18 ก.ค. 2022 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์
#WARP วังวนของ “แชร์แม่ชม้อย” เมื่อเราตกอยู่ในวังวนของความอยากรวยเร็ว
1
หากพูดถึงขบวนการฉ้อโกงประชาชน หนึ่งในเคสที่โด่งดังและทุกคนรู้จักกันคือ “คดีแชร์แม่ชม้อย” ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี 2520 - 2528 คดีนี้กลายเป็นหนึ่งในคดีที่ถูกพูดถึงอย่างมากในแง่ของความใหม่ของกระบวนการโกงในยุคนั้นที่ยังไม่มีข้อกฎหมายใดที่สามารถเอาผิดตัวผู้กระทำได้ รวมไปถึงการเป็นโมเดลใหม่ของกลโกงที่ยังสามารถหลอกล่อเหยื่อได้เสมอมาจนถึงปัจจุบัน
1
นางชม้อย ทิพย์โส เป็นชาวจังหวัดสิงห์บุรี เธอทำงานในองค์การน้ำมันเชื้อเพลิงในตำแหน่งเสมียนธุรการ กลโกงของเธอเริ่มจากการเปิดบริษัทน้ำมันปิโตรเลียมในชื่อ บริษัท ปิโตเลียม แอนด์ มารีน เซอร์วิส จำกัด เพื่อดำเนินการกิจการซื้อขายน้ำมันทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ซึ่งมีเงื่อนไขการลงทุนคือ การนำเงินลงทุนของลูกแชร์ไปซื้อรถบรรทุกน้ำมัน 1 คันในวงเงิน 160,800 บาท โดยจะได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย 6.5% หรือเป็นเงิน 10,450 บาท วิธีคิดง่ายๆ คือลงทุนด้วยวงเงินเต็มจำนวนโดยได้ดอกเบี้ยที่สูงมากซึ่งในระยะเวลา 18 เดือนก็สามารถได้ทุนคืน จากนั้นเงินดอกเบี้ยที่เหลือก็เป็นกำไร มากไปกว่านั้นในช่วงแรกยังจ่ายเงินตรงเวลาและยังสามารถถอนทุนคืนได้ตลอดเวลา
1
ซึ่งวิธีการจ่ายดอกเบี้ยนั้นแม่ชม้อยจะนำเงินจากผู้ลงทุนหน้าใหม่มาจ่ายให้ผู้เข้าร่วมเก่า เพื่อจะทำให้มีเงินหมุนในระบบไปเรื่อย ๆ ยิ่งไปกว่านั้นด้วยผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยธนาคาร อีกทั้งการทำงานอยู่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยของแม่ชม้อย ทำให้วงแชร์วงนี้ความน่าเชื่อถือและทำให้คนมาร่วมลงทุน มีตั้งแต่เป็นข้าราชการ นักธุรกิจ พ่อค้าแม่ค้า รวมไปถึงบุคคลธรรมดา ทำให้แชร์แม่ชม้อยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
1
ต่อมาเธอได้เปิดแชร์วงเล็กเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าชนชั้นกลางและผู้มีรายได้น้อย ที่รู้จักกันในชื่อ แชร์ล้อรถ คือการลงทุนในล้อรถบรรทุกน้ำมัน ซึ่งมีราคาล้อละ 40,000 บาท โดยจะได้ดอกเบี้ย 6.5% ต่อเดือน ซึ่งผลตอบรับก็ดีเกินคาดเพราะคิดว่าลงทุนไป 15 เดือนจากนั้นก็ได้ทุนคืน และจากการให้ดอกเบี้ยที่สูงและการจ่ายดอกเบี้ยที่ตรงเวลา ทำให้มีผู้ที่สนใจเข้ามาลงทุนอยู่เรื่อย ๆ เงินลงทุนจากนักลงทุนจึงเป็นเหมือนท่อน้ำเลี้ยงวงแชร์แม่ชม้อยให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้นและสามารถยืนระยะได้นาน
2
การเติบโตของวงแชร์ทำให้รัฐบาลได้จับตาเป็นพิเศษ แต่เนื่องด้วยกฎหมายที่เป็นช่องโหว่ในตอนนั้นยังไม่สามารถเอาผิดแม่ชม้อยและพวกได้ ดังนั้นเพื่อปิดช่องโหว่ดังกล่าวจึงทำให้มีการออกกฎหมายตราพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยมีผลใช้บังคับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2527 หรือที่เรียกว่ากฎหมายจับแชร์ลูกโซ่ เพื่อมาจัดการกับแชร์แม่ชม้อย เพราะรัฐบาลเชื่อว่าการลงทุนแชร์น้ำมันแบบนี้เป็นภัยร้ายแรงต่อประชาชนเพราะเป็นการหลอกลวง และเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
