12 ก.ค. 2022 เวลา 03:30 • การตลาด
Hotelling's law ทำไมร้านค้าที่ขายของคล้าย ๆ กัน ถึงชอบเปิดร้านใกล้กัน
ทำไมร้านค้าที่ขายของคล้าย ๆ กัน ถึงชอบเปิดร้านใกล้กัน
ยกตัวอย่างเช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร คาเฟ หรือบาร์
ซึ่งถ้าจะให้อธิบายเรื่องนี้ในเชิงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ก็สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎี “Hotelling's law”
1
ทฤษฎี Hotelling's law นี้ถูกคิดขึ้นโดย Harold Hotelling ในปี 1929
โดยมีใจความสำคัญว่า คู่แข่งทางธุรกิจจะปรับตัวเข้าหากันเสมอ
เพื่อให้เราเข้าใจว่าทฤษฎีนี้คืออะไร เราลองไปดูตัวอย่างกันก่อน
สมมติว่ามีชายหาดอยู่แห่งหนึ่ง มีความยาว 1 กิโลเมตร
และในชายหาดแห่งนี้ มีรถเข็นขายไอศกรีมอยู่ 2 คัน ที่มีสินค้าเหมือนกัน แต่เจ้าของเป็นคนละคนกัน
พ่อค้า A และพ่อค้า B ตกลงกันว่าทั้งสองคน จะตั้งรถเข็นอยู่กันคนละมุมของชายหาด
เพื่อให้พ่อค้าแต่ละคนได้ลูกค้าเท่า ๆ กัน
โดยพ่อค้า A จะอยู่มุมด้านซ้าย ส่วนพ่อค้า B อยู่มุมด้านขวา
รถเข็นของทั้งคู่จะมีระยะห่างกันประมาณ 500 เมตร
คนที่มาชายหาดแห่งนี้ ก็จะเดินไปซื้อไอศกรีมกับรถเข็นที่ใกล้กับตัวเองที่สุด
โดยลูกค้าในรัศมี 500 เมตรจากทางด้านซ้ายของชายหาด ก็จะไปซื้อไอศกรีมกับพ่อค้า A
ส่วนลูกค้าในรัศมี 500 เมตรจากทางด้านขวาของชายหาด ก็จะไปซื้อไอศกรีมกับพ่อค้า B
1
แต่ถ้าวันหนึ่งพ่อค้า A อยากเพิ่มยอดขายล่ะ ?
1
พ่อค้า A ก็จะเลื่อนรถเข็นของตัวเองไปอยู่ประมาณตรงกลางชายหาด
ซึ่งจะส่งผลให้ลูกค้าของพ่อค้า B ที่อยู่บริเวณกลาง ๆ ชายหาดบางราย เปลี่ยนมาซื้อไอศกรีมกับพ่อค้า A แทน
นอกจากนี้ กลุ่มลูกค้าเดิมของพ่อค้า A ในรัศมี 500 เมตรจากทางด้านซ้ายของชายหาด ก็จะยังคงมาซื้อไอศกรีมจากพ่อค้า A อยู่ดี เพราะจุดที่ตั้งของพ่อค้า A ยังใกล้กับลูกค้ากลุ่มนี้มากกว่า ถ้าเทียบกับจุดที่ตั้งของพ่อค้า B
1
พอเรื่องเป็นแบบนี้ พ่อค้า B ที่อยู่เฉย ๆ ก็เสียลูกค้าไป ก็ต้องทำอะไรบางอย่าง
จึงตัดสินใจเลื่อนร้านของตัวเองมาอยู่ตรงกลางชายหาดบ้าง
หรือเลื่อนเข้าใกล้กับคู่แข่งทางการค้ามากขึ้น
เมื่อทั้งสองคน เลื่อนร้านมาอยู่ตรงกลางชายหาดด้วยกัน
ก็จะทำให้แบ่งขายลูกค้ากันลงตัวอีกครั้ง
โดยในทฤษฎีเกม เราเรียกจุดนี้ว่า ดุลยภาพของแนช (Nash equilibrium)
หรือจุดที่ทั้งสองคน ไม่ได้ประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของตัวเองอีกต่อไป
2
หากจะนำทฤษฎี Hotelling's law มาใช้อธิบายสถานการณ์ในโลกความเป็นจริงนั้น ก็คงสรุปได้ว่า
ผู้ประกอบการทุกคนย่อมเลือกมาตั้งร้านในตำแหน่งที่ผู้คนสัญจรไปมาเยอะ
จนทำให้เกิดเป็น กลุ่ม (Cluster) ร้านค้า ในละแวกนั้นขึ้นมา
หากมีผู้ประกอบการเลือกไปเปิดร้านในตำแหน่งที่ต่างจาก Cluster เดิม ก็จะเกิดผลลัพธ์ได้ 2 แบบ คือ
- ร้านขายไม่ดีจนต้องปิดไป
- ร้านขายดี จนทำให้คู่แข่งมาตั้งร้านใกล้ ๆ เพื่อชิงส่วนแบ่งทางการตลาด และทำให้เกิด Cluster ร้านค้าใหม่นั่นเอง
4
นอกจากเรื่องตำแหน่งที่ตั้งของร้านค้าแล้ว ทฤษฎี Hotelling's law ยังสามารถใช้อธิบายสถานการณ์ในตลาดอื่น ๆ ได้อีก
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตจะสามารถดึงดูดลูกค้าได้มากกว่า
หากออกสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาดใหญ่
มากกว่าการออกสินค้าเพื่อจับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche) มากเกินไป
1
สุดท้ายนี้ ในโลกความเป็นจริงนั้นมีปัจจัยหลายอย่าง ที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการเลือกตั้งร้านในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง
นอกจากนี้ ร้านค้าก็ยังสามารถใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายได้
แต่ใจความหลักของทฤษฎี Hotelling's law ที่ว่า คู่แข่งทางธุรกิจจะปรับตัวเข้าหากันนั้น จะยังคงเป็นจริงเสมอนั่นเอง
โฆษณา