8 ส.ค. 2022 เวลา 01:07 • ไลฟ์สไตล์
ความฝันในวัยเด็กกับแรงบันดาลใจในการเป็นนักการทูต
3
สำหรับตอนนี้ ผมขอนำท่านผู้อ่านมาติดตามซีรีส์ “กว่าจะเป็นนักการทูต” ตอนที่ ๓ ซึ่งเป็นการก้าวตามความฝันและความมุ่งมั่นในวัยเด็กของผม มาดูกันครับว่า เส้นทางของผมคดเคี้ยวมากน้อยกว่าเพื่อนๆ แค่ไหน
นายณัฐดนัย เกียรติการุณ ผู้เขียน
ตั้งแต่จำความได้ ความฝันของผม คือ การเป็นนักการทูต ซึ่งถูกจุดประกายโดยคุณพ่อของผม ซึ่งขณะนั้น ท่านมีหน้าที่ความรับผิดชอบในกรมศุลกากร มีหน้าที่ดูแลเรือและลูกเรือต่างประเทศที่ท่าเรือคลองเตย ทำให้ท่านมีโอกาสได้พบปะกับชาวต่างชาติมากมาย แลกเปลี่ยนประสบการณ์และวัฒนธรรมกับผู้คนทั่วทุกมุมโลก
สิ่งที่ผมได้ยินและรับรู้มาในวัยเด็กทำให้ผมตระหนักว่า โลกใบนี้นั้นกว้างใหญ่และมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมายให้ค้นหา นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมก็เริ่มสนใจในเรื่องภูมิศาสตร์โลก เมื่อคุณพ่อผมเห็นว่าผมสนใจในเรื่องดังกล่าว ท่านจึงแนะนำให้ผมรู้จักกับอาชีพนักการทูต ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดในการก้าวสู่ตำแหน่งนักการทูตในวันนี้
เนื่องจากอาชีพของคุณพ่อและคุณแม่ของผม ทำให้ท่านต้องไปทำงานต่างจังหวัดอยู่บ่อยครั้ง และไม่ค่อยมีเวลามาดูแลผมและพี่ชายเท่าไหร่นัก ท่านจึงมีความคิดและตัดสินใจส่งเราสองคนไปเรียนต่อต่างประเทศ ทั้งที่ในตอนนั้น ผมอายุแค่ ๘ ขวบ ยังใช้เวลาหลังเลิกเรียนไปกับการวิ่งเล่นเหมือนเด็กทั่ว ๆ ไป
การไปเรียนต่อโรงเรียน St. Joseph’s School, North Point เมืองดาร์จีลิ่ง (Darjeeling) ซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ผมจำได้ดีว่าไม่อยากไปเลย ในช่วงแรกของการใช้ชีวิตในโรงเรียนประจำ นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตของผม (biggest culture shock of my life) แรกๆ ผมฟังเพื่อนคุยกันไม่เข้าใจเลย อาหารการกินก็ไม่คุ้นชิน จนผมต้องยอมกินข้าวกับซีอิ้วขาวแทนอาหารที่โรงเรียนจัดไว้ให้
ผู้เขียน (แถวที่ ๒ กลาง) ขณะศึกษา ณ St. Joseph’s School, North Point
ประสบการณ์ที่อินเดียเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยน (turning point) ที่ทำให้ความฝันในการเป็นนักการทูตของผมจริงจังขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการใช้ชีวิตในโรงเรียนประจำ ทำให้ผมต้องใช้ชีวิตกับเพื่อนหลากหลายสัญชาติ เช่น อินเดีย เนปาล ภูฏาน ตลอดเวลา เป็นเวลากว่า ๖ ปี ทำให้ผมได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับเพื่อน ๆ อยู่บ่อยครั้ง บางทีก็ถกเถียงกันว่าประเทศไหนดีกว่าตามสไตล์เด็ก การถกเถียงและบทสนทนาเหล่านั้น เริ่มจุดประกายให้ผมสงสัยว่า สรุปแล้วประเทศไทยอยู่ในจุดไหนของโลกใบนี้กันแน่
1
การเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เกิดขึ้นหลักจากผมใช้ชีวิตที่อินเดียไปแล้ว ๖ ปี ก่อนขึ้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ผมเริ่มมีความมั่นใจแล้วว่า ความรู้ด้านภูมิศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ผมชอบเก็บเกี่ยวมาตั้งแต่เด็กคือสิ่งที่เราอยากสานต่อเป็นอาชีพในอนาคต
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอคุณพ่อและคุณแม่ไปเรียนภาษาที่สามเพิ่มเติมที่ประเทศอื่น ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๕ เป็นช่วงที่ประเทศจีนกำลังมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศภายใต้ผู้นำคนใหม่อย่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ความโดดเด่นของประเทศจีนในเวทีโลกทำให้ผมตัดสินใจเลือกไปศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายต่อที่ประเทศจีน
1
ในปีแรกของการศึกษาต่อที่ประเทศจีน ผมเริ่มต้นด้วยการเรียนภาษาจีนที่เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง โดยมีภาษาจีนติดตัวไปแค่ประโยคพื้นฐาน เช่น “หนีห่าว” (สวัสดี) และ “หว่อปู้จือเต้า” (ผมไม่รู้) แต่ข้อดีของการไปเรียนภาษาจีนที่ประเทศจีน คือการอยู่ในสภาวะที่กระตุ้นให้ผม ใช้ภาษาจีนในชีวิตประจำวันเพื่อการอยู่รอด เนื่องจากคนจีนหลายคน ณ เวลานั้น ยังไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้
ผู้เขียนขณะศึกษา ณ Shenzhen Shiyan Public School
หลังจากการเพิ่มทักษะภาษาจีนที่เซินเจิ้นประมาณปีเศษ ๆ ผมย้ายไปเรียนต่อที่นครเซี่ยงไฮ้ที่โรงเรียน High School Affiliated to Shanghai Jiaotong University (交通大学附属中学) โรงเรียนสาธิตสังกัด มหาวิทยาลัยเจียวทง มหาวิทยาลัยชื่อดังของเซี่ยงไฮ้ ในตอนนั้น ผมมีความคุ้นชินกับการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อม สังคมพหุวัฒนธรรม จนแทบนึกภาพตัวเองใช้ชีวิตที่ไทยไม่ได้ด้วยซ้ำ
พอถึงช่วงการเตรียมความพร้อมเพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ผมก็ตระหนักได้ว่า หากเรายังอยากทำตามความฝันวัยเด็กในการเป็นนักการทูต นอกจากความรู้เรื่องประเทศอื่น ความรู้เรื่องประเทศไทยและภาษาไทยเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ด้วยเหตุนี้ผมจึงตัดสินใจกลับมาศึกษาต่อในเมืองไทย และเลือกเข้าศึกษาต่อในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี ๒๕๕๙
ผู้เขียน (ซ้ายสุด) ขณะศึกษา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ช่วงชีวิตในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถือว่าเป็นอีกหนึ่ง culture shock ของผม เนื่องจากผมไม่มีความคุ้นชินกับสังคมไทยมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ อีกทั้งทักษะภาษาไทยผมก็อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ดังนั้น ๔ ปีภายในรั้วมหาวิทยาลัยถือเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่ามากสำหรับเด็กไทยคนหนึ่งที่ห่างหายจากบ้านเกิดไปนาน นอกจากนี้ การที่ได้เข้ามาเรียนที่ธรรมศาสตร์นั้น ก็ได้ให้ประสบการณ์และโอกาสที่เลอค่ามากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การได้มีโอกาสเป็นนักศึกษาฝึกงานที่กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ
ก่อนหน้านี้ ผมได้แต่ชื่นชอบการต่างประเทศจากประสบการณ์ต่าง ๆ ในต่างประเทศ แต่ผมไม่เคยรู้เลยว่าในการทำงานจริง ๆ ผมจะสามารถ translate สิ่งที่เราชื่นชอบและความฝันให้ออกมาเป็นผลงานได้อย่างไร
ในระหว่างการฝึกงานที่กรมเอเชียตะวันออก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ถึงแม้ว่าการฝึกงานจะมีระยะเวลาสั้น ๆ เพียง ๒ เดือน แต่ผมมีโอกาสได้ทำงานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทย – จีน ในช่วงที่มีการเยือนระดับสูงของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผมได้เห็นบทบาทและการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังได้รับโอกาสดี ๆ มากมาย เช่น การเป็นพิธีกรภาษาไทย – จีนในงานแถลงข่าวร่วมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย - จีน
ผู้เขียน (ขวาสุด) ขณะปฎิบัติหน้าที่พิธีกรภาษาไทย–จีน ณ งานแถลงข่าวร่วมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย-จีน พ.ศ. ๒๕๖๒
การที่ได้ร่วมงานกับผู้ใหญ่และพี่ ๆ นักการทูตในกรมก็ได้ทำให้ผมเห็นผู้ที่มีแรงบันดาลใจในการทำงาน ในสายงานระหว่างประเทศเช่นเดียวกับผมมากมาย โดยประสบการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ได้ปลูกฝังความเป็นหนึ่งเดียว (Sense of Belonging) ในตัวผมที่มีต่อกระทรวงการต่างประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งยังป็นการยืนยันว่า ความฝันที่จะเป็นนักการทูตตั้งแต่วัยเด็กของผมไม่เคยแปรเปลี่ยนไป
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงตัดสินใจและมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองเพื่อให้ตัวเองมีความพร้อมมากที่สุดในการสอบเข้ามาเป็นนักการทูต ซึ่งแน่นอนว่า ผมเจอกับปัญหาและอุปสรรคมากมายที่คอยบั่นทอนกำลังใจและความฝัน แต่ผมได้ตระหนักถึงเหตุผลทั้งหมดที่ผ่านมาในชีวิตที่ทำให้ผมยังคงมุ่งมั่นก้าวต่อไปตามความฝัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นแรงผลักดันให้ความฝันในวัยเด็กของผมกลายมาสู่ความจริงในวันนี้ครับ
ผู้เขียน ขณะเข้าร่วมงานประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคอย่างไม่เป็นทางการ (ISOM)
นายณัฐดนัย เกียรติการุณ
นักการทูตปฏิบัติการ
กรมเอเชียตะวันออก
โฆษณา