19 ก.ค. 2022 เวลา 01:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Global Economic Update: การฟื้นตัวของส่งออกจีนในครั้งนี้ อาจเป็นครั้งสุดท้าย
ตัวเลขการส่งออกของจีนในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบ 5 เดือน โดยการส่งออกขยายตัว 17.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ที่ 12%
หลังจากประเทศจีนล็อกดาวน์ 2 เดือนในเมืองใหญ่ การส่งออกก็ได้รับแรงหนุนจากการกลับมาเปิดเมืองเซี่ยงไฮ้อีกครั้ง และความต้องการสินค้าและบริการต่าง ๆ ในต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น
โดยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นแบ่งเป็นประเภทดังนี้ อะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขึ้นรูป เพิ่มขึ้น 33.7% ผลิตภัณฑ์เหล็ก เพิ่มขึ้น 17% แร่หายาก เพิ่มขึ้น 6.3% แต่สำหรับผลิตภัณฑ์กลั่น ลดลง 50.2%
ถ้าหากแยกการส่งออกเป็นรายประเทศ จะพบว่า การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 19.3% กลุ่มประเทศอาเซียน เพิ่มขึ้น 29% และสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้น 17.1% แต่การส่งออกไปยังรัสเซียลดลง 17%
อย่างไรก็ตาม การนำเข้าเติบโตเพียง 1% จากปีก่อนหน้าและ ลดลงจากการเติบโต 4.1% ในเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 90% จากปีที่แล้ว
📌 เศรษฐกิจโลก ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการส่งออกจีน
แม้ว่าจีนจะมีการส่งออกที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งในเดือนมิถุนายนนี้ แต่การเติบโตนี้อาจไม่ยั่งยืนในช่วงครึ่งหลังของปี ผลกระทบจากราคาสินค้าต่าง ๆ ที่เกิดจากสงครามในยูเครนกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก การขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ ลดลง บางประเทศเกิดวิกฤติค่าครองชีพ
นอกจากนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกเกิดปัญหาและค่าใช้จ่ายสำหรับการส่งออกเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกในประเทศจีน
ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนั้นออกมาสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้และ ได้แตะระดับสูงสุดในรอบหลายสิบปีในหลายประเทศแล้ว ส่งผลให้ธนาคารกลางต้องตอบโต้ด้วยการใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งมีความจำเป็นแต่ก็จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจช้าลงเช่นกัน
นโยบายการเงินที่เข้มงวดและความวุ่นวายทางเศรษฐกิจนี้จะทำให้อุปสงค์ทั่วโลกลดลงและส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค การส่งออกที่เฟื่องฟูครั้งนี้อาจเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะชะลอตัวในช่วงเวลาถัดไป
📌นโยบาย Zero Covid อีกหนึ่งความท้าทายของการส่งออกจีน
ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ การฟื้นตัวของการส่งออกนี้ส่วนหนึ่งมาจากการผ่อนคลายนโยบายโควิด
นโยบาย Zero Covid โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศูนย์กลางทางการเงินของเซี่ยงไฮ้ มีผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกอย่างประเทศจีน
เนื่องจากการระบาดในเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่น เช่น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และเซินเจิ้น จีนจึงต้องเผชิญกับบททดสอบจำนวนมาก เช่น เคอร์ฟิว การจำกัดการเดินทาง และมาตรการกักกันในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
1
นโยบายนี้ทำให้ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจในหลายด้านและตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจจำนวนมากลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนแรกของการระบาด เมื่อมีการพบผู้ป่วยรายแรกในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน
และเมื่อเร็ว ๆ นี้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่าจีนบันทึกการติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ 366 รายในวันที่ 13 กรกฎาคมโดย 121 รายมีอาการและ 245 รายไม่มีอาการ
ในขณะที่ หน่วยงานปกครองท้องถิ่นระบุว่า ปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน รายงานว่าไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่และไม่มีผู้ป่วยในท้องถิ่นที่ไม่มีอาการ เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า
ในส่วนของเซี่ยงไฮ้มีรายงานกรณีผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการในท้องถิ่น 42 ราย เทียบกับ 50 รายในวันก่อนหน้า และผู้ป่วยรายใหม่ที่มีอาการในท้องถิ่น 5 ราย เมื่อเทียบกับ 5 รายในวันก่อนหน้า ซึ่งทั้งหมดอยู่ในพื้นที่การกักตัว
อย่างไรก็ตาม กรณีโควิดใหม่เหล่านี้อาจทำให้ผู้กำหนดนโยบายของจีนเข้มงวดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด หากจีนใช้นโยบายที่เข้มงวดอีกครั้ง กิจกรรมทางธุรกิจและการผลิตจะชะลอตัวลงจากการตอกย้ำการส่งออกอีกครั้ง
Bangkok Bank Post ฉบับวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
ผู้เขียน : ณิศรา วาดี Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา