28 ก.ค. 2022 เวลา 21:25 • ความคิดเห็น
เจาะลึกเอกสาร : ใบขนสินค้า นำเข้าเราต้องรู้!!
หลังจากบทความก่อน ๆ โน้น (ย้อนไปไกลหน่อยเนอะไม่ได้เขียนนานเลยค่ะ) ได้พาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับเอกสารต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรไทย อย่าง invoice , packing list, B/L , Airway bill
ใบขนสินค้าหน้าตาแบบนี้ค่ะ
วันนี้ถึงคิวของอีกหนึ่งเอกสารที่สำคัญ จึงอยากจะชวนมาเจาะลึกเอกสารที่มีความสำคัญในการที่จะทำให้กระบวนการนำสินค้าเข้ามานั้นเสร็จสมบูรณ์ ไปด้วยกัน นั่นคือ "ใบขนสินค้า" ค่ะ
หน้าตาของใบขนสินค้าจะเป็นตามรูป ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ ที่แสดงอยู่ในเอกสารฉบับนี้จะเป็นหลักฐานอ้างอิงว่า เราได้นำสิ่งใดเข้ามาในราชอาณาจักรไทย และได้ผ่านพิธีการทางศุลกากร และได้มีการชำระค่าภาษีอากรในการนำเข้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เพื่อให้การนำเข้าของเราเป็นไปอย่างราบรื่น เรามาเริ่มตรวจสอบจุดสำคัญรายละเอียดที่จะต้องระบุในใบขนสินค้าให้ถูกต้องครบถ้วนเพื่อป้องกันปัญหา อื่นใดที่จะตามมาในคราวหลังกันค่ะ เริ่มจาก
ชื่อและที่อยู่ของผู้นำเข้า 👉 ข้อมูลในส่วนนี้จะถูกดึงมาจากระบบของกรมศุลกากร เพราะก่อนที่บริษัทใด ๆ จะนำสินค้าอะไรเข้ามาในราชอาณาจักรไทยจะต้องยื่นเอกสารต่าง ๆ กับทางกรมศุลกากรเพื่อแจ้งขอเป็นผู้นำเข้า/ส่งออก ซึ่งจะต้องทำข้อมูลให้ถูกต้องตั้งแต่ต้นห้ามผิดเพี้ยนแม้แต่ตัวอักษรเดียว
ใบอนุญาตนำเข้าหรือหนังสือรับรอง 👉 ตรงส่วนนี้จะเป็นส่วนของการระบุเลขใบอนุญาตกรณีสินค้าที่นำเข้ามาต้องมีใบอนุญาตตรวจปล่อยตามประกาศของกรมศุลที่ระบุไว้ และเลขของ หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ในกรณีที่ต้องการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีต่างๆ อันได้แก่ FORM E, FORM D, FORM AK, FORM AHK หรืออื่นๆ ขึ้นอยู่กับว่าสินค้าที่นำเข้ามานั้นมาจากประเทศใดและ ประเทศนั้น ๆ มีข้อตกลงทางการค้าว่าอย่างไรบ้าง
ใบตราส่งเลขที่ 👉 ตรงช่องนี้จะระบุ MAWB ,HAWB, B/L NO.
ชื่อยานพาหนะ 👉 ระบุ Flight หากมาทางแอร์ / ระบุชื่อเรือหากมาทางเรือ /หรือหากมาทางรถก็ระบุทะเบียนรถ
เครื่องหมายและเลขหมายหีบห่อ 👉 ระบุรายละเอียดของ Marking detail ตามที่ได้ระบุไว้ในpacking List.
วันที่นำเข้า 👉 ระบุวันที่เรือเทียบท่าที่ท่าเรือในราชอาณาจักรไทยหรือวันที่ล้อเครื่องบินแตะพื้นรันเวย์ที่สนามบิน
จำนวนและลักษณะหีบห่อ 👉 ระบุปริมาณหีบห่อ ข้อมูลมาจาก Packing List ว่ามีกี่กล่องหรือกี่พาเลท
ประเทศกำเนิด 👉 ระบุประเทศที่เป็นผู้ผลิตสินค้านั้น ๆ ข้อมูลตรงส่วนนี้คือ Country of Origin (COO) ที่ระบุไว้ใน invoice. เช่นเราสั่งซื้อสินค้าด้วย Incoterms : FOB SINGAPORE แต่สินค้าชนิดนั้นโรงงานผลิตอยู่ที่ ญี่ปุ่น ก็จะต้องระบุ ประเทศกำเนิดเป็น JAPAN
ประเทศต้นทางที่บรรทุก 👉 ระบุประเทศที่ดำเนินการส่งออกสินค้าเข้ามาที่เมืองไทย เช่น เราสั่งซื้อสินค้าด้วย Incoterms : FOB HK โรงงานผู้ผลิตอยู่ที่จีน ประเทศต้นทางที่บรรทุกคือ HONG KONG
ท่าเรือที่นำเข้า 👉 ระบุชื่อสนามบิน หรือชื่อท่าเรือ อย่างเช่น สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมืองหรือท่าเรือคลองเตย
สถานที่ตรวจปล่อยสินค้า 👉 ระบุชื่อท่าเรือ , ชื่อสถานีรถไฟ ชื่อจุดตรวจปล่อยที่สนามบิน
