10 ก.ค. 2022 เวลา 03:30 • ข่าวรอบโลก
ทำไมจีนไม่มีปัญหาเงินเฟ้อ
Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
14
ถ้าเงินเฟ้อเป็นเหมือนไวรัสเศรษฐกิจที่กำลังระบาดไปทั้งโลก แต่เพราะเหตุใดเงินเฟ้อจีนในเดือนพฤษภาคมจึงยังคงอยู่ในระดับร้อยละ 2.1 (เปรียบเทียบกับตัวเลขร้อยละ 8.6 ในสหรัฐฯ และ 8.1 ในยุโรป) เรียกว่าขณะที่ทั้งโลกเผชิญภาวะเงินเฟ้อ แต่จีนกลับไม่มีปัญหานี้ มีคำถามว่า การสวนกระแสโลกของจีนในเรื่องนี้มีความหมายอย่างไรต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของจีน
3
เงินเฟ้อในสหรัฐฯ นั้นมาจากฝั่งดีมานด์เป็นปัจจัยใหญ่ที่สุด กล่าวคือ เป็นผลข้างเคียงจาก “การฉีด สเตียรอยด์” หรือการอัดฉีดเงินมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงโควิด บางคนเปรียบเปรยว่าเงินที่โปรยลงมาจากฟ้าแจกจ่ายครัวเรือนสหรัฐฯ ส่งผลให้ดีมานด์สินค้าต่างๆ สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ยิ่งเมื่อสหรัฐฯ เปิดเมืองเต็มสูบ ดีมานด์ยิ่งพุ่งแรง ในขณะที่ฝั่งซัพพลายสินค้าต่างๆ ผลิตไม่ทันหรือขนส่งติดขัดเพราะโควิดบ้างเพราะล็อคดาวน์ที่จีนบ้าง จึงเกิดเป็นปัญหาเงินเฟ้อที่หนักหนาสาหัสที่สุดในรอบ 40 ปี
8
แต่ตลอดช่วงโควิด 2 ปี ที่ผ่านมา จีนกลับดำเนินนโยบายการเงินการคลังอย่างค่อนข้างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการอัดฉีดเงินมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างในสหรัฐฯ จีนเลือกใช้วิธีล็อกดาวน์อู่ฮั่นเคร่งครัด และฟื้นจากโควิดเร็วตั้งแต่แรกในขณะที่ทั่วโลกยังชุลมุน ประกอบกับต่อมานโยบายซีโร่โควิดของจีนยังทำให้พลังการบริโภคของจีนไม่กลับฟื้นเสียที ดีมานด์ในจีนจึงสะดุด ต่างจากในสหรัฐฯ ที่ดีมานด์พุ่งแรง
9
หากปัญหาของสหรัฐฯ คือเศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป ปัญหาของจีนคือเศรษฐกิจยังคงซบเซา การล็อกดาวน์ของจีนนั้นเป็นตัวดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ และเงินเฟ้อโลก เพราะการผลิตสินค้าต่างๆ ในจีนที่เป็นโรงงานโลกสะดุดหยุดลงเป็นพักๆ แต่กลับเป็นปัจจัยกดให้เงินเฟ้อของจีนอยู่ในระดับต่ำ เพราะฝั่งดีมานด์ของจีนไม่ร้อนแรง
9
ส่วนเงินเฟ้อในฝั่งยุโรปนั้นสาเหตุหลักไม่ได้มาจากด้านดีมานด์เหมือนในสหรัฐฯ แต่มาจากด้านซัปพลาย คือปัญหาการขาดแคลนพลังงานและอาหาร เพราะผลจากสงครามที่เกิดที่หลังบ้าน ปัจจัยหลักที่ดันเงินเฟ้อในยุโรปคือสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการคว่ำบาตรของยุโรปเองต่อรัสเซีย เมื่อยุโรปลดและเลี่ยงการซื้อพลังงานจากรัสเซีย ก็ดันให้ราคาพลังงานสูงขึ้นทั้งในยุโรปและทั่วโลก
11
ท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น มีจีนกับอินเดียที่สามารถซื้อน้ำมันดิบในราคาถูกจากรัสเซียได้ ซึ่งรัสเซียเองต้องลดราคาให้จีนกับอินเดีย เพราะขายยุโรปไม่ได้ และจีนกับอินเดียขอให้หั่นราคา เพราะตัวเองต้องแบกรับความเสี่ยงที่อาจจะโดนหางเลขถูกคว่ำบาตรไปด้วย การที่จีนและอินเดียสามารถซื้อน้ำมันดิบได้ในราคาถูกน่าจะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อจากราคาพลังงานได้ในทั้งสองประเทศ
9
มีคำถามว่า จีนซื้อก๊าซธรรมชาติราคาถูกจากรัสเซียได้ด้วยหรือไม่ เพราะเมื่อรัสเซียส่งก๊าซธรรมชาติไปยุโรปได้น้อยลง ก็น่าจะส่งไปจีนแทน แต่ความจริงอาจไม่ง่ายเช่นนั้น เพราะโครงสร้างพื้นฐานท่อก๊าซจากรัสเซียนั้นสร้างสำหรับส่งไปยุโรปเป็นหลัก จึงไม่ใช่อยู่ๆ จะกลับทิศส่งไปจีนได้ในทันที การจะเปลี่ยนมาขายก๊าซธรรมชาติให้จีนต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่รองรับ ดังนั้นในระยะสั้น จีนจึงน่าจะได้ประโยชน์จากการซื้อน้ำมันดิบราคาถูกเท่านั้น ส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเพิ่มขึ้นยังต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่ง
10
อีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเรื่องเงินเฟ้อจีนก็คือ วิธีคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีน ซึ่งเป็นมาตรวัดระดับเงินเฟ้อ ในตะกร้าสินค้าที่เอามาคำนวณดัชนีราคานั้นมีสินค้าหลายตัว แต่ละประเทศให้น้ำหนักสินค้าแต่ละตัวแตกต่างกันตามสภาพและระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศ
2
ในการคำนวณ CPI ของจีน ให้สัดส่วนน้ำหนักกับเสื้อผ้าและอาหาร ในสัดส่วนที่สูงกว่าที่อยู่อาศัยและการเดินทาง ขณะที่ในสหรัฐฯ นั้น ให้น้ำหนักกับที่อยู่อาศัยและการเดินทางในสัดส่วนที่สูงกว่าของจีน เมื่อเงินเฟ้อโลกในปัจจุบันมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น และมาจากสภาพคล่องที่ล้นเกิน ซึ่งดันราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ จึงส่งผลให้เงินเฟ้อในสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงเป็นพิเศษ (การคำนวณ CPI ของจีนให้น้ำหนักกับอาหารสูงเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 18.4 เมื่อเปรียบเทียบกับในสหรัฐฯ ที่ให้น้ำหนักอาหารที่สัดส่วนร้อยละ 7.8)
6
เคยมีการพูดทีเล่นทีจริงว่า ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อ CPI ของจีนคือ วัฏจักรราคาหมู ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเกิดวิกฤตโรคระบาดหมู ซึ่งดันราคาหมูและเงินเฟ้อจีนไปแตะจุดสูงรอบหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. 2018 แต่หลังจากวิกฤตรอบนั้น รัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญกับเรื่องซัปพลายเนื้อหมูและการควบคุมราคาหมูอย่างมาก จนราคาไม่มีการผันผวนอย่างหนักอีก
7
นักวิเคราะห์หลายคนมักชี้ว่า เงินเฟ้อที่ต่ำในจีน ส่งผลให้รัฐบาลจีนน่าจะสามารถใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ทิศทางนโยบายการเงินของจีนสวนทางกับฝั่งตะวันตก ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการใช้นโยบายขึ้นดอกเบี้ย ในขณะที่ฝั่งจีนอาจสามารถลดดอกเบี้ยและอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังซบเซาได้
3
แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แม้ว่าธนาคารกลางจีนจะเริ่มใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อพยุงเศรษฐกิจ เช่น การปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) แต่ก็ยังหลีกเลี่ยงยาแรงเช่นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย สะท้อนว่า ธนาคารกลางจีนยังคงใช้นโยบายการเงินที่ค่อนข้างระมัดระวัง เพราะไม่ต้องการส่งผลดันเงินเฟ้อในจีนให้สูงขึ้นจากระดับนี้ และยังเกรงว่าการลดดอกเบี้ยสวนทางสหรัฐฯ อาจจะสร้างแรงกดดันต่อสกุลเงินหยวน
10
เงินเฟ้อจีนต่ำ แม้จะทำให้จีนมีรูมกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้นก็จริง แต่รัฐบาลจีนยังค่อยๆ ใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังหลีกเลี่ยงนโยบายกระตุ้นที่แรงเกินไป เพราะยังต้องการรักษาสมดุลกับเป้าหมายทางนโยบายอื่นๆ ซึ่งในระยะสั้นอาจทำให้ตลาดหุ้นจีนไม่ได้รับอานิสงส์มากอย่างที่หลายฝ่ายเคยคาดหมายก่อนหน้านี้
4
แต่ที่ช่วยจีนแน่ๆ คือ เงินเฟ้อที่ต่ำของจีนทำให้เสถียรภาพในสังคมจีนดูไม่มีปัญหาในปีสำคัญของการเมืองจีน เมื่อเปรียบเทียบกับเสียงบ่นข้าวยากหมากแพงในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำและรอยแตกร้าวในการเมืองภายในของหลายประเทศ
7
โฆษณา