31 ก.ค. 2022 เวลา 07:00 • ไลฟ์สไตล์
เป็นวัยทำงานมันเหนื่อย! บางคนอาจรู้สึกว่ากำลังฝืนทำงานที่ไม่เหมาะกับตัวเอง บางคนเบื่อสิ่งรอบตัว และเข้าข่ายซึมเศร้า บางคนก็รู้สึกว่าทำงานช่วงกลางคืนได้ดีกว่ากลางวัน ฯลฯ แล้วทำไมถึงเป็นแบบนั้น?
หนึ่งในวิธีที่จะหาคำตอบได้คือ การลองทำ #แบบทดสอบ สำหรับวัยทำงานรูปแบบต่างๆ เพื่อเช็กสกิลทั้งด้านประสิทธิภาพของสมอง ทักษะทางความคิด วัดความฉลาดทางอารมณ์ วัดอายุจิต รวมถึงตรวจสอบนาฬิกาชีวิต และบุคลิกภาพของคุณว่าจัดอยู่ในประเภทไหน?
แบบทดสอบ สำหรับวัยทำงาน
เมื่อรู้จักบุคลิกภาพ ระดับ IQ EQ และสภาวะจิตใจของตนเองแล้ว ก็จะมีส่วนช่วยปรับปรุงวิธีใช้ชีวิตประจำวัน และพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะใครที่เข้าข่าย “ซึมเศร้า” ก็จะได้รู้ตัวและเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที
กรุงเทพธุรกิจ ได้รวบรวมแบบทดสอบที่เหมาะกับวัยทำงาน มาให้ลองตรวจสอบทักษะทางความคิด ภาวะทางอารมณ์จิตใจ และบุคลิกภาพที่แท้จริงของคุณ เช็กลิสต์ตามนี้เลย
📌แบบทดสอบวัด IQ
IQ คือ ความฉลาดทางด้านสติปัญญา วัดจากอายุสมองเทียบกับอายุจริง ซึ่งคนปกติจะอยู่ที่ 90-110 การวัดไอคิวจึงเป็นการวัดความสามารถทางการคิดวิเคราะห์ ความสามารถทางวิชาการ ความจำ การอ่าน การเขียน การคิดเชื่อมโยง เป็นต้น โดยการทดสอบจะมีรูปภาพโจทย์มาให้ แล้วให้เลือกคำตอบจากรูปภาพที่มีความเชื่อมโยงกัน
เข้าไปทดสอบได้ที่ >> https://www.brain-testing.org/
📌แบบทดสอบวัด EQ
EQ คือ ความฉลาดทางอารมณ์ หรือความสามารถทางอารมณ์ในการดำเนินชิวิตอย่างสร้างสรรค์และมีความสุข การรู้จักความฉลาดทางอารมณ์ของตนเองนั้น ก็เพื่อการพัฒนาและใช้ศักยภาพตนเองในการดำเนินชีวิต การทำงาน และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จ โดยปัจจุบันกรมสุขภาพจิตได้สร้างแบบประเมินสำหรับประชาชนเพื่อใช้ประเมินตนเองขึ้นมาให้ทุกคนเข้าไปใช้ตรวจวัด EQ ของตนเองได้ เข้าไปทดสอบได้ที่ >> https://rajanukul.go.th/iqeq/index.php?mode=test&group=7
📌แบบประเมินคัดกรองโรคซึมเศร้า
แบบประเมินนี้พัฒนามาจากแบบสอบถามสุขภาพผู้ป่วย (Patient Health Questionnaire: PHQ-9) โดย ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล และทีมแพทย์คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ได้จัดทำขึ้น การประเมินนี้เป็นการประเมินระดับภาวะซึมเศร้าในขั้นต้น ส่วนการวินิจฉัยนั้นจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกาย รวมถึงส่งตรวจเพิ่มเติมที่จำเป็น เพื่อยืนยันการวินิจฉัยที่แน่นอน รวมถึงเพื่อแยกโรคหรือภาวะอื่นๆ ที่ใกล้เคียงออกไปด้วย
เนื่องจากภาวะซึมเศร้าเกิดจากสาเหตุต่างๆ ได้มากมาย เช่น โรคทางจิตเวชอื่นที่มีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย โรคทางร่างกาย เช่น โรคไทรอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือเป็นจากยาหรือสารต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ ผลการประเมินและคำแนะนำที่ได้รับจากแบบประเมินนี้ ไม่สามารถใช้แทนการตัดสินใจของแพทย์ได้ การตรวจรักษาหรือการให้ยารักษาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เข้าไปทำแบบประเมินได้ที่ >> https://www.rama.mahidol.ac.th/th/depression_risk
2
📌แบบทดสอบบุคลิกภาพ MBTI (16 รูปแบบ)
MBTI (Myers-Briggs Type Indicator) คือ เครื่องมือตรวจสอบบุคลิกภาพที่ช่วยบ่งชี้ลักษณะบุคลิกแบบต่างๆ จุดแข็ง รวมทั้งกระบวนการทางด้านจิตใจ (mental process) ที่แต่ละคนถนัด เช่น การตัดสินใจ การรับรู้ข้อมูล โดยความถนัดจะแบ่งเป็น 4 ด้าน ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นลักษณะของบุคลิกภาพที่แตกต่างกันออกไปทั้ง 16 แบบ โดยแสดงออกเป็นตัวอักษร 4 ตัว ได้แก่ ISTJ, ISTP, ISFJ, ISFP, INFJ, INFP, INTJ, INTP, ESTP, ESTJ, ESFP, ESFJ, ENFP, ENFJ, ENTP, ENTJ
ตัวอักษรทั้ง 4 ตัวเหล่านี้จะแสดงถึงวิธีการที่แต่ละคนถนัดในการรับข้อมูล การตัดสินใจ ทิศทางของความสนใจ และวิธีการรับมือกับโลกภายนอก ซึ่งความถนัดในกระบวนการทางด้านจิตใจที่แตกต่างกันเหล่านี้ ส่งผลให้แต่ละคนตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ แตกต่างกัน
การเรียนรู้เรื่อง MBTI จะช่วยทำให้คุณมีความเข้าใจตัวเอง เข้าใจกระบวนการทางความคิด ทำให้สามารถพัฒนาตัวเองในด้านที่ตนเองไม่ค่อยถนัด รู้จักวิธีการพักผ่อนที่เหมาะกับตัวเอง รู้จุดอ่อน-จุดแข็ง ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ เข้าไปทำแบบทดสอบ MBTI ได้ที่ >> https://www.16personalities.com/th
3
📌แบบทดสอบวัดอายุจิต (Mental Age Test)
Mental Age Test เป็นการวัดความสามารถทางจิตวิทยาของบุคคล เมื่อเปรียบเทียบกับอายุของเด็กโดยเฉลี่ยในระดับเดียวกัน ตัวอย่างเช่น หากทดสอบแล้วได้ผลว่าอายุจิตของคุณคือ 10 (ไม่ต้องคำนึงถึงอายุจริง) แสดงว่าคุณมีจิตใจคล้ายกับเด็กอายุ 10 ขวบนั่นเอง สำหรับแบบทดสอบนี้ จะให้ผู้ทดสอบเลือกคำตอบ 1 ใน 3 ตัวเลือก คือ ใช่, ไม่ใช่, ไม่เชิง
อีกทั้ง มีข้อมูลจาก Austin Valenzuela นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแกรนด์แคนยอน รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา อธิบายว่า “อายุจิต” แตกต่างจาก “อายุทางชีวภาพ (อายุของร่างกาย)” โดยอายุจิต หมายถึง ระดับประสิทธิภาพของความรู้ความเข้าใจของบุคคล ที่มีความสัมพันธ์กับผู้อื่นในช่วงอายุจริงเดียวกัน โดยคนเราสามารถทดสอบหรือตรวจวัดความรู้ความเข้าใจนั้นได้ เข้าไปทำแบบทดสอบได้ที่ >> https://www.arealme.com/mental/en/
📌แบบตรวจสอบนาฬิกาชีวิต Chronotpye
Chronotpye คือ การแบ่งบุคลิกภาพตามนาฬิกาชีวิต (Biological Clock) ของแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน โดย Dr. Michael Breus ด้านเวชศาสตร์การนอนหลับ ผู้เขียนหนังสือ “The Power of When” หรือ “พลังแห่งเมื่อไหร่” ได้แบ่งบุคลิกภาพตามนาฬิกาชีวิตของคนเราเป็น 4 ลักษณะ โดยเปรียบเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คือ หมี สิงโต หมาป่า และโลมา
โดยสัตว์แต่ละชนิดจะมีช่วงเวลาที่เหมาะแก่การตื่น การนอน การทำงาน และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่เหมือนกัน หากเรานำมาปรับใช้ให้เหมาะสมก็จะช่วยให้การดำเนินชีวิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถเข้าไปทำแบบทดสอบได้ที่ >> https://thesleepdoctor.com/sleep-quizzes/chronotype-quiz/
โฆษณา