9 ก.ค. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ผู้กำหนดทิศทางการเงินโลก
เมื่อพูดถึงผู้ซึ่งกำหนดทิศทางการเงินโลก เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีชื่อของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Federal Reserve (Fed) รวมอยู่ในนั้นด้วย
เนื่องด้วยฐานะของการเป็นธนาคารกลางของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด และมีอิทธิพลทางการเมืองมากที่สุดในโลก
และก็ยังเป็นผู้ควบคุมสกุลเงินที่มีการใช้ทำธุรกรรมมากที่สุดในปัจจุบันอย่างดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เมื่อ Fed พูดหรือทำอะไร ทั่วโลกก็ต้องตั้งอกตั้งใจฟังเป็นพิเศษ
แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ แท้จริงแล้ว เคยมีช่วงที่สหรัฐฯ ไม่มีธนาคารกลางในประเทศเช่นกัน ซึ่งก็ทำให้เกิดความผันผวนทางการเงินไม่น้อย จนมาถึงจุดหนึ่งที่พวกเขาตัดสินใจว่า “จำเป็นต้องสร้างธนาคารกลางของตัวเอง” สักที
เรื่องราวทั้งหมดนี้ จะเป็นสิ่งที่ Bnomics จะมาเล่าให้ทุกคนในบทความนี้กันครับ
📌 ก่อนหน้าจะมี Fed
ย้อนกลับไปในช่วงแรก หลังจากสหรัฐฯ ได้รับอิสรภาพอย่างเบ็ดเสร็จจากประเทศอังกฤษ แนวคิดเรื่องธนาคารกลางของประเทศถูกถกเถียงกันอย่างมากในสหรัฐฯ ว่าควรจะมีหรือไม่
โดยเหตุผลที่สำคัญประการหนึ่ง ที่พวกเขาไม่อยากตั้งธนาคารกลางขึ้นมา เพราะว่า พวกเขาคิดว่า ธนาคารกลางเป็นแนวคิดแบบอังกฤษ สหรัฐฯ อยากมีตัวตนของตัวเองที่แยกออกมา ก็ไม่ควรนำสิ่งที่อังกฤษใช้ทั้งหมด มาใช้เลยทันที
และอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญ คือ พวกเขาอยากสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันเสรี ก็คิดว่าไม่ควรมีใครเข้ามาควบคุมตลาดการเงินได้
1
แต่ในด้านคนที่เห็นควรให้ตั้งธนาคารกลางขึ้นมาก็มีอยู่เช่นกัน บุคคลที่สำคัญที่สุดในตอนนั้นที่คิดว่า ควรมีการตั้งธนาคารกลาง คือ Alexander Hamilton ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง (Secretary of the treasury) คนแรกของสหรัฐฯ
4
ซึ่งความพยายามของเขา ก็สำเร็จในระดับหนึ่ง เมื่อ “Bank of the United State” ได้ถือกำเนิดขึ้นมา อาจจะเรียกได้ว่า เป็นธนาคารกลางแห่งแรกของสหรัฐฯ ก็ได้ แต่ในรายละเอียดของการเครื่องมือการเงินที่มียังแตกต่างกันปัจจุบันพอสมควร
แต่อย่างที่กล่าวไป ยังมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และก็ยังไม่เห็นความจำเป็นของธนาคารกลางอยู่ ทำให้สุดท้าย Bank of the United State ก็ดำเนินงานได้ไม่นานนัก รวมการเปิดสองครั้ง* มีอายุรวมแค่ 40 ปีเท่านั้น
* Bank of the United State ถูกปิดตัวลงหนึ่งครั้งและกลับมาเปิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่ละครั้งมีอายุการดำเนินงานประมาณ 20 ปี
ซึ่งหลังจากนั้น สหรัฐฯ ก็เข้าสู่ช่วงที่ไม่มีธนาคารกลางอยู่ประมาณ 70 ปี ตั้งแต่ปี 1836 – 1913
