16 ก.ค. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ “เงินยูโร” จากจุดเริ่มต้นจนถึงวันที่กลับมาอ่อนค่ากว่าดอลลาร์สหรัฐ
2
เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี ที่ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงไปถึงระดับต่ำกว่า 1 ยูโรต่อดอลลาร์สหรัฐ
2
ซึ่งส่วนหนึ่งมันก็สะท้อนให้เห็นถึงหความกังวลใจของหลายคนต่อสภาพเศรษฐกิจของยุโรป ที่มีความเสี่ยงจะเข้าสู่สภาวะถดถอยในช่วงต่อไป
2
เหตุการณ์ในปัจจุบันมีความพิเศษไม่น้อย ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจให้คนรุ่นหลังได้มาศึกษาอย่างแน่นอน
แต่ความพิเศษของเส้นทางของเงินยูโร ไม่ได้พึ่งจะมาเกิดขึ้นในตอนนี้ เมื่อมองย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น การรวมตัวกันของประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปจนถึงขั้นสร้างเป็นสกุลเงินเดียวกันขึ้นมา ก็ถือเป็นเหตุการณ์สุดพิเศษ ที่เป็นกรณีศึกษาสำคัญของนักเศรษฐศาสตร์มาโดยตลอดแล้ว
ในบทความนี้ ทาง Bnomics จึงได้นำเรื่องราวต้นกำเนิดและแนวคิดเบื้องหลังของเงินยูโรกันครับ
📌 ต้นกำเนิดของ “เงินยูโร”
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจกันในระดับประเทศมีหลายระดับด้วยกัน หากไล่ตามระดับความเหนียวแน่น จะเรียงลำดับได้ ดังนี้
  • 1.
    ข้อตกลงการค้า (Preferential Trade Agreement)
  • 2.
    เขตการค้าเสรี (Free Trade Area)
  • 3.
    สหภาพศุลกากร (Custom Union)
  • 4.
    ตลาดร่วม (Common Market)
  • 5.
    สหภาพเศรษฐกิจและทางการเงิน (Economic Union and Monetary Union)
  • 6.
    การร่วมตัวทางเศรษฐกิจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (Complete Economic Integration)
1
การใช้สกุลเงินร่วมกัน จะตกอยู่ในระดับความร่วมมือแบบ สหภาพทางเศรษฐกิจและทางการเงิน ซึ่งระดับความเหนียวแน่นที่มากนี้ ก็ตามมาด้วยประโยชน์ที่มาก และก็ยังมีภาระผูกพันธ์ที่มากด้วยในเวลาเดียวกัน
2
ซึ่งในช่วงที่มีการพัฒนาสกุลเงินร่วมกัน โจทย์ใหญ่ที่จะสร้างประโยชน์และลดความเสี่ยงให้มากที่สุด ก็อยู่ในใจของประเทศกลุ่มสมาชิกมาโดยตลอด
โดยการประชุมแรกๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้เงินสกุลเดียวกัน เกิดขึ้นในปี 1969 ที่ประเทศสมาชิกแสดงเจตจำนงที่จะร่วมมือกันทางด้านนโยบายเศรษฐกิจและการเงินมากขึ้น
2
ในตอนเริ่มแรก พวกเขาก็พยายามที่จะรักษาเสถียรภาพให้ค่าเงินของประเทศสมาชิก ไม่ผันผวนมากจนเกินไป อยู่ในกรอบที่ตกลงกันไว้ แต่ในช่วงแรกก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
1
จนกระทั่งในปี 1979 ก็ได้มีการสร้าง The European Monetary System (EMS) ขึ้นมา และก็ได้มีการสร้างหน่วยค่าเงินที่ใช้วัดทางบัญชีสำหรับแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ เรียกว่า “The European Currency Unit (ECU)” ขึ้นมาพร้อมๆ กันด้วย
ซึ่งตัวหน่วยนี้ ก็คือ ตะกร้าเงินของประเทศสมาชิกในตอนนั้น 12 ประเทศ มีเป้าหมายเพื่อถ่วงดุลไม่ให้การทำธุรกรรมระหว่างประเทศมีความผันผวนมากจนเกินไป อย่างไรก็ดี มันยังไม่ได้ถูกออกแบบให้มาใช้ในฐานะเงินในการซื้อขายแลกเปลี่ยนทั่วๆ ไป ทุกประเทศสมาชิกยังมีสกุลเงินของตัวเองใช้จ่ายไปปกติ
1
ในช่วงเวลานี้ ก็มีความพยายามในการจะสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินที่แนบแน่นมากกว่าเดิมเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ อาจจะมีรัฐบาลบางประเทศที่ไม่เห็นด้วยบ้าง แต่สุดท้ายในปี 1991 ก็ได้เกิดสนธิสัญญาสำคัญฉบับหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า “The Maastricht Treaty”
4
ที่ระบุชัดเจนเลยว่า ประเทศกลุ่มสมาชิกจะร่วมมือกับทางเศรษฐกิจและการเงินอย่างแนบแน่นยิ่งขึ้น ซึ่งนี่ก็เป็นต้นกำเนิดของสหภาพยุโรป (European Union) และก็ได้มีการวางแผนอย่างชัดเจนว่า กลุ่มประเทศสมาชิกจะมีการใช้เงินสกุลเดียวกันอย่างเป็นทางการ
2
ซึ่งก่อนที่จะมีการนำเงินยูโรมาใช้อย่างแท้จริงในระบบเศรษฐกิจ พวกเขาก็ต้องเข้าสู่ช่วงของการเตรียมตัว ตั้งกฎเกณฑ์ของคนที่จะเข้าร่วมใช้สกุลเงินเดียวกันได้ และก็ต้องทดสอบว่า ประเทศสมาชิกสามารถที่จะปรับค่าเงินให้เข้าสู่วัฎจักรเดียวกันโดยที่ไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศตนเองอย่างรุนแรงได้หรือไม่
ในกระบวนการช่วงนี้ ก็มีประเทศที่ขอถอนตัวออกไปจากการใช้เงินสกุลเดียวกัน ประเทศที่สำคัญที่สุด ก็คือ สหราชอาณาจักร ที่ในตอนนั้น ถือได้ว่าเป็นเศรษฐกิจเบอร์ 2 ของสหภาพยุโรปด้วย
1
เหตุผลสำคัญที่ทางสหราชอาณาจักรเลือกที่จะไม่ใช้เงินสกุลเดียวกันกับชาติสมาชิกอื่น เพราะว่า พวกเขามีขนาดของภาคการเงินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ทำให้พวกเขาอยากที่จะเก็บทางเลือกของเครื่องมือทางการเงินไว้มากที่สุด
1
เพราะหากเลือกใช้เงินสกุลเดียวกับประเทศอื่นๆ ก็จำเป็นที่ต้องตอบรับนโยบายทางการเงินจากส่วนกลาง ที่มาจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) นั่นเอง
1
หลังจากที่ทดสอบกันประมาณเกือบ 10 ปี เงินยูโรก็ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 1999 ซึ่งในช่วงปีแรกๆ ทางรัฐบาลของประเทศก็ยังอนุญาตให้มีการใช้สกุลเงินเก่าของประเทศควบคู่ในการใช้จ่ายไปได้ ก่อนที่ในปี 2002 เงินสกุลยูโรก็กลายเป็นเงินถูกต้องตามกฎหมายแต่เพียงสกุลเดียวของประเทศสมาชิก
4
📌 ข้อดีและข้อเสียของการใช้เงินยูโร
2
ข้อดีของการมีเงินสกุลเดียวกันมีอยู่หลายประการ ที่สำคัญมาก ก็คือ การลดความเสี่ยงทางด้านอัตราการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศสมาชิก
สิ่งนี้ช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกมากขึ้น การกู้ยืม ซื้อขายสินค้าและวัตถุดิบ การจ่ายค่าจ้างแรงงาน ก็ทำได้สะดวกมากขึ้น มีการไหลเวียนของสินค้าและแรงงานที่มีคุณภาพและถูกที่สุดระหว่างประเทศสมาชิกได้ง่ายขึ้น เนื่องจากพวกเขาไม่จำเป็นต้องกังวลปัญหาด้านอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างกัน
