20 ก.ค. 2022 เวลา 02:13 • การศึกษา
Crane [EP.3] : ปั้นจั่นเหนือศีรษะ (Overhead Crane)
หากพูดถึงโรงงานอุตสาหกรรม โกดัง และอาคารซ่อมบำรุง (Workshop) เมื่อเราเข้าไป เราจะต้องสังเกตุเห็น Overhead crane ที่บริเวณด้านบนๆ อยู่ใต้หลังคา โดยเห็นได้เกือบทุกที่ ที่เป็นอาคารสำหรับงานอุตสาหกรรมกันเลยนะครับ โดยเครนชนิดนี้ทำหน้าที่ในการยกของเพื่ออำนวยความสะดวกในการยกของให้แก่ผู้ใช้งานครับ โดย Overhead crane จะมีชื่อภาษาไทยว่า ปั้นจั่นเหนืศีรษะ หรือ เครนสะพาน (Bridge Crane นะครับ)
แต่ในบทความนี้ขอเรียกทับศัพท์ว่า Overhead Crane ที่เราคุ้นชินกันก็แล้วกันนะครับ สำหรับบทความนี้จะพาเพื่อนๆไปดูหลักการทำงาน ส่วนประกอบ และประเภทต่างๆของ Overhead Crane กันนะครับ
Overhead Crane คืออะไร ?
ปั้นจั่นเหนือศีรษะ หรือ Overhead Crane ทำหน้าที่ในการยก หรือเคลื่อนย้ายวัสดุในงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยส่วนมากจะติดตั้งอยู่ภายในอาคารทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ โดยรางปั้นจั่นจะยึดติดกับโครงสร้างอาคาร โดยจะติดตั้งอยู่บริเวณสูงกว่าพื้น โดยมีทั้งแบบ ปั้นจั่นรางต่ำ และ ปั้นจั่นรางสูง โดยมีทั้งแบบ คานเดี่ยว และคานคู่ หนึ่งตะขอยก และ สองตะขอยก ขึ้นอยู่กับการออกแบบใช้งานแต่ละพื้นที่ และใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนได้ถึง 6 ทิศทาง (ขึ้น-ลง, ซ้าย-ขวา, หน้า-หลัง)
ส่วนประกอบของ Overhead Crane
โดย Overhead Crane จะมีส่วนประกอบหลักๆ และหน้าที่ดังต่อไปนี้นะครับ
1. ชุดควบคุมแบบมีสาย (Pendent Control) – สำหรับชุดนี้เป็นอุปกรณ์ควบคุมชุด Overhead Crane ให้ทำงานตามคำสั่งที่ผู้ควบคุมใช้งาน เพื่อไปสั่งงานมอเตอร์ไฟฟ้าให้ทำงาน ในการเคลื่อนที่ของเครนเพื่อยกของ โดยมีทั้งแบบสายที่ต่อตรงกับชุดเครน หรือ ชุดไร้สายประเภท Remote Audio Console
2. แหล่งจ่ายไฟ (Power Supply) – เป็นชุดจ่ายไฟฟ้าเพื่อให้พลังงานในการทำงานกับ Overhead Crane
3. คานข้าง (End Carriage) – เป็นคานที่ยึดเกาะกับโครงสร้างอาคารโดยตรง โดยรับภาระน้ำหนักทั้งหมดจากสะพาน วัตถุ และชุด hoist และส่งน้ำหนักเหล่านี้ไปยังโครงสร้างอาคารต่อไป และยังเป็นทางเดินของเครนในแนวด้านหน้า-หลัง อีกด้วยครับ
4. สะพาน (Bridge) – ชุดสะพานเป็นลักษณะเหล็กคานวางพาดแนวกว้างของเครน ทำหน้าที่รับภาระและน้ำหนักเชิง Bending moment จากน้ำหนักของ วัตถุจากชุด hoist unit และยังเป็นทางเดินทางชุด hoist ในการเคลื่อนที่ในแกน ซ้าย-ขวา
5. ชุดยก (Hoist Unit) – ชุดยก หรือ Hoist ทำหน้าที่ในการ “ยก” “วาง” และ “พยุง” โดยมีสายสลิง (Wire rope) หรือ โซ่ (Chain) ในการส่งถ่าย ซึ่งกำลังจากการยกอาจจะเป็นโดยคน (Manual) , ไฟฟ้า (Electrical), ลม (Pneumatic) ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบ โดยขับผ่าน Trolley ที่อยู่ด้านบน
6. ชุดขับเคลื่อนล้อ (Drive Unit) – ชุดนี้ก็จะทำหน้าที่ในการเคลื่อนที่ของเครนในทุกมิติ โดยจะมีล้อวิ่ง (Wheel bearing) ภายในราง (Runway Rail) และชุดหยุดเพื่อไม่ให้เครนตกราง (End Truck)
เพื่อความเข้าใจมากขึ้น อาจจะลองดูวีดีโอด้านล่างกันนะครับเพื่อนๆ
ประเภทของ Overhead Crane
โดย Overhead Crane อาจจะสามารถแบ่งได้หลายประเภทตามลักษณะการใช้งานนะครับ แต่ในที่นี้ขอแบ่งตามลักษณะการวางคานนะครับ โดยจะแบ่งได้เป็น 5 แบบหลักๆ ดังนี้นะครับ
1. ปั้นจั่นแขวนแบบคานเดี่ยว (Single Girder Suspension Crane)
เครนประเภท แขวนแบบคานเดี่ยว แต่เป็นแบบ Suspension Crane จะใช้ในการยกของตั้งแต่ 500 – 10,000 kg โดยความกว้างของอาคารโรงงานจะไม่เกิน 20 เมตร มักออกแบบให้ใช้กับโรงงานที่ออกแบบให้พื้นที่ภายในโล่ง ไม่มีเสาขวาง และโครงสร้าง หรือเสาอาคารมีขนาดใหญ่เพื่อให้สามารถรับน้ำหนักคานเหล็กได้ ทางวิ่งของเครน (Runway) จะยึดติดกับส่วนบนของโรงงาน
2. เครนแบบรางเดี่ยว (Single Girder Traveling Crane)
ใช้สำหรับยกของน้ำหนักตั้งแต่ 1,000 – 16,000 kg โดยความกว้างของโรงงานไม่เกิน 22 เมตร ออกแบบให้วิ่งบนรางเหล็กทางวิ่ง (Runway) ที่วางอยู่โครงสร้างที่ยื่นออกมาจากด้านข้างของเสา (Support on Brackets) ระยะห่างของเสาแต่ละช่วงประมาณ 5-6 เมตร
เนื่องจากโครงสร้างของอาคารของโรงงานมักจะถูกออกแบบให้เหมาะสมกับการเลือกใช้เครนชนิดนี้ ดังนั้น เครนประเภทรางเดี่ยว จึงเป็นที่นิยมมากที่สุด
3. เครนแบบคานคู่ (Double Girder Traveling Crane)
เครนแบบคานคู่จะมีลักษณะการออกแบบ และติดตั้ง คล้ายกับคานเดี่ยว ต่างกันที่ลักษณะของคานกลางเป็นแบบคู่ (Double Grider) ซึ่งเหมาะสำหรับน้ำหนักยก 2,000 – 50,000 kg ความกว้างของอาคารโรงงาน 30 – 35 เมตร เนื่องจากคุณสมบัติและข้อดีของเครนชนิดนี้ ตั้งแต่ความแข็งแรงของโครงสร้างขณะวิ่ง (Stability) และการติดตั้ง การบำรุงรักษาใช้งานได้อย่างสะดวก เพราะสามารถเดินขึ้นไปบนตัวเครนด้านบนได้เลยเพราะมี Walkway และ Handrail
4. ปั้นจั่นรางเลื่อนไฟฟ้าแบบรางเดี่ยว (Monorail Crane)
เครนชนิดนี้ติดตั้งและเคลื่อนที่ตามรางเดี่ยวที่ติดตั้งตามสภาพโครงสร้างของกระบวนการผลิต โดยตัวรางจะเป็นรางเดี่ยวสามารถออกแบบให้เป็นเส้นตรง หรือโค้งตามสภาพพื้นที่การทำงานได้ ตัวเครนจะสามารถเคลื่อนที่เดินหน้าหรือถอยหลัง หรือวิ่งเข้าโค้งได้
เหมาะสำหรับสายกระบวนการผลิต หรือการประกอบ (Production and Assembly Line) ใช้สำหรับงานยกน้ำหนักประมาณ 500 – 3,000 kg ด้วยการออกแบบลักษณะนี้จะสามารถเคลื่อนที่ได้ 4 ทิศทางคือ เดินหน้า-ถอยหลัง , เลื่อนขึ้น-ลง ครับ
5. เครนแบบแขนยื่น (Jib Crane)
เครนชนิดนี้เป็นปั้นจั่นขนาดเล็ก ความสามารถในการยกประมาณ 100 – 2,000 kg โดยส่วนใหญ่จะถูกติดตั้งกับคานที่ติดกับเสา (ดังภาพด้านล่าง) โดยปกติเครนชนิดนี้สามารถหมุนได้ในรัศมีครึ่งวงกลม 180 องศา
6. ปั้นจั่นวิ่งตามผนัง (Wall Crane)
มีลักษณะเหมือนปั้นจั่นแบบแขนยื่น แต่ออกแบบตัวคานที่ยื่นออกมาติดกับผนัง (ดังภาพด้านล่าง) ทำให้วิ่งได้ทิศทางตรงทางเดียว เครนชนิดนี้มักจะถูกเลือกใช้ในกรณีที่ผู้ใช้งานต้องการเครนจำนวนมาก แต่ทว่าพื้นที่ในการติดตั้ง Overhead crane เต็มแล้ว
=======================================
แล้วพบกับสาระความรู้ทางด้านงานช่าง และงานวิศวกรรมได้ในโพสต์ถัดๆไปนะครับ หรือสามารถตามสื่อตามๆของเราด้านล่างเลยนะครับ
=======================================
#นายช่างมาแชร์ #Crane #OverheadCrane #ปั้นจั่น
โฆษณา