15 ก.ค. 2022 เวลา 01:50 • ไลฟ์สไตล์
รถเมล์ไทย ภาพจำสะท้อนผ่านภาพยนตร์ก่อนการ ปฏิรูปรถเมล์ และข้อกังวลใจผู้ใช้
รถเมล์ไทย ซิ่ง แซง ควันดำ กำลังจะถึงยุคสิ้นสุด ภาพจำก่อนการปฏิรูปรถเมล์ ยกเครื่องใหม่ ปรับปรุงมาตรฐานตั้งแต่การคัดเลือกผู้ประกอบการ รถบัส และการบริการ ที่เคยสะท้อนผ่านภาพยนตร์ไทย เมล์นรก หมวยยกล้อ และ ป๊าด 888 แรงทะลุนรก ความคาดหวังชาวกทม. ที่รอการพิสูจน์
ภาพยนตร์ นอกจากสร้างความบันเทิงและสอดแทรกสาระแนวคิดมุมมองจากผู้กำกับ ยังสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมผ่านเรื่องราวและการนำเสนอ ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์ตลก เสียดสีสองเรื่องของไทย ที่สามารถฉายภาพชีวิตประจำวันของผู้คนที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะ
เช่น รถเมล์ออกมา ได้ทั้งความสนุกสนานและก็ยังเห็นใจผู้คนที่ต้องทนกับพฤติกรรมของผู้ขับขี่รถเมล์ไทยที่คนเคยชิน มาเป็นเวลาหลายสิบปี มีทั้งคนที่ทนใช้บริการต่อและหนีไปขึ้นบีทีเอสหรือเลือกที่ถอยรถยนต์ส่วนตัวออกมาขับเอง ถูกถ่ายทอดบอกเล่าเป็นภาพยนตร์สองเรื่อง ได้แก่
เมล์นรก หมวยยกล้อ (2550)
กำกับภาพยนตร์โดย กิตติกร เลียวศิริกุล นำแสดงโดยนักแสดงตลกชื่อดังของเมืองไทย เช่น โน้ต อุดม แต้พานิช, ซูโม่กิ๊ก เกียรติ กิจเจริญ และป๋าสุเทพ โพธิ์งาม โดยที่เหตุการณ์เกือบทั้งเรื่องถ่ายทำกันบนรถเมล์
  • ตัวอย่างภาพยนตร์ เมล์นรก หมวยยกล้อ
ป๊าด 888 แรงทะลุนรก (2559)
กำกับภาพยนตร์ เขียนบท อำนวยการสร้าง โดย พจน์ อานนท์ นำแสดงโดย แจ๊ส ชวนชื่น
  • ตัวอย่าง ป๊าด 888 แรงทะลุนรก
โดยจะเห็นได้ถึงพฤติกรรมเหมือนๆ กัน ของรถเมล์ไทยที่ผู้สร้างภาพยนตร์นำเสนอออกมา คือ
  • เรื่องความปลอดภัย
  • 1.
    พนักงานขับรถเมล์ ขับเร็ว ขับซิ่ง ขับแข่งกัน
  • 2.
    ปัญหาการคุกคามทางเพศบนรถเมล์
  • เรื่องการบริการ
  • 1.
    การใช้คำพูดกับผู้โดยสาร
  • 2.
    ไม่จอดตามป้าย
  • 3.
    เบรคกระทันหัน ทำให้ผู้โดยสารเกิดอุบัติเหตุ
ซึ่งเป็นที่รู้กันดีสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนน ตัวอย่างเช่น รถเมล์ สาย 8 (บางคัน) ถือได้ว่ามีชื่อเสียงในทางไม่ดีนักและมีข้อร้องเรียนจนเป็นข่าวให้ได้ยินกันบ่อยๆ จากข่าวล่าสุด ได้ออกมาเปิดเผยว่าทางผู้ประกอบการในเส้นทาง สาย 8 แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ ไม่ผ่านเกณฑ์การปฏิรูปรถเมล์ ที่กำลังจะยกเครื่องใหม่โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้นที่ กรมการขนส่งทางบก ได้ตั้งไว้สำหรับการพิจารณาผู้ประกอบการเพื่อรับสัมปทาน
คือการประเมินคุณภาพบริการ 90 คะแนน และเกณฑ์การเยียวยา 10 คะแนน เพื่อเป็นเซตซีโร่สร้างมาตราฐานให้กับรถเมล์ไทย ปรับภาพลักษณ์ให้เป็นขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นตัวเลือกหนึ่งในการให้บริการประชาชน
จากกรุงเทพโพลล์ โดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สํารวจความเห็นประชาชนเรื่อง “ความเดือดร้อนของประชาชน ต่อการใช้บริการรถเมล์ไทย” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนในกรุงเทพและปริมณฑลที่ใช้บริการรถเมล์ จํานวน 1,151 คน เมื่อวันที่ 17-21 มิถุนายน 2565 พบว่า ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดจากการใช้บริการรถเมล์ไทยในปัจจุบันคือ
  • รถขาดระยะ ต้องรอรถนาน ร้อยละ 89.2
  • รถแน่น/ขึ้นไม่ทัน โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน ร้อยละ 44.4
  • รถเก่า/ชํารุด/รถสกปรก ร้อยละ 35.5
  • ช่วงเช้ามืด ตอนคํ่าไม่มีรถเมล์วิ่ง/มีรถน้อย ร้อยละ 30.2
  • ขับรถเร็ว/ขับคร่อมเลน/ไม่ทําตามกฎจราจร ร้อยละ 27.6
  • รถไม่จอดตามป้าย/จอดเลยป้าย ร้อยละ 26.0
  • พนักงานไม่สุภาพ ร้อยละ 16.0
  • สายรถเมล์ที่ใช้ประจํายกเลิกบริการ ร้อยละ 10.8
  • อื่นๆ อาทิ ค่าโดยสารแพงขึ้น ปล่อยควันดํา เครื่องสแกนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้ไม่ค่อยได้ ฯลฯ ร้อยละ 0.9
โดยสิ่งที่กำลังจะมีการปรับเปลี่ยนใหม่ ในการปฏิรูปรถเมล์ครั้งใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้บริการจากข้อมูลที่ทาง mgronline สรุปไว้ ในรอบนี้ประกอบด้วย
มาตรฐานคุณภาพบริการรถเมล์ใหม่
  • 1.
    รถโดยสารไฟฟ้า (EV) ปรับอากาศ ชานต่ำ
  • 2.
    มีที่นั่งรองรับรถเข็นของผู้พิการ
  • 3.
    มีระบบ GPS
  • 4.
    มีกล้อง CCTV ภายนอก ภายในรถเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาสร
  • 5.
    มีระบบ E-Ticket
จาก บทสัมภาษณ์ที่ Spring News ได้พูดคุยกับทางเพจ รถเมล์ไทยแฟนคลับ Rotmaethai แสดงความกังวลถึงผู้ใช้รถเมล์เป็นประจำที่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่เลือกใช้บริการรถเมล์ก็เพื่อประหยัดรายจ่าย ในการเดินทางแต่ละวันจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปในครั้งนี้ อีกทั้งปัญหาใหญ่เรื่องการปรับเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ โดยเลขสายรถเมล์จะแบ่งเป็น 4 โซน ใช้หลักการแบ่งพื้นที่การเดินรถของจุดต้นทางตามทิศของกรุงเทพมหานคร คือ เลขแรกเป็นเลขโซน และตัวเลขหลังเป็นเลขสาย ดังนี้
