น
* เครื่องบิน MiG – 29 หรือ MiG – 29 UB ของเมียนมาที่ล้ำแดนไทย ก็เป็นบินเครื่องบินรบที่รัสเซีย ผลิตเมื่อ 37 ปีก่อน และในช่วง 5 - 10 ปีหลัง...เมียนมามีการสั่งเพิ่ม
☆ ดังนั้นด้วยปัจจัยพื้นฐานเกื้อหนุนต่าง ๆ เมียนมา จึงมีศักยภาพพื้นฐานที่แข็งแรง เจริญรุ่งเรืองอยู่เสมอ ถ้าสามารถแก้ปัญหาภายในประเทศได้ โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เมียนมายังคงเติบโตได้อีก
2. ความขื่นชมและหวาดระแวงของพม่า...ที่มีต่อต่างชาติ !?
☆ เมียนมาเป็นชนชาติที่มีความภาคภูมิใจในตัวเองสูง และประสบความสำเร็จในการสร้างอาณาจักรในอดีตมายาวนาน แต่ขณะเดียวกันชาวเมียนมาส่วนใหญ่ มีความรู้สึกขื่นขมอย่างลึกซึ้งกับประเทศตะวันตก
- พม่าเป็นเมืองขึ้นอังกฤษถึง 63 ปี ถูกกดขี่ - ปิดกั้น - ชี้นำในเรื่องต่าง ๆ แบบตะวันตก
- อาณานิคมซ้อนทับ จากชาวอินเดียที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ในช่วงที่พม่าอยู่ใต้อาณัติของอังกฤษ
- สงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเข้ามายึดครองและกระทำทารุณโหดร้ายต่าง ๆ กับพม่า เช่น การสร้างทางรถไฟสายมรณะ
☆ ทั้งหมดนี้ ทำให้ชาวเมียนมาส่วนใหญ่หวาดระแวง และไม่วางใจชาวต่างชาติมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศที่เข้าไปแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรของเขา จึงทำให้มีนโยบายปิดประเทศมาเป็นเวลานาน
☆ สำหรับคนไทยน่าจะเข้าใจ เห็นใจชาวเมียนมาในเรื่องอิสรภาพ เอกราชเป็นอย่างดี เพราะเราเคยต่อสู้กับประเทศนักล่าอาณานิคมในอดีตมาแล้ว โดยเฉพาะในยามจำเป็น...ไทยไม่ได้หันหลังให้กับนานาชาติ ยังเปิดประเทศ แล้วร่วมมือกับสากลในบริบทตามความถนัดของเรา ทำให้ไทยไม่ค่อยมีศัตรูในเวทีโลก
- ในยามเมียนมาถูกกีดกันจากหลายประเทศ และมีเพื่อนไม่มากนัก ไทยได้สนับสนุน
- ช่วยไกล่เกลี่ยให้เข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อาเซียนเข้มแข็ง จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมา - ไทยดีขึ้นเรื่องๆ มาถึงทุกวันนี้
3. วิกฤติของเมียนมาในยุคหลังอาณานิคม และผลกระทบต่อไทย !?
☆ ประวัติศาสตร์ของพม่าเต็มไปด้วยเรื่องการต่อสู้ เพื่อสร้างรัฐ สร้างชาติ รักษาเอกราช และสร้างเอกภาพ ทั้งในประเทศกับระหว่างประเทศ ซึ่งยังไม่สำเร็จมาจนถึงปัจจุบัน
- หลัง สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง พม่าเดินเข้าสู่ความวุ่นวายไร้เสถียรภาพ เกิดสงครามกลางเมืองกับชนกลุ่มน้อย และชายแดน ทำให้ไทยต้องใช้...นโยบายรัฐกันชนอยู่หลายปี
- ปี 2490 ลอบสังหารบิดานางอองซานซูจี...ยึดอำนาจเสร็จ ปิดประเทศเกือบ 50 ปี
- ปี 2532 เปลี่ยนชื่อเป็นเมียนมา...สื่อความหมายถึงการปรองดองกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น - มีนโยบายสมานฉันท์ สร้างเอกภาพของประเทศ - ต่อมาได้มีการเลือกตั้ง และเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐบาลพลเรือน อยู่ประมาณปี 10 ปี (2554 – 2564)
- ต้นปี 2564 เกิดวิกฤติทางการเมืองอีกครั้ง หันกลับไปใช้ระบอบทหารปกครอง แต่ครั้งนี้ชาวเมียนมาลุกขึ้นมาต่อต้าน ทำให้นานาชาติ + สหประชาชาติ + อาเซียนมีข้อมติต่าง ๆ เพื่อกดดันให้ทหารพม่ายุติความรุนแรง
- วิกฤติเมียนครั้งนี้ มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อไทยมากกว่าครั้งก่อน ด้านความปลอดภัยของคนไทยตามแนวชายแดน + ความมั่นคงของประเทศ + เศรษฐกิจ + สังคม+ มนุษยธรรม + ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้ไทยต้องระมัดระวัง เตรียมการมากขึ้น + ดำเนินการตามมติของสหประชาชาติ.. อาเซียน.. ตามหลักเพื่อนบ้านที่ดี ให้เป็นไปอย่างสมดุลพร้อม ๆ กัน
- หลายประเทศคิดว่า...ไทยสามารถมีบทบาทเข้าไปช่วยเหลือ แก้ไขสถานการณ์ในเมียนมาได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุก ๆ ฝ่ายที่กำลังขัดแย้งกัน
4. การล้ำแดนไทยโดยเพื่อนบ้าน !?
☆ ในยุคสมัยใหม่ ตลอด 70 กว่าปี มีการสู้รบกันในประเทศเพื่อนบ้านรอบ ๆ ไทย เช่น สงครามต่อต้าน หรือปลดปล่อยเพื่อเอกราชจากนักล่าอาณานิคม - สงครามต่อต้าน ปราบปรามคอมมิวนิสต์ - สงครามกลางเมืองของชนชาติพันธุ์ กลุ่มแบ่งแยกดินแดน เป็นต้น ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งดังกล่าวหลายครั้ง
- เมื่อมีกองกำลังต่างชาติรุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทย ทหารไทยก็ผลักดันออกไป ช่วยรักษาอธิปไตยของไทย บางครั้งทหารไทยต้องบาดเจ็บ เสียชีวิต
- การทำตามหน้าที่โดยปกติในทุกรัฐบาลไทย จะใช้มาตรการทางการทูตบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อประจาน ประฌาม กดดัน และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก
☆ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และทุกประเทศก็ดำเนินการคล้าย ๆ กันในการป้องกันประเทศ
☆ กรณีไทยกับเมียนมา มีกลไกความร่วมมือที่สำคัญ เช่น คณะกรรมการเขตร่วมส่วนภูมิภาค คณะกรรมการระดับสูงของฝ่ายทหาร ฯลฯ
- คณะกรรมการดังกล่าวถือเป็นเวทีหารือประเด็นปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดน อาทิ ภัยจากการสู้รบ + ยาเสพติด + ค้ามนุษย์ + การหลบหนีเข้าเมือง + อาชญากรรมข้ามชาติ + การก่อการร้าย
- ดังนั้นปัญหาการบินล้ำเข้ามาในเขตแดนไทย น่าจะถูกนำเข้าเวทีต่าง ๆ ที่มี และใช้กลไกเหล่านี้ร่วมกันหาทางแก้ไข ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
5.ทิศทางจัดการในอนาคต !?
5.1 แนวโน้มความสัมพันธ์กับเมียนมา ?
☆ ไทยกับเมียนมามีความสัมพันธ์ที่ดีตามปกติของประเทศสมาชิกอาเซียน ตั้งแต่ปี 2510
- เป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน แต่ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อกัน
- ตรงกันข้าม ต่างพึ่งพาอาศัยกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคโลกาภิวัฒน์ เช่น การค้า - ลงทุน - แรงงาน - ภาคบริการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ แพทย์ ครู นักศึกษา นักธุรกิจ นักท่องเที่ยว และตั้งรกรากถาวรอยู่เมืองไทยจำนวนไม่น้อย
- ประชาชนเดินทางไปมาหาสู่กันมากขึ้นทุกวัน ชาวเมียนมาเข้าใจ คุ้นเคยวัฒนธรรมของไทยมากกว่าชาติอื่น ๆ
- ทั้ง 2 ประเทศตระหนักถึงอนาคตร่วมกันหลายด้าน และเห็นสอดคล้องกันในเรื่องความสงบ สันติภาพ ความเป็นปึกแผ่นของอาเซียน เพราะไม่อยากถูกครอบงำ ถูกบังคับชี้นำอีก
☆ ทำให้อนาคตของทั้ง 2 ประเทศ และของประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายผูกพันกันอย่างลึกซึ้งโดยปริยาย
5.2 ความท้าทายในเรื่องความร่วมมือด้านความมั่นคงกับเมียนมา ?