1
ในขณะเดียวกันแม่ชม้อยก็ยังไม่ได้หยุดการรับเงินแชร์ และก็ยังอ้างกับผู้เข้าร่วมลงทุนว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมายอีกด้วย ก่อนที่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2528 แชร์แม่ชม้อยเริ่มมีการไม่จ่ายเงินดอกเบี้ยให้แก่ลูกแชร์ จนทำให้ในวันที่ 26 มิถุนายน 2528 ผู้เสียหายจึงรวมตัวกันไปแจ้งความเอาผิดแม่ชม้อย
2
ส่งผลทำให้ในอีกไม่ถึง 1 เดือนต่อมา กองปราบปรามสามารถจับแม่ชม้อยพร้อมพวกอีก 9 คน ได้ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2528 จากนั้นจึงได้แต่งตั้งพนักงานสอบสวนขึ้นประมาณ 100 คน เพื่อทำการสอบสวนผู้เสียหายจำนวน 16,231 คน ซึ่งที่ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ไว้
คิดเป็นมูลค่าความเสียรวมกว่า 4,500 ล้านบาท แบ่งความเสียหายเป็น ผู้เสียหายก่อนที่จะมีพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินฯ มีผู้เสียหาย 13,248 คน รวมเป็นเงิน 4,043,997,795 บาท และผู้เสียหายหลังที่จะมีพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินฯ มีผู้เสียหายจำนวน 2,983 คน รวมเป็นเงิน 510,584,645 บาท โดยวันที่ 3 ก.ย. 2528 กองปราบฯ นำสำนวนการสอบสวนแม่ชม้อย 71,521 แผ่น ไปมอบให้พนักงานอัยการเตรียมส่งฟ้องศาล คดีนี้ใช้เวลาสืบพยานในศาลนานถึง 4 ปี จนศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อ 27 ก.ค. 2532
2
ศาลพิพากษาให้นางชม้อยและพวกรวม 10 คน มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา ให้จำคุกเป็นเวลา 117,595 ปี (รวม 23,519 กระทง) และฐานฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 อีก 36,410 ปี (กระทงละ 10 ปี รวม 3,641 กระทง) รวมจำคุก คนละ 154,005 ปี
1
แต่ด้วยประมวลกฎหมายอาญาให้จำคุกได้ไม่เกิน 20 ปี ศาลจึงตัดสินให้แม่ชม้อยและพวกจำคุกคนละ 20 ปี แต่แม่ชม้อยจำคุกจริงเพียง 7 ปี 11 เดือน 5 วันเท่านั้น เพราะเป็นนักโทษชั้นดี และได้รับอภัยโทษถึง 2 ครั้ง ออกจากเรือนจำมาในวันที่ 27 พ.ย. 2536
ซึ่งนอกจากโทษจำคุก ศาลยังสั่งให้แม่ชม้อยพร้อมพวกคืนเงินผู้เสียหาย รวมจำนวน 4,043,997,795 บาท แก่ผู้เสียหายแต่ละคนตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข 1 และร่วมกันคืนเงินกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน รวมจำนวน 510,584,645 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ฟ้องจนกว่าจะคืนเงินครบคดี
กลโกงของแชร์ลูกโซ่ปัจจุบันยังมีให้เห็นอยู่เสมอ แม้ว่าวิธีการโกงอาจจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยแต่วิธีการและแนวทางที่มักจะใช้หลอกผู้คนได้สำเร็จอยู่ทุกครั้งไปก็คงหนีไม่พ้นการลงทุนน้อยได้ผลตอบแทนมาก สามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาสั้นมาหลอกล่อเพื่อให้เหยื่อคล้อยตาม การเล่นกับความคาดหวังของเหยื่อที่หวังจะมีอนาคตที่ดี มีความฝันที่หวังว่าจะทำได้ ล้วนแล้วแต่เป็นใจความสำคัญที่ผู้ไม่หวังดีใช้กับเหยื่อได้ตลอดมา
1
CONTENT: NANIRIN T.
IMAGE: เดลินิวส์
#Modernist - ชัด ทัน บันดาลใจ
ติดตามเราได้ทาง https://www.modernist.life
Facebook / Twitter / Instagram / TikTok : @lifeatmodernist
.
ติดต่อโฆษณา: 061-662-9142
โฆษณา