  • โซนที่ 1 ทิศเหนือ (กรุงเทพฯ โซนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนพหลโยธิน) ขึ้นต้นด้วย 1-เลขสาย (1-1 ถึง 1-68)
  • โซนที่ 2 ทิศตะวันตก (กรุงเทพฯ ชั้นในและโซนตะวันตกเฉียงเหนือ) ขึ้นต้นด้วย 2-เลขสาย (2-1 ถึง 2-56)
  • โซนที่ 3 ทิศตะวันออก (กรุงเทพฯ โซนตะวันออกเฉียงใต้ : ถนนสุขุมวิท) ขึ้นต้นด้วย 3-เลขสาย (3-1 ถึง 3-56)
  • โซนที่ 4 ทิศใต้ (กรุงเทพฯ โซนใต้และตะวันตกเฉียงใต้ ถนนเพชรเกษม) ขึ้นต้นด้วย 4-เลขสาย (4-1 ถึง 4-71)
ซึ่งต้องทำการประชาสัมพันธ์และออกแบบให้เหมาะกับการใช้งาน ไม่สร้างความสับสนให้กับประชาชน
รายละเอียดเลขสายรถเมล์เก่าเทียบกับเลขสายรถเมล์แบบใหม่ ในการปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทาง 269 เส้นทาง ได้ที่ลิงก์นี้
ทั้งนี้การแก้ปัญหาเบื้องต้น คือ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จึงได้มอบหมายให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถเอกชน ใส่เลขสายเดิมควบคู่กับเลขสายใหม่กำกับหน้ารถไว้ด้วยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี เพื่อให้ประชาชนทราบแนวเส้นทางต่าง ๆ ในการเดินทาง จนกว่าประชาชนจะเกิดความคุ้นเคย
โดยต่อไป ดัชนีชี้วัด (KPI) 12 ด้านคุมมาตรฐานบริการรถร่วมเอกชน ประกอบด้วย
เป้าหมาย - ความพร้อมและความน่าเชื่อถือในการให้บริการ
1. การเดินรถตรงตามเส้นทางที่กำหนด
2. การเดินรถครบตามจำนวนเที่ยวที่กำหนด
3. การเดินรถตรงตามเวลาที่กำหนด
เป้าหมาย -คุณภาพการบริการ
4. ความพึงพอใจของผู้โดยสาร
5. ความพึงพอใจต่อคุณภาพตัวรถ
6. การให้บริการของผู้ประจำรถ
7. ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการให้บริการ
เป้าหมาย – ความปลอดภัย
8. อุบัติเหตุและเหตุอาชญากรรม
9. อายุรถและการตรวจสภาพ เสียภาษีของรถในเส้นทาง
เป้าหมาย -การพัฒนาในการใช้บริการ
10. การชำระค่าโดยสารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ตั๋วต่อ ตั๋วร่วม
เป้าหมาย -การบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
11. รถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เป้าหมาย – การรายงานข้อมูล
12. การรายงานข้อมูลที่ตรงต่อเวลา
ส่วนรถเมล์ร่วมเอกชนสายที่ไม่ได้ไปต่อหลายๆ บริษัทก็เริ่มนำปล่อยขาย ทั้งเพื่อเป็นอะไหล่ชิ้นส่วนหรือนำไปใช้ทางธุรกิจต่อเช่น การนำมาทำเป็นร้านอาหาร สร้างกิมมิคที่น่าสนใจให้แก่ร้านค้าของตัวเอง
จากความพยายามที่จะมีการปฏิรูปรถเมล์ไทยครั้งสำคัญนี้ อาจเป็นนิมิตหมายใหม่ที่เราจะได้เห็นรถเมล์ไทยที่มีมาตรฐานมากขึ้น ผู้เล่นหน้าใหม่ที่ยื่นเสนอตัวเข้ามาเป็นผู้ประกอบการก็ต้องปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้งานและดึงให้คนกทม. หันมามองรถเมล์ไทยในภาพลักษณ์ เป็นตัวเลือกในการเดินทางกันมากขึ้น
รวมทั้งต้องไม่มองข้ามผู้มีรายได้น้อยผู้ใช้งานเป็นประจำ ที่อาจจะเดือดร้อนกับการถอดตัวของรถเมล์ร้อนที่ใช้กันมายาวนานที่เป็นทางเลือกในการประหยัดค่าใช้จ่ายในยุคเศร๋ษฐกิจขาขึ้นราคาค่าครองชีพ แต่รายได้ขยับตามไม่ทันแบบนี้ ไม่งั้นจะเสียทั้งลูกค้าประจำและเสี่ยงกับการไม่ได้ลูกค้าใหม่ที่คาดหวังให้เข้ามาใช้งานอีกด้วย
โฆษณา