18 ก.ค. 2022 เวลา 11:06 • ไอที & แก็ดเจ็ต
อุดมการณ์ทางการเมืองอันแรงกล้าทำให้เกิดการแสดงออกถึงจุดยืนทางความคิด เฉกเช่นเดียวกับเหล่าแฮกติวิสต์ที่มีบทบาทไม่น้อยในการเรียกร้องทางการเมืองในอนาคตผ่านโลกไซเบอร์
แฮกติวิสต์ (Hacktivist) มาจากการรวมคำว่า แฮกเกอร์ (Hacker) และ แอกติวิสต์ (Activist) เข้าด้วยกัน หมายถึง แฮกเกอร์ที่ทำการแฮกหรือเจาะเข้าถึงข้อมูลในระบบเพื่อเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งแตกต่างจากแฮกเกอร์ที่ถูกว่าจ้างอาชญากรไซเบอร์ที่ต้องการนำข้อมูลไปขายหรือขู่แบล็กเมล หรือแฮกเกอร์แบบอื่นๆ
เพราะแฮกเกอร์ประเภทแฮกติวิสต์จะทำการแฮกโดยมีอุดมการณ์ทางการเมืองของตนเป็นแรงจูงใจสำคัญเท่านั้น และถึงแม้ว่าการแฮกเพื่อการเรียกร้องทางการเมืองจะมีเพียง 26% ของแฮกเกอร์ทั่วโลก แต่ความเคลื่อนไหวของแฮกเกอร์กลุ่มนี้ก็กำลังเป็นที่จับตามองจากคนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่สถานการณ์ทางการเมืองทั่วโลกมีความผันผวนสูง เป็นที่จับตาของประชาชนถึงประเด็นความมั่นคงทางไซเบอร์ของรัฐบาล
2
แฮกติวิสต์มีการสร้างความปั่นป่วนให้แก่กลุ่มเป้าหมายได้หลายวิธี ตั้งแต่การส่งข้อความประท้วงเรียกร้องเช่นเดียวกับการไปเดินขบวนบนท้องถนน เข้ายึดสิทธิการใช้งานโซเชียลมีเดียของหน่วยงานเป้าหมาย แล้วทำให้หน้าเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มของเป้าหมายใช้การไม่ได้ด้วยวิธีการโจมตีทางไซเบอร์ เช่น Distributed Denial-of-Service (DDoS) ไปจนถึงการเจาะระบบฐานข้อมูลและเอาข้อมูลทุจริต ความลับทางราชการ หรือข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องสงสัยมาเปิดเผยในที่สาธารณะ
อย่างไรก็ตาม ยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ว่าการเป็นแฮกเกอร์เพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ ในด้านหนึ่งชี้ให้เห็นว่าแฮกติวิสต์มีบทบาทสำคัญในการเข้าถึงและนำข้อมูลด้านลบที่ถูกเก็บงำออกมาตีแผ่ในสังคม เช่น ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม หรือกรณีร่วมรณรงค์ในข้อเรียกร้อง #BlackLiveMatter โดยการปล่อยคลิปวิดีโอกรณีคนผิวสีถูกเจ้าหน้าที่ผิวขาวทำร้ายกลางถนนในย่านที่พักอาศัย
2
แต่ถึงแม้ว่าแฮกเกอร์เหล่านี้จะกระทำไปด้วยเจตนาดีหรือมีอุดมการณ์ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม แต่บ่อยครั้งความตั้งใจดังกล่าวมักนำมาซึ่งความเดือดร้อนของผู้อื่น เช่น คนบริสุทธิ์ที่โดนลูกหลงจนทำให้ข้อมูลส่วนตัวถูกแฮกเกอร์นำมาเปิดเผย เว็บไซต์ของรัฐบาลถูกแฮกทำให้ใช้การไม่ได้ หรือองค์กรเอกชนเกิดความเสียหายจากการถูกก่อกวนบนช่องทางออนไลน์
นอกจากนี้ ยังมีสงครามไซเบอร์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะระหว่างแฮกเกอร์ที่สนับสนุนประเทศรัสเซียกับแฮกเกอร์ที่สนับสนุนประเทศยูเครน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่ถึงอย่างไรก็สมควรได้รับบทลงโทษตามกฎหมาย
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- การแฮกจะเป็นหนึ่งในวิธีเรียกร้องทางการเมืองในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแฮกเกอร์อายุน้อยที่เป็นกลุ่มคนที่เติบโตมากับโลกดิจิทัลและมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านไซเบอร์เป็นอย่างดี
- ควรมีการเพิ่มความเข้มงวดของระบบป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์ของภาครัฐ รวมถึงการกำหนดบทลงโทษหรือการควบคุมความประพฤติของแฮกเกอร์โดยพิจารณาตามความเหมาะสม
- การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสและมีพื้นที่เสรีในการแสดงความเห็นหลายๆ ด้าน เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของประชาชน แฮกติวิสต์อาจจะส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ภาครัฐทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและชัดเจนได้มากขึ้น
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com หรือติดตามที่ https://web.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureUpdate #FutureofLiving #Hacktivist #Hacktivism #Politics #MQDC
โฆษณา