1
ซึ่งก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กลุ่มประเทศสมาชิกเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ ในด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และการรวมกลุ่มที่ใหญ่ขนาดนี้ ก็ทำให้พวกเขามีอำนาจต่อรองในเวทีโลกอย่างมาก โดยหากคิดจากขนาด GDP และการค้าแล้ว การรวมตัวกันก็ทำให้พวกเขามีความใกล้เคียงกับสหรัฐฯ มากขึ้นกว่าเดิม
1
แต่อย่างที่เรากล่าวไปตั้งแต่ส่วนต้นของบทความ ความแนบแน่นที่มากขนาดนี้ก็ตามมาด้วยภาระที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน
1
ส่วนสำคัญที่สุด คือ การที่ประเทศใช้เงินยูโร พวกเขาต้องละทิ้งเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญไปหลายอย่าง ที่สำคัญที่สุด คือ พวกเขาจะไม่สามารถพิมพ์เงินได้ตามใจชอบ และก็ไม่สามารถกำหนดดอกเบี้ยนโยบายตามภาวะเศรษฐกิจของตนเองได้
1
เพราะหน้าที่นั้น จะเป็นการตัดสินใจจากธนาคารกลางยุโรป พอมีขีดจำกัดด้านนโยบายการเงิน ประเทศก็ต้องหันไปพึ่งพานโยบายการคลังมากขึ้นนั่นเอง
1
ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ทางสหภาพยุโรปก็กังวลใจตั้งแต่เริ่มแรก พวกเขาจึงได้พยายามคัดสรรประเทศที่คุณสมบัติและวัฏจักรทางเศรษฐกิจที่คล้ายกัน
โดยวัดจากหลายด้าน ได้แก่ การที่หนี้สาธารณะและการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่ติดลบมากจนเกินไป การมีเสถียรภาพทางด้านราคาหรือก็คือ เงินเฟ้อไม่สูงไป อัตราแลกเปลี่ยนผกผันตามเงินยูโร และการที่อัตราดอกเบี้ยในระยะยาวไม่ห่างจากกลุ่มคนที่ใช้เงินยูโร
แต่ตอนที่คัดเลือกประเทศเข้าร่วมจริง ก็มักจะมีการผ่อนผันเกณฑ์บางอย่าง อย่างกรีซเอง ตอนที่เข้าร่วมมาได้ก็ยังไม่สามารถบรรลุเกณฑ์การคัดเลือกทุกข้อ ซึ่งสุดท้าย กรีซเป็นประเทศสำคัญที่มีปัญหาเศรษฐกิจหลังจากเข้ามาใช้เงินยูโร จนลามเป็นวิกฤติหนี้ของยุโรป
ซึ่งตอนนั้น ทางประเทศมหาอำนาจและธนาคารกลางยุโรป ก็ต้องกลืนน้ำลายตนเอง จากที่เคยบอกว่า นโยบายการเงินไม่ได้มีไว้ เพื่อช่วยประเทศใดประเทศหนึ่งแบบเจาะจง เพื่อให้สมาชิกมีวินัยในตัวเอง สุดท้ายก็ต้องตั้งกองทุนมาช่วยแก้ปัญหาหนี้ในตอนนั้น
สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในตอนนั้นก็ทำให้ค่าเงินยูโรในอ่อนค่าลงไปเช่นกัน อย่างไรก็ดี วิกฤติครั้งนั้นก็ยังไม่ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าไปจนถึงระดับที่ 1 ยูโรแลก 1 ดอลลาร์สหรัฐไม่ได้
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้จึงมีความพิเศษอย่างยิ่ง เป็นความประจวบเหมาะของทั้งสถานการณ์ในภูมิภาคเอง และในโลกด้วย ซึ่งมันก็จะกลายเป็นบทเรียนที่สำคัญ ที่เพิ่มเข้าไปสู่เส้นทางที่ไม่ธรรมดาของเงินสกุลยูโรต่อไป...
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
3

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา