17 ก.ค. 2022 เวลา 07:56 • หนังสือ
ผ้าซิ่นตีนจกไทยวนราชบุรี รูปแบบหนองโพ บางกะโด (ตระกูลหนองโพ บางกะโด)
(เมตตากดติดตามด้วยนะครับ)
ผ้าซิ่นตีนจกรูปแบบหนองโพ บางกะโด พบในชุมชนชาวไทยวน บริเวณตำบลหนองโพ บางกะโด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ผ้าโบราณอายุมากกว่า 125 ปี (เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ "ซิ่นตีนจกแบบเชียงแสนราชบุรี")
ประกอบด้วยโครงสร้างซิ่น 3 ส่วน ดังนี้
"หัวซิ่น" เป็นโครงสร้างที่อยู่ตำแหน่งบนสุด มักจะทอขัดธรรมดาด้วยเส้นฝ้ายเนื้อดีขนาดเล็ก ในลักษณะผ้าพื้นสีแดง หรือสีขาวและสีแดงเย็บต่อกัน
"ตัวซิ่น" เป็นโครงสร้างที่อยู่ตำแหน่งกลางระหว่างโครงสร้างหัวซิ่น และตีนซิ่น ใช้เส้นยืนเป็นไหมสีดำ หรือสีแดง และเส้นพุ่ง (เส้นพุ่งปกติ) เป็นเส้นไหมหลากสี ทอด้วยเทคนิคที่หลากหลาย เช่น เทคนิคทอขัดธรรมดาเป็น “ลายริ้วแนวขวางสลับสี" (การสลับสีเส้นพุ่ง), เทคนิคมัดหมี่เป็น “ลายขอเหลี่ยว” “ลายกากบาท” “ลายฟันปลา” “ลายข้อ” และ, เทคนิคมุก หรือยกมุก (เทคนิคการขิด) เป็น "ลายมุกดอกแก้ว” “ลายมุกขอ” “ลายมุกบัวลอย”
จัดวางลวดลายตัวซิ่นในแนวขวางลำตัวโดยให้ระยะเท่ากันสม่ำเสมอ ทั้งนี้ในการทอโครงสร้างตัวซิ่นจะทอลวดลายตามความกว้างของหน้าผ้าบนกี่ทอ ดังนั้นลวดลายตามแนวขวางที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากเส้นพุ่ง (ความกว้างของหน้าผ้า มีความสัมพันธ์กับขนาดความกว้างของฟืม) ทั้งนี้พบว่าซิ่นรูปแบบนี้มักจะใช้ผ้าที่มีหน้าผ้าแคบมาก เป็นผลให้ต้องใช้ผ้า 3 ผืนนำมาเย็บต่อกันเป็น “บ้วง” (เย็บต่อกันเป็นถุง) โดยมี 3 ตะเข็บ อันเป็นลักษณะพิเศษของผ้าตีนจกรูปแบบหนองโพ บางกะโด (ตระกูลหนองโพ บางกะโด)
"ตีนซิ่น" เป็นโครงสร้างที่อยู่ตำแหน่งล่างสุด นิยมใช้เส้นยืนและเส้นพุ่ง (เส้นปกติ) เป็นเส้นไหมสีแดง สีดำ และสีเหลือง ทอด้วยเทคนิคทอขัดธรรมดาเป็นพื้น เรียก "ท้องผ้า" "คั่นห้อง" และ "เล็บ" ทอตกแต่งลวดลายด้วยเทคนิคจก ซึ่งนิยมใช้เส้นไหมหลากสีสันในการทอจกแทรกเข้าไป ทั้งนี้ได้แบ่งโครงสร้างลวดลายตีนซิ่นเป็นห้องๆ โดย "คั่นห้อง" ด้วยเส้นยืนไหมสีดำ
ในการจัดวางลวดลายตีนซิ่นนั้นจะแบ่งออกเป็นส่วนๆ ลวดลายที่นิยมทอคือ “ลวดหักนกคู่กินน้ำฮ่วมเต้า” “ลายนกคู่กินน้ำฮ่วมเต้า” โดยหางนกจะมีความยาวมากกว่าที่พบในผ้าตีนจกรูปแบบคูบัว (ตระกูลคูบัว) คล้าย “พญาหงส์ ” ลักษณะเช่นนี้ใกล้เคียงกับ “ลายหงส์ดำ” ใน “ซิ่นตีนจกเชียงแสน” ที่พบในล้านนา บางครั้งจะมีลวดลายจกล่างสุดเป็นเส้นยาวแนวตั้งหลายเส้น เรียกว่า “หางสะเปา” ถัดลงไปจะเว้นให้เห็นท้องผ้า เป็นพื้นสีแดงไปจนถึง “เล็บ” ซึ่งจะอยู่ล่างสุดในโครงสร้างตีนซิ่นโดยจะเห็นเป็นลายริ้วสีเหลือง
ข้อมูลสัมภาษณ์ : อ. ดร. อุดม สมพร (จ. ราชบุรี)
เรียบเรียงข้อมูล, เขียน : อรรถพงษ์ ประดิษฐพงษ์
รูปภาพ : หนังสือผ้าไทยวน ราชบุรี
สามารถแชร์ข้อมูลและรูปภาพได้
แต่ขอสงวนสิทธิ์ในการคัดลอกข้อมูล และรูปภาพเพื่อไปใช้ในงานส่วนตัว ก่อนการได้รับอนุญาตทุกกรณีครับ
.
อ้างถึงสิทธิในลิขสิทธิ์เกิดขึ้นทันที นับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาโดยไม่ต้องจดทะเบียน หรือผ่านพิธีการใดๆ
โฆษณา