14 ก.ค. 2022 เวลา 00:22 • หุ้น & เศรษฐกิจ
3 แบบของกองทุนรวมต่างประเทศ
หลายคนสนใจลงทุนในต่างประเทศ แต่อาจยังไม่มีความชำนาญหรือติดตามการการลงทุนได้มากพอ ก็สามารถเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมได้ และการลงทุนในต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมาก็ได้รับความนิยมมากขึ้น จะเห็นว่ามีกองทุนรวมต่างประเทศให้เราเลือกมากมาย มาอ่านกันว่ากองทุนรวมต่างประเทศในบ้านเรามีลักษณะรูปแบบแบบไหนบ้าง
กองทุนรวมต่างประเทศ หรือ FIF (Foreign Investment Fund) เป็นกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศมากกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน มี 2 แบบหลักๆ และในแบบที่ 2 แบ่งได้ 2 แบบย่อย จึงสามารถแบ่งเทียบได้ รวมเป็น 3 แบบ
1. แบบที่ บลจ. ไทย ไปลงทุนสินทรัพย์ต่างประเทศนั้นโดยตรงเอง ซึ่งแบบนี้ค่าธรรมเนียม ผลตอบแทน การจัดการความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน กองทุนไทยเป็นผู้ดูแล บริหารจัดการทั้งหมด
2. แบบที่ บลจ.ไทยไปซื้อกองทุนรวมที่บริหารโดยต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง ซึ่งตรงนี้จะแบ่งอีก 2 ลักษณะย่อย ที่เราเรียกว่า Feeder Fund และ Fund of Funds
- Feeder fund เป็นการที่นำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมในต่างประเทศเพียงกองเดียว กองทุนรวมในต่างประเทศที่ บลจ. ไทยไปลงทุนจะเรียกว่า Master Fund ตรงนี้จะเห็นว่า บลจ. ไทยเหมือนเป็นตัวกลางพาเงินลงทุนของเราไปลงทุนใน Master Fund และผลตอบแทนหลักๆ จะขึ้นอยู่กับ Master Fund
- Fund of Funds เป็นการนำเงินไปซื้อกองทุนรวมในต่างประเทศหลายๆ กอง โดยบลจ. ไทยกำหนดในนโยบายว่าจะลงทุนกองทุนรวมในต่างประเทศกองใดบ้าง สัดส่วนอย่างไร และสามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนได้ตามความเหมาะสม ตรงนี้จะเห็นว่า ผลตอบแทนจะขึ้นกับกองทุนรวมในต่างประเทศที่ไปลงทุนและส่วนผสมของกองทุน
ในการดูกองทุนรวมต่างประเทศต้องพอรู้ก่อนว่า กองทุนที่จะลงทุนเป็นแบบไหน และถ้าเป็นแบบ Feeder Fund และ Fund of Funds ควรต้องตามไปอ่าน Fund Fact sheet ของกองทุนรวมในต่างประเทศที่กองไทยไปลงทุนด้วย เพราะถ้าอ่านแค่ในสรุปข้อมูลส่วนสำคัญการลงทุนที่ บลจ. ไทย เขียนไว้ จะไม่เพียงพอ เราต้องดูว่า เขาไปลงทุนกองอะไรบ้าง และตามไปดูในรายละเอียดเพิ่มเติมอีกที
ในการเลือกลงทุนกองทุนรวมต่างประเทศ นอกจากดูเรื่องรูปแบบของกการลงทุนของกองทุนรวมแล้ว เรื่องนโยบายการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเป็นอีกเรื่องที่ควรสนใจ
เนื่องจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศนั้น เรื่องค่าเงินบาทแข็งหรืออ่อนค่า สามารถส่งผลต่อผลตอบแทนที่เราจะได้รับได้ บางกองทุนรวมต่างประเทศ ที่ไปลงทุนใน Master fund เดียวกัน แต่นโยบายการบริหารความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนต่างกัน ก็ทำให้ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนอย่างเราได้รับต่างกันได้
ลองคิดคำนวณง่ายๆ แบบนี้
ถ้าค่าเงินนบาทแข็งค่าขึ้น 2%
ถ้ากองทุน Master fund ทำผลตอบแทนได้ +5% เมื่อนำผลตอบแทนกลับเข้าไทย จะเหมือนได้แค่ 3% เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า
ถ้าค่าเงินนบาทอ่อนค่าลง 2%
ถ้ากองทุน Master fund ทำผลตอบแทนได้ +5% เมื่อนำผลตอบแทนกลับเข้าไทย จะเหมือนได้ 7% เนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้ได้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นกจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นด้วย
นโยบายการบริหารความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ในกองทุนรวมต่างประเทศจะเขียนไว้อย่างชัดเจนในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ ในหัวข้อ “คุณต้องระวังอะไรเป็นพิเศษ” นโยบายการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของกองทุนรวม ป้องกันทั้งหมด/ ป้องกันบาส่วน/ ดุลยพินิจ/ ไม่ป้องกัน ถ้าแบบดุลยพินิจคือสามารถปรับเปลี่ยนขึ้นกับผู้จัดการกองทุน
ในการเลือกกองทุนรวมต่างประเทศ ควรดูเรื่องนี้ด้วยนะ ถ้าเราไม่ต้องการให้มีเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเป็นความเสี่ยง ก็เลือกแบบที่มีการป้องกัน หรือถ้าเราคิดว่าความเสี่ยงตรงนี้อาจทำให้มีโอกาสที่ผลตอบแทนดีขึ้น ก็อาจเลือกแบบไม่ป้องกัน หรือดุลยพินิจ ยังไงก็เลือกและลองเทียบกับกองทุนในลักษณะเดียวกันดูนะ
1
#หมอยุ่งอยากมีเวลา #กองทุนรวม #กองทุนรวมต่างประเทศ #FIF #FeederFund #FundOfFunds #ลงทุนต่างประเทศ #ประเภทกองทุนต่างประเทศ #ค่าธรรมเนียม #ผลตอบแทน #ลงทุนกองทุนรวม
โฆษณา