☆ การล้ำแดนหรือการทำการใด ๆ ที่กระทบกับประชาชนไทยในด้านความมั่นคงปลอดภัย หรือกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จริง ๆ แล้วไม่ควรเกิดขึ้น จากมิตรประเทศ
- แต่หากเกิดขึ้น เพราะเหตุสุดวิสัยหรือไม่ตั้งใจ…ควรขออภัยกันอย่างชัดเจน + จริงใจ
- ควรต้องทำการถอดบทเรียน และร่วมมือกันวางแผนป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำซากอีก อาจพิจารณาสร้างกลไกเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่รวดเร็ว แม่นยำ ถูกต้อง โปร่งใสมากขึ้น ในการบริหารจัดการ ด้านความมั่นคงของ 2 ประเทศ
☆ กรณีการล้ำแดนที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ทำให้เกิดความซับซ้อนตามมาอีกหลายประการ ทุกฝ่ายเกี่ยวข้องต้องอธิบาย ทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น
- มีการแก้ไข ป้องกันปัญหาให้ลุล่วงไปโดยเร็ว เพื่อลดความกังวล ความสงสัยของประชาชน นานาชาติลง และสร้างความมั่นใจในเรื่องความพร้อมของกองทัพไทย สมรรถนะในระบบการป้องกันประเทศ
• การป้องกันน่านฟ้าของกองทัพอากาศ
• ความชัดเจนในขั้นตอนกระบวนการบังคับบัญชาสั่งการ
• ความเชี่ยวชาญ ชำนาญของบุคลากร เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ
• ขีดความสามารถของยุทโธปกรณ์ ฯลฯ
☆ สิ่งสำคัญ...ต้องอยู่บนฐานของการตรวจสอบ การเปิดเผยข้อมูลด้านการมั่นคง ด้านการทหาร หรือด้านการป้องกันประเทศ เป็นสิ่งที่ต้องทำกันมากขึ้นในโลกสมัยใหม่ เพราะเรื่องความมั่นคง ไม่ใช่เรื่องของทหารแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป และก็ไม่ค่อยเป็นความลับอีกแล้ว
- ทางการทูต หรือการต่างประเทศของไทย ฝ่ายที่มีหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยใช้กลไกที่บูรณาการร่วมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้นานาชาติเข้าใจผิด หรืออ้างได้ว่าไทยสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้เข้ามาใช้ดินแดนเราโจมตีอีกฝ่าย จะทำให้เกิดความซับซ้อน ยุ่งยากให้กับไทยมากขึ้นไปอีก
☆ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฝ่ายความมั่นคงของไทยคงตระหนักแล้วว่า ไม่ใช่เฉพาะทหารเท่านั้นที่มีหน้าที่รักษาอธิปไตย คนไทยโดยทั่วไป ฝ่ายค้าน ฝ่ายวิชาการ สื่อมวลชน ภาคประชาสังคม ต่างมีความรู้ เข้าใจเรื่องนี้พอสมควร และหวงแหนอธิปไตย อิสรภาพของตนและประเทศไม่น้อยกว่ากัน
ขณะเดียวกันประชาชนส่วนใหญ่ น่าจะยังสนับสนุนให้กองทัพไทย หน่วยงานเกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในเรื่องความมั่นคงของประเทศ
☆ โดยเฉพาะในประเทศที่ตั้งมั่นได้แล้ว และประสบความสำเร็จในการสร้างรัฐ สร้างชาติได้แล้ว จะไม่มีการขัดแย้งเลือกข้าง หรือด้อยค่าทำลายกัน แต่จะร่วมมือกันแบบไม่มีฝ่าย เพื่อทำให้ระบบป้องกันประเทศนั้นดีขึ้น
เพราะทั้งหมดเป็นเรื่องผลประโยชน์ชาติ ความปลอดภัยของประชาชนทุกคน ในโลกของการเมืองระหว่างประเทศที่ยังไม่เคยมีความมั่นคงปลอดภัยถาวร --//--
.
WhoChillDay
10 มิถุนายน 2565
ขอบคุณที่เข้ามาติดตามอ่านทุกเรื่องราว
และทักทาย WhoChillDay นะคะ
Credit : Facebook ; Panitan Wattanayagorn
เครื่องบินรบ https://th.wikipedia.org
#WhoChillDay #ปณิธาน วัฒนายากร #เมียนมารุกล้ำแดนไทย
#ความมั่นคงประเทศ
โฆษณา