และก็เป็นช่วงนี้เองที่สหรัฐฯ ได้บทเรียนครั้งสำคัญ จากความผันผวนทางการเงินที่เกิดขึ้นตลอดยุค จนนำมาซึ่งการก่อตั้งธนาคารกลางในที่สุด
อธิบายถึงวิกฤติการเงินในยุคนั้นสักเล็กน้อย วิกฤติการเงินในยุคนั้นมักจะถูกเรียกว่า “Bank Panic” เพราะ มันเกิดจากความ Panic หรือตื่นตระหนกของผู้คน ที่ไม่เชื่อมั่นในภาคธนาคารเมื่อเกิดวิกฤติขึ้น
1
โดยพื้นฐานแล้ว เมื่อธนาคารแห่งหนึ่งเริ่มมีปัญหา พวกเขาก็มักจะสร้างปัญหาให้กับธนาคารแห่งอื่นๆ ด้วย ในแง่ทั้งจากเงินฝาก เงินกู้ยืม หรือสภาพความเชื่อมั่นโดยรวมของผู้คน ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็ยังเกิดขึ้นในปัจจุบันอยู่ด้วย
ซึ่งในวิกฤติแบบนี้ ก็จะมีทั้งธนาคารที่มีความสามารถในการรับมือ และก็ธนาคารที่ไม่มีความสามารถในการรับมือดีพอ
ซึ่งในปัจจุบัน ธนาคารกลางก็จะคอยสอดส่อง ดูแล ควบคุม ให้ทุกคนทำตัวให้พร้อมกับวิกฤติเสมอ และก็ยังเป็นที่กู้ยืมแหล่งสุดท้าย (Lender of last resort) ให้กับธนาคารได้หากจำเป็นจริงๆ
การที่มีธนาคารกลางคอยทำหน้าที่ ก็เหมือนเป็นการรับประกันกับผู้คนให้ไม่ต้องตื่นตระหนกจนเกินไป เงินที่พวกคุณฝากในธนาคารจะได้รับการปกป้องอยู่ ไม่ต้องรีบแห่ไปถอนเงินกันหรอก
แต่พอย้อนกลับไปในยุคที่สหรัฐฯ ยังไม่มีธนาคารกลาง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นตรงกันข้ามกัน เมื่อมีธนาคารแห่งหนึ่งล้มลงไป ประชาชนก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า ใครเป็นใคร ธนาคารแห่งไหนมีความสามารถดีพอจะผ่านวิกฤติ และก็ไม่มีใครรับประกันเงินฝากของพวกเขาได้
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ก็คือ “ความตื่นตระหนก” ที่ทำให้คนแห่กันไปถอนเงินออกมาจากธนาคาร ทำให้แม้แต่ธนาคารที่ทำตัวดี ก็ขาดสภาพคล่องจนล้มละลายไปด้วย
เหตุการณ์วิกฤติครั้งสำคัญ ที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 1907 วิกฤติครั้งนี้ถูกเรียกว่า “Bank Panic of 1907” ซึ่งตอนนั้นเกิดเหตุการณ์ปั่นราคาหุ้นขึ้นด้วย ทำให้วิกฤติการเงินครั้งนั้น ยิ่งสร้างความตื่นตระหนกกับประชาชน
โดยในตอนนั้นก็มีมหาเศรษฐีชาวอเมริกาผู้หนึ่ง ขึ้นมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดการปัญหา คนๆ นั้นคือ J.P. Morgan
📌 ก่อร่างสร้าง Fed
อย่างที่บอกไป ในวิกฤติการเงิน ก็จะมีทั้งสถาบันการเงินที่รับมือกับปัญหาได้ และก็ธนาคารที่ไม่สามารถรับมือกับปัญหาได้ แต่เมื่อประชาชนตื่นตระหนกจนแห่ไปถอนเงิน สุดท้ายแม้กระทั่งธนาคารที่ดี ก็จะต้องล้มละลายไปด้วย
J.P. Morgan ก็เล็งเห็นปัญหานี้ ทำให้เขาเรียกประชุมนักธุรกิจและนักการเงินคนสำคัญที่แมนชั่นของเขา บนถนน Wall Street เพื่อจัดการปัญหาสภาพคล่องกันเอง
โดยพวกเขาก็ได้ทำการอัดฉีดเงินเข้าไปสู่ระบบการเงิน ให้กับธนาคารที่ดีทั้งหมด เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนั้นมาแบบไม่เจ็บตัวมากจนเกินไป
การกระทำครั้งนี้ยังส่งแรงกระเพื่อมต่อไปถึงภาครัฐและประชาชนทั่วไป ทำให้ทุกคนเห็นว่า ประเทศต้องมีธนาคารกลางมาคอยจัดการปัญหาเวลาเกิดวิกฤติแบบนี้ ไม่ใช่คอยพึ่งพากลุ่มเศรษฐีใจดีอย่างที่ J.P. Morgan รวบรวมมา
ซึ่งการตกลงรายละเอียดหน้าตาของ Fed ก็ใช้เวลามากถึง 5 ปี เพื่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องแฮปปี้ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ต้องผ่านการดูงานในยุโรป และการตกลงกับกลุ่มอุตสาหกรรมและเกษตรกร ที่กลัวว่า ธนาคารกลางจะเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจการเงินมากไป
จนในที่สุด ในปี 1913 ก็มีการก่อตั้ง Federal Reserve ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีความพิเศษยิ่งกว่าธนาคารกลางใดที่เคยมี เพราะ แทนที่จะมีเพียงหนึ่งแห่ง พวกเขามีสาขาธนาคารกลางถึง 12 แห่ง
และแต่ละแห่งก็มีฐานะเป็นองค์กรเอกชนด้วย มีหุ้นของตัวเอง ที่บังคับให้ภาคธนาคารในท้องที่ต้องเอาเงินมาฝากไว้ 6% ของสินทรัพย์ตนเอง และทาง Fed ก็จะจ่ายเงินปันผลกลับไปให้ หากดำเนินงานได้กำไรในปีนั้นๆ
แต่อำนาจในการตัดสินสำคัญก็จะอยู่ที่คณะกรรมการส่วนกลาง ที่ถูกแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีสหรัฐ คนสำคัญที่สุด คือ ประธาน Fed โดยคนที่ดำรงตำแหน่งปัจจุบัน คือ นายเจอโรม พาวเวล (Jerome Powell)
โดยเครื่องมือและบทบาทของ Fed (รวมถึงธนาคารกลางประเทศอื่นด้วย) ก็ถูกพัฒนาขึ้นมาตามกาลเวลา ผ่านประสบการณ์และองค์ความรู้ด้านนโยบายการเงินที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
วิกฤติครั้งสำคัญ ที่ทาง Fed จำเป็นงัดกลยุทธ์ต่างๆ จากตำราออกมาใช้สารพัด และก็มีส่วนสำคัญให้สหรัฐฯ ผ่านพ้นวิกฤติมาได้แบบไม่เจ็บตัวอย่างที่ควรจะโดน คือ ในตอนปี 2008 วิกฤติการเงินโลก
ซึ่งในตอนนั้น ก็เกิดความไม่ไว้วางใจและตื่นตระหนกกัน ไม่ใช่แค่กับภาคประชาชนเท่านั้น ในภาคการธนาคารเอง ก็มีความกลัวที่จะปล่อยให้กู้ยืมเงินระหว่างกัน ต้นทุนการเงินต่างๆ ก็พุ่งสูง สภาพคล่องก็ไม่มี เศรษฐกิจก็ยากจะไปต่อ
จน Fed เลือกที่จะใช้นโยบายการเงินนอกกรอบ (Unconventional Monetary Policies) เป็นกรณีศึกษาครั้งสำคัญของขีดความสามารถนโยบายการเงินจนถึงปัจจุบัน
และก็ยังมีวิกฤติเศรษฐกิจในอดีตอีกหลายครั้งที่ Fed เข้ามามีบทบาทช่วยให้สหรัฐฯ ผ่านพ้นไปได้ จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การตั้งธนาคารกลางขึ้นมาถือเป็นก้าวที่วางรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ เลยทีเดียว
1
และด้วยบทบาทของการเป็นธนาคารกลางของประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่ง และเป็นผู้ควบคุมปริมาณเงินที่ถูกใช้มากที่สุดในโลก อย่างดอลลาร์สหรัฐ ก็ทำให้ Federal Reserve เป็นหนึ่งในผู้เล่นคนสำคัญ ที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางของตลาดการเงินและเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่ในสหรัฐฯ ด้วยซ้ำ แต่เป็นกับทั้งโลกเลยทีเดียว...
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา