6 ส.ค. 2022 เวลา 23:00 • ประวัติศาสตร์
ที่มาของคำว่า “กาคาบข่าว” ในภาษาไทย
ครั้งที่แล้ว เราได้เล่าให้ฟังถึงคดีที่เป็นที่มาของคำว่า “กาคาบข่าว” ในภาษาฝรั่งเศสกันไปแล้ว ใครอยากทราบความเป็นมา ไปย้อนอ่านกันได้นะคะ
ครั้งนี้จะขอเล่าที่มาของคำว่า “กาคาบข่าว” ในภาษาไทยของเรา ซึ่ง “กาคาบข่าว” ในภาษาไทยจะมีความหมายต่างไปจากภาษาฝรั่งเศสนิดหนึ่งนะคะ เพราะไม่ได้หมายถึง คนที่เขียนจดหมายนิรนาม แต่หมายถึง คนที่นำข่าวมาบอกต่อให้คนอื่นรู้ค่ะ
ซึ่งที่มาของภาษาไทยย้อนไปไกลกว่าในภาษาฝรั่งเศสมาก โดยต้องย้อนไปถึงตอนต้นรัชกาลที่ 2 โน่นเลยค่ะ
เรื่องเกิดหลังจากรัชกาลที่ 1 สวรรคตได้ไม่กี่วัน มีขุนนางผู้ใหญ่ท่านหนึ่งพบจดหมายนิรนาม เนื้อหาระบุว่า เจ้าฟ้าเหม็น ซึ่งเป็นบุตรของเจ้ากรุงธนบุรีกับพวกจะก่อการกบฏ เราเรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “กบฏเจ้าฟ้าเหม็น” ค่ะ
เมื่อมีคนถามท่านว่า ท่านได้จดหมายนั้นมาอย่างไร
2
ท่านก็บอกว่า อีกาตัวหนึ่งได้คาบจดหมายมาทิ้งที่ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทซึ่งเป็นที่ไว้พระบรมศพของรัชการที่ 1 ค่ะ
และนั่นก็เป็นที่มาของคำว่า “กาคาบข่าว” ในภาษาไทย
1
เราก็ได้ทราบกันแล้วนะคะว่าคำว่า “กาคาบข่าว” ในภาษาฝรั่งเศสและภาษาไทยมีที่มาอย่างไร น่าสังเกตนะคะว่า ทั้งที่ฝรั่งเศสและไทยมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมาก แต่กลับใช้ “อีกา” เป็นสัญลักษณ์ในการส่งสารแบบที่ไม่ต้องการให้รู้ว่าผู้เขียนเป็นใครเหมือน ๆ กัน ทั้งนี้ ก็อาจเป็นเพราะ อีกาเป็นนกที่มีสีดำสนิทไปทั้งตัว ทำให้นึกไปถึงความลึกลับก็เป็นได้นะคะ
โฆษณา