ประเภทพิกัด 👉 มี 6 ตำแหน่ง พิกัดภาษีเป็นประเด็นหลักที่นับว่ามีความสำคัญมากอย่างที่สุดในการตรวจสอบใบขนสินค้าอยู่ที่ประเภทพิกัดภาษี เพราะมันคือการตีความลักษณะของสินค้าที่นำเข้ามา ถ้าเป็นสินค้าที่มีความชัดเจนในตัวของมันเองอยู่แล้ว เช่น IC, PCB , เสื้อผ้า ,น้ำหอม หรืออื่น ๆ ก็จะมีพิกัดที่ชัดเจน
แต่จะมีสินค้าบางประเภทที่จะต้องตีความถึงลักษณะการใช้งาน ที่เราเจอเป็นประจำ เช่น connector ก่อนจะระบุพิกัด เราจะต้องรู้ก่อนว่า connector ที่เรานำเข้ามาใช้งานอย่างไร ใช้กับสายไฟไหม , เป็น connector ที่มีขาประกอบลงแผงวงจรพิมพ์หรือไม่ เป็นแบบ plug หรือ socket …….เฮ่ออออ ขอพักมองบนแปรับ แค่ connector หมวดเดียวก็หัวจะปวดค่ะ
การตรวจพิกัดภาษี ที่บอกว่าสำคัญนั่นเพราะหากเราตีความสินค้าแล้วเข้าพิกัดผิด ทำให้เสียภาษีอากรผิด ทุกอย่างผิดไปหมด แต่เคลียร์สินค้าออกมาแล้ว
ถ้ารู้ตัวว่าผิดต้องรีบทำจดหมายชี้แจงขอเสียภาษีอากรเพิ่มในทันที อย่ารอให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานตรวจสอบเป็นผู้ตรวจเจอ เพราะจะโดนค่าปรับและอาจจะโดนตรวจย้อนกลับไปแบบรื้อระบบเลย
ตรวจสอบพิกัดให้มั่นใจก่อนจะยืนยันให้ shipping ดำเนินการเคลียร์สินค้าในขั้นตอนถัดไปนะจ๊ะ
ราคาของ (เงินต่างประเทศ) 👉 ระบุสกุลเงินตามที่ระบุไว้ตรงตามข้อมูลใน invoice
ราคาของ (เงินบาท)👉 คำนวณจากสกุลเงินตามหน้า invoice คูณกับ Exchange Rate ของทางกรมศุลกากรที่ได้ระบุไว้ทางด้านขวาบนอยู่ใกล้ ๆ กับประเทศต้นทางที่บรรทุก
น้ำหนักสุทธิ 👉 อ้างอิงข้อมูลมาจาก packing list
อัตราอากรขาเข้า 👉 ตรงช่องนี้จะมาจากการระบุพิกัดภาษี 6 ตำแหน่ง จะเป็นตัวที่บอกว่าสินค้าที่เรานำเข้ามานั้นเราจะต้องเสียภาษีนำเข้ากี่ % มีตั้งแต่ 0% ,5%, 10% ,30%, 35% …….
ซึ่งการคำนวณว่าเราจะต้องเสียภาษีเท่าไร ใช้ราคาสินค้าที่เป็นเงินบาท ซึ่งราคาศุลกากร =CIF price นั่นคือ ราคาสินค้า +freight+insurance เพื่อเป็นฐานในการคำนวณภาษีนำเข้า และมีภาษีมูลค่าเพิ่มที่เราต้องจ่ายด้วย
ชนิดของ 👉 ตรงช่องนี้จะเป็นช่องที่บอกชื่อสินค้าและอธิบายลักษณะของสินค้าสั้น ๆ แต่ชัดเจน เช่น ไอซี(IC) ,Relay ใช้กับกระแสไฟฟ้าไม่เกิน 1 แอมแปร์ ….ประมาณนี้ค่ะ และในช่องนี้ต้องระบุแบรนด์สินค้านั้น ๆ และประเทศกำเนิด ด้วย
❤️ ในการตรวจสอบใบขน ก่อนจะยืนยันให้ shipping ของเราทำงานต่อ จะต้องตรวจสอบทุกจุดห้ามหลุดรอดไปแม้แต่จุดเดียว ถ้าหากพบว่ามีจุดไหนที่สงสัย ข้อมูลไม่ตรงกับข้อมูลที่เรามี คำนวณแล้ว ได้ยอดไม่ตรง ต่างกันแม้ 1 บาทก็ห้ามปล่อยผ่าน ต้องหาคำตอบให้ได้ว่าต่างกันเพราะอะไร
สำหรับเราการตรวจสอบเอกสารการนำเข้าในทุก ๆ เอกสารที่เกี่ยวข้องเราตรวจทุกตัวอักษรเพื่อป้องกันความผิดพลาด และการทำแบบนี้ลดงานที่จะต้องไปตามแก้ได้ดีทีเดียวค่ะ แทบจะเรียกได้ว่า Zeo case ก็น่าจะได้แล้ว
บทความนี้ยาวหน่อยแต่อยากแบ่งปันความรู้ที่เราพอมี และหวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะคะ
การนำเข้ายังมีเรื่องราวให้เราต้องเรียนรู้อีกเยอะเลยค่ะ จะทยอยเอามาเล่าบ่อย ๆ น๊า
ขอบคุณที่ติดตามแล้วพบกันใหม่ในบทความถัดไปนะคะ
ติดตามผลงานในช่องทางอื่นที่
เจ้ากระต่ายขี้เซา :
ฝันจะนั่งรถไฟไปทรานส์ – ไซบีเรีย
รักการเขียนและการเล่าเรื่อง
และกำลังฝึกเขียนนิยาย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา