12 ก.ค. 2022 เวลา 17:03 • ธุรกิจ
รู้จักผู้เล่นในธุรกิจพลังงาน ตีแผ่โครงสร้างราคาน้ำมันในไทย
ลดครั้งประวัติศาสตร์ 3 บาท ล่าสุด เกิดจากอะไร
เครดิตภาพปก: บน – Getty Images ล่าง – Official MV เพลงเติมน้ำมัน - ไมโคร
ผมเชื่อว่าคนใช้รถหลายคนประสบปัญหาเรื่องราคาน้ำมันพุ่งอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา คงทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นที่ปัจจัยด้านอุปทานที่ลดลงอันเกี่ยวเนื่องมาจากสงคราม และอุปสงค์ที่สูงขึ้นตามสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย
เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ก่อนนี้เองที่มีการประกาศลดราคาขายปลีกน้ำมันลงสำหรับกลุ่มเบนซินทีเดียว 3 บาท ซึ่งคนในวงการบอกว่าเป็นครั้งประวัติศาสตร์เลยที่ลดครั้งเดียวเท่านี้ คงเกิดคำถามในใจว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่
...
ผมเขียนบทความนี้เพื่ออธิบายให้เข้าใจในภาพรวมของธุรกิจพลังงานในไทย ซึ่งจะเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องโครงสร้างราคาน้ำมันทั้งระบบในบ้านเราด้วย ที่สำคัญจะไม่ขอลงความเห็นใดๆว่าราคาบ้านเราแพงหรือไม่แพงด้วยเหตุผลอะไร (มีนักวิชาการด้านพลังงานได้ให้ความเห็นไปแล้ว ลองค้นดูได้) แต่จะเป็นการตีให้เห็นว่าการลดราคาล่าสุดนั้นเกิดจากตัวแปรหรือปัจจัยอันไหนกันแน่ครับ
2
  • ภาพรวมและผู้เล่นในธุรกิจพลังงาน
ก่อนอื่นต้องทำเข้าใจก่อนว่า กว่าจะเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่เราเติมในรถเพื่อใช้ขับเคลื่อน มันมีเส้นทางการเดินทางยังไงบ้าง จากต้นทางถึงปลายทาง ซึ่งจะมีผู้เล่นในธุรกิจนี้ที่เกี่ยวข้องคือ
  • ผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน คือ คนขุดเจาะน้ำมันจากแหล่งน้ำมันตามธรรมชาติออกมาเป็นน้ำมันดิบ แล้วขายป้อนเข้าประเทศต่างๆ เป็นต้นทางและต้นทุนวัตถุดิบ bottom line ของน้ำมันเชื้อเพลิง
เครดิตภาพ: REUTERS/Christian Hartmann
โดยอ้างอิงสถิติจาก https://www.worldstopexports.com/worlds-top-oil-exports-country อันดับผู้ส่งออกน้ำมันดิบโลก 5 อันดับแรก ตามมูลค่าการส่งออก (ปี 2021) คือ
1. ซาอุดิอาระเบีย: 161.7 พันล้านดอลลาร์ (16.5% ของการส่งออกทั้งหมดทั่วโลก)
2. รัสเซีย: 82 พันล้านดอลลาร์ (8.3% ของการส่งออกทั้งหมดทั่วโลก)
3. แคนาดา: 74 พันล้านดอลลาร์ (7.5% ของการส่งออกทั้งหมดทั่วโลก)
4. อิรัก: 72.1 พันล้านดอลลาร์ (7.3% ของการส่งออกทั้งหมดทั่วโลก)
5. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์: 69.4 พันล้านดอลลาร์ (7.1% ของการส่งออกทั้งหมดทั่วโลก)
  • โรงกลั่นน้ำมัน คือ ผู้ที่รับซื้อน้ำมันดิบมาแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่างๆ (หมายรวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิง คือ เบนซิน ดีเซล แก๊สโซฮอล์) หมายความว่าน้ำมันดิบนำเข้าซื้อเข้ามาแล้ว ไม่สามารถเอามาทำเป็นเชื้อเพลิงในยานพาหนะได้ทันที ต้องผ่านกระบวนการทางเคมีต่างๆก่อนเพื่อให้ได้น้ำมันเชื้อเพลิงพร้อมใช้งาน โดยเป็นหน้าที่ของโรงกลั่นนั่นเอง
เครดิตภาพ: Pixabay
บริษัทโรงกลั่นน้ำมันในไทยมีกำลังการกลั่นรวมกันเฉลี่ยต่อวันที่ 1044 พันบาร์เรลต่อวัน (1 บาร์เรล ประมาณ 160 ลิตร ตีเลขกลมๆ) หรือเท่ากับ 167.04 ล้านลิตรต่อวัน โดยเจ้าที่กลั่นเยอะสุด คือ Thai Oil (TOP) รองลงมาคือ IRPC และตามด้วยอันดับ 3 คือ PTTGC สามารถดูสถิติอ้างอิงได้จากแผนภาพด้านล่าง
กำลังการกลั่นน้ำมันดิบของไทย ข้อมูลล่าสุด ม.ค. - มี.ค. 2565 ที่มา: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน/EPPO
ประเทศไทยเองก็เป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบด้วยเช่นกัน มีหลายบ่อด้วย ผมขอไม่ลงรายละเอียดครับ แต่ทำไมเรายังต้องนำเข้ามาอยู่ในสัดส่วนที่มากคือ 92% (ผลิตเอง 8%) โดยแหล่งหลักที่เรานำเข้ามาคือจากตะวันออกกลาง โดยมีเจ้าหลักคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ถึง 38% สามารถดูสถิติอ้างอิงได้จากแผนภาพด้านล่าง
การจัดหาน้ำมันดิบของไทย ข้อมูลล่าสุด ม.ค. - ก.พ. 2565 ที่มา: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน/EPPO
เหตุผลที่บ้านเรามีน้ำมันดิบแต่ไม่นำมาใช้ผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปเอง เหตุผลคือ
  • น้ำมันดิบที่ขุดได้ในบ้านเรามีโลหะปนเปื้อนสูง (ปริมาณ 27% ของที่ขุดได้ทั้งหมดในไทย) คุณภาพไม่เหมาะสมกับเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่โรงกลั่นบ้านเราใช้โดยปกติ แล้วเกิดคำถามว่าทำไมโรงกลั่นในไทยถึงไม่ทำให้กลั่นน้ำมันดิบที่ขุดในไทยได้บ้าง?
คำตอบคือถ้าต้องปรับปรุงอุปกรณ์ของโรงกลั่นให้สามารถกลั่นน้ำมันดิบที่ปนเปื้อนสูงนี้ได้ โรงกลั่นมองว่าไม่คุ้มค่าในแง่การลงทุน ถ้าทำให้กลั่นน้ำมันดิบจากไทยได้จริง แต่จะมีต้นทุนอย่างอื่นตามมานอกเหนือค่าอุปกรณ์ที่ปรับ อาจเป็นค่าซ่อมและบำรุงรักษาในระยะยาว ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าไม่ได้ช่วยให้ราคาขายปลีกน้ำมันลดลงมาเยอะมากอย่างที่คิดหรือต้องขายราคาเดิม ดังนั้นจึงไม่ปรับ ใช้การนำเข้าแบบเดิม
น้ำมันดิบส่วนที่โรงกลั่นบ้านเราไม่รับเข้ากระบวนการ เราก็มีส่งออกด้วยให้ประเทศที่เค้านำไปใช้ประโยชน์ได้
...
  • น้ำมันดิบที่ขุดได้ในบ้านเราส่วนที่เข้าโรงกลั่นได้ เมื่อกลั่นออกมาแล้วจะได้เป็นน้ำมันเบนซินในสัดส่วนที่มากกว่าดีเซล
สถิติการใช้งานในไทยจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในปี 2565 สัดส่วนการใช้งานในประเทศของดีเซลอยู่ที่ 55% เบนซินอยู่ที่ 21% จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราก็มีส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงที่กลั่นแล้วด้วยเพื่อรักษาสมดุลการใช้งานในประเทศและหารายได้เข้าประเทศอีกทาง
การใช้น้ำมันสำเร็จรูป (ล้านลิตรต่อวัน) ข้อมูลล่าสุด ม.ค. - มี.ค. 2565 ที่มา: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน/EPPO
  • ผู้ค้าส่งน้ำมัน คือบริษัทที่ซื้อต่อน้ำมันสำเร็จรูปจากโรงกลั่นในราคาหน้าโรงกลั่นบวกด้วยภาษีต่างๆและเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมัน รวมเป็นราคาขายส่ง เพื่อนำไปขายต่อให้กับสถานีบริการน้ำมันหรือหน้าปั๊มอีกที รวมถึงจัดหารถขนส่งน้ำมันจากคลังของโรงกลั่นไปส่งตามหน้าปั๊มด้วย
ตามพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 สามารถแบ่งผู้ค้าน้ำมันตามปริมาณน้ำมันที่มีสำรองและมีไว้ค้า ออกเป็น 3 ประเภท คือ
  • ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 คือ มีปริมาณเยอะสุดและถึงเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนด รวมถึงบริษัทโรงกลั่นด้วย
  • ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 10 คือ มีปริมาณไม่ถึงเกณฑ์เข้าข่ายมาตรา 7 แต่ถึงข้อกำหนดที่รัฐบาลประกาศว่าต้องขอใบอนุญาต
  • ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 11 คือ สถานีบริการน้ำมันนั่นเอง เป็นการขายปลีก จะพูดถึงในหัวข้อถัดไป
  • ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 12 คือ ผู้ประกอบการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง หรือคนที่จัดหารถขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงจากคลังน้ำมันของโรงกลั่นกระจายไปส่งตามหน้าปั๊มนั่นเอง
สามารถอ่านรายละเอียดของพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ได้ที่
...
หมายเหตุ: บางบริษัทที่ทำธุรกิจพลังงานครบวงจร คือมีทั้งโรงกลั่นและค้าส่งน้ำมัน เค้าจะตั้งบริษัทแยกออกมาทำหน้าที่ต่างกัน ด้วยจุดประสงค์เรื่องภาษี (ภาษีแต่ละธุรกิจต่างกันและคำนวณไม่เหมือนกัน) และที่สำคัญคือค่าธรรมเนียมใบอนุญาต (โดยทั่วไปจะคำนวณตามยอดขาย)
ดังนั้นการตั้งบริษัทแยกจากกันก็ด้วยเรื่องประโยชน์ทางภาษีและค่าธรรมเนียม หากรวมเป็นบริษัทเดียวและจดทำธุรกิจหลายอย่างจะมีการแบกรับภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆในอัตราที่สูงกว่าการจดทะเบียนบริษัทแยก
1
  • สถานีบริการน้ำมัน (ปั๊ม) คือคนที่ซื้อต่อน้ำมันมาจากผู้ค้าส่งน้ำมันอีกที และนำมาให้บริการขายปลีกในราคาที่รัฐบาลกำหนดที่หน้าปั๊ม ซึ่งเป็นราคาสุทธิแล้วถึงผู้บริโภคปลายทาง
  • เห็นได้จากเส้นทางของน้ำมันที่ผ่านมาจากต้นทางถึงปลายทาง เมื่อผ่านผู้เล่นรายใดย่อมต้องมีบวกค่าพรีเมียม (premium) หรือส่วนต่างกำไร (margin) เข้าไปเป็นของธรรมดาของการทำธุรกิจที่ต้องหวังผลกำไร
  • โครงสร้างราคาน้ำมันในไทย
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ผมเลยดึงข้อมูลจากตารางโครงสร้างราคาน้ำมันจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ยกน้ำมันมาแสดง 4 ตัว คือ เบนซิน แก๊สโซฮอล์ 91 E85 และ ดีเซล โดยนำมาเปรียบเทียบระหว่าง 2 วัน คือ 7 ก.ค. 2565 และ 8 ก.ค. 2565 (วันที่มีประกาศปรับลดราคาหน้าปั๊มลง 3 บาท สำหรับกลุ่มเบนซิน) ตามรูปด้านล่างครับ
1
ที่มาข้อมูล: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน/EPPO
มาดูโครงสร้างราคาทีละคอลัมน์กันครับ เริ่มไล่จากซ้ายไปขวา คือ
1
1. EX-REFIN. (AVG) หรือราคาหน้าโรงกลั่นเฉลี่ย บางทีเรียกว่าราคาเนื้อน้ำมัน คือราคาต้นทุนน้ำมันดิบ บวกกับราคาต้นทุนการกลั่นนั่นเอง (ค่าการกลั่น)
2. TAX คือภาษีสรรพสามิต เนื่องจากน้ำมันเป็นสินค้าที่ทำให้เกิดมลภาวะส่งผลกระทบวงกว้างอย่างหนึ่ง (เหมือนพวกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือนี้เพื่อใช้จำกัดการใช้
3. M.TAX คือภาษีเทศบาล ใช้บำรุงพื้นที่ เก็บส่งกระทรวงมหาดไทย
4. OIL FUND คือเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ช่วยลดความผันผวนราคาขายน้ำมันประเทศ ตอนขึ้นสูงมากๆก็จะดึงเงินจากกองทุนมาช่วยอุดหนุนไม่ให้พุ่งสูง ตอนลดมากๆก็จะเก็บเพิ่มเพื่อใช้รักษาสมดุล
5. CONSV. FUND คือเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน เพื่อใช้ในการจัดการรักษาสิ่งแวดล้อม
6. WS PRICE คือราคาขายส่ง เอา EX-REFIN. + TAX + M.TAX + OIL FUND + CONSV. FUND
7. VAT คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มของราคาขายส่ง บวกเข้าไปนั่นเอง เป็น WS PRICE & VAT
8. MARKETING MARGIN คือ ค่าการตลาด ก็เป็นต้นทุนของหน้าปั๊มในการนำน้ำมันมาขายให้ความสะดวกเรานั่นเอง เช่น ค่าขนส่ง ค่าจ้างเด็กปั๊ม ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบริหารจัดการภายในปั๊ม เป็นต้น
9. VAT คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มของ MM อีกที
  • วิเคราะห์การลดราคาครั้งใหญ่รอบเดียวกลุ่มเบนซิน 3 บาท ช่วง 7-8 ก.ค. 2565
  • ก่อนหน้านี้ช่วงวันที่ 5-7 ก.ค. 2565 ขอใช้ดัชนีจากตลาดที่เป็นสัดส่วนใหญ่ที่เรานำเข้ามา คือราคาน้ำมันดิบที่ดูไบ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ปรับลดครั้งใหญ่จาก 111 เป็น 98 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ขอตีเป็นเลขกลมๆ) คำนวณออกมาเป็นส่วนต่างเป็นเลขกลมๆคือ 3 บาทต่อลิตร
  • เบนซิน 95 ลดหน้าปั๊ม 3 บาท ก็ถือว่าตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบโลก โดยแบ่งไปลด 2 ส่วน คือ ราคาหน้าโรงกลั่น กับ ค่าการตลาด
  • แก๊สโซฮอล์ 91 ลดหน้าปั๊ม 3 บาท เหตุผลก็เช่นกันกับเบนซิน 95 ส่วนราคาหน้าโรงกลั่นจะลดลงในสัดส่วนน้อยกว่าเพราะมีเนื้อน้ำมันน้อยกว่า (มีเอทานอลผสมอยู่) ไปลดเยอะตรงค่าการตลาด
  • E85 ลดหน้าปั๊ม 1.80 บาท น้อยกว่าตัวอื่นเพราะมีเนื้อน้ำมันน้อยสุด มีเอทนอลผสม 85% ราคาหน้าโรงกลั่นลดน้อยก็ตามสัดส่วนน้ำมันดิบที่ใช้ผลิต
  • ดีเซล ไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าดูตรงช่องกองทุนน้ำมัน จะเห็นติดลบเยอะมาก (ใช้เงินอุดหนุนพยุงก่อนหน้านี้) พอราคาน้ำมันดิบลงเยอะ เลยไม่ลดตามตัวอื่น แต่นำไปเรียกเก็บเข้ากองทุนน้ำมันมากขึ้น และเพิ่มค่าการตลาดเพื่อไปถัวเฉลี่ยกับน้ำมันตัวอื่นที่ปรับลด
  • สรุปว่าการลดราคาขายปลีกรอบนี้ 3 บาท เพราะราคาน้ำมันดิบโลกลดลงโดยตรง ไม่เกี่ยวกับมาตรการพิเศษอะไรในประเทศเพื่อช่วยราคาให้ลดลง เพราะก็ยังมีการเก็บเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มอีกต่างหากจากดีเซล (ช่วยไปเยอะแล้วก่อนหน้านี้)
ส่วนค่าการตลาดที่ดูเหมือนจะลดลงเทียบต่อวัน จริงๆผมมองว่าถ้าเทียบกับก่อนหน้านี้คือช่วงเดือนที่แล้ว กับเดือนนี้แบบถัวเฉลี่ย ค่าการตลาดมันขึ้นมาเยอะมากแล้ว จริงๆมันควรจะลดลงมาได้บ้างแล้วก่อนหน้านี้ แต่รอบนี้ก็ยังเรียกเก็บเพิ่มจากดีเซลเพิ่มอีก นั่นไม่เปลี่ยนแปลง
ถ้าดูตารางข้างล่างนี้จะเข้าใจ (Refinery Margin = ค่าการกลั่น Marketing Margin = ค่าการตลาด)
ที่มาข้อมูล: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน/EPPO
ก่อนจากกันเพื่อไม่ให้เครียด ไปฟังเพลงกัน ขอแนบลิ้งค์เพลงที่น่าจะเกี่ยวข้องกับเนื้อหาของบทความนี้ คือ “เติมน้ำมัน” ของวงไมโคร ช่วงนี้ก็เริ่มเติมน้ำมันได้แบบสบายใจขึ้นหน่อยนะครับ
เรียบเรียงโดย Right SaRa
12th July 2022
  • แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน/EPPO
สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน - https://gnews.apps.go.th/news?news=62866
โฆษณา