18 ก.ค. 2022 เวลา 13:20 • การศึกษา
บริหารความเสี่ยงจากค่าเงินผันผวน
1
ในยามที่ค่าเงินมีผันผวนมาก ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับค่าเงินก็คงจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ทำการค้าระหว่างประเทศ
ทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออก การที่จะนำพาธุรกิจฝ่าคลื่นลมมรสุมแห่งความผันผวนจึงเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนจัดการให้ดี จึงจะพอรับมือกับความเสี่ยงนั้นได้
1. ทำสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ( Forward )
คือการลดความเสี่ยงจากค่าเงินผันผวนด้วยการล็อกเรทไว้ล่วงหน้าตั้งแต่วันที่เราจะสั่งซื้อสินค้าหรือได้รับคำสั่งซื้อเข้ามา พอถึงวันที่ต้องชำระเงิน ก็แลกเงินตราต่างประเทศด้วยอัตราที่ตกลงกันไว้แล้วนั่นเอง
การทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้านี้ จะช่วยทำให้ต้นทุนหรือรายได้มีความแน่นอนคงที่ขึ้น โดยไม่ต้องกังวลว่าค่าเงินบาทในวันข้างหน้าหรือเดือนหน้าจะเป็นเท่าใด เพราะได้ล็อกเรทค่าเงินไว้แล้ว
2. ทำประกันค่าเงิน ( FX Options )
ลักษณะคล้ายกับการทำประกันรถ หากเกิดเหตุไม่คาดฝันกับค่าเงินในอนาคต เช่น บาทแข็งค่าหรืออ่อนค่าไปกว่าอัตราที่ทำไว้ เราก็สามารถไปขอเคลมเพื่อรับส่วนต่างคืนได้ แต่ถ้าไม่ได้มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น ค่าประกันนี้ก็เท่ากับว่าซื้อทิ้งไป
วิธีการนี้มีข้อดีคือสามารถเลือกว่าจะใช้สิทธิหรือไม่ มีความยืดหยุ่นกว่าวิธีแรก แต่ข้อเสีย ก็คือผู้ซื้อประกันค่าเงินก็จะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกัน (premium) ในการซื้อสิทธิแลกเงินในอนาคตด้วย
3. ทำการซื้อขายด้วยสกุลเงินท้องถิ่น ( Local Currency )
คือการทำการค้าโดยการตั้งราคาซื้อขายสินค้า (invoicing currency) เป็นเงินบาทหรือใช้เงินสกุลท้องถิ่นอื่น ๆ นอกเหนือจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะเงินสกุลท้องถิ่นส่วนใหญ่มักจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินบาท
4. ใช้บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ ( FCD : Foreign Currency Deposit )
เป็นการเปิดบัญชีเงินฝากด้วยสกุลเงินต่างประเทศไว้ในธนาคาร หากผู้ประกอบการไม่มีความจำเป็นต้องรีบเร่งใช้เงิน ก็สามารถฝากเงินไว้ที่ในบัญชี FCD นี้ก่อน และเมื่อต้องการใช้ หรือเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับที่พอใจแล้วค่อยแลกเป็นเงินบาท
หรือในกรณีผู้ประกอบการมีทั้งรายรับและรายจ่ายเป็นเงินสกุลเดียวกัน ก็สามารถนำเงินฝากในบัญชี FCD นี้ไปชำระค่าสินค้า ได้เลย โดยไม่ต้องเสียค่าส่วนต่างในการซื้อและขายเงินต่างประเทศหลายรอบ
อย่างไรก็ดี การบริหารจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับค่าเงินไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากเรารู้วิธีจัดการอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมได้ การควบคุมเรื่องการเงินก็ไม่น่าปวดหัวจนเกินไปค่ะ
Cr. SCB
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนค่ะ 😊
ติดตามอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา