28 ก.ค. 2022 เวลา 00:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เก็บ “วิกฤติ” เป็นบทเรียน | #บทบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจ
เก็บ “วิกฤติ” เป็นบทเรียน
ยุคนี้เป็นยุคที่มนุษย์ต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยความระมัดระวัง เพราะปัจจัยที่รุมล้อมรอบตัว มีความผันผวนสูง วิกฤติโรคระบาด ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ล้วนเกี่ยวพันกับการใช้ชีวิต และการทำธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่แน่ว่าอาจจะมีวิกฤติลูกอื่นตามมาอีก ต้องเตรียมความพร้อม ทั้งที่อาจจะยังมะงุมมะงาหราอยู่
1
ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะนั่งรอ นอนรอ เพื่อให้วิกฤติมันจบ เพราะเราไม่รู้ว่า มันจะจบลงเมื่อไหร่ ควรต้องวิเคราะห์ผลกระทบของวิกฤติที่จะมาถึงตัว ผู้นำองค์กรต้องประเมินผลกระทบทุกระยะ และจบลงด้วยแผนรุกทันที เมื่อวิกฤติสงบลง อย่าปล่อยชีวิต หรือ ธุรกิจเผชิญกับความเสี่ยง
โรคระบาดกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ และการดำเนินธุรกิจของชาวโลกได้มากกว่าวิกฤติอื่น เพราะโควิด หยุดและเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนทั้งโลกได้ วิกฤตินี้ทำให้เราตระหนักว่าเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีสื่อสาร มีบทบาทสำคัญมากในทุกๆ การกระทำของชีวิต และการทำธุรกิจ ถ้าไม่มีสมาร์ตโฟน ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ไม่มีเครือข่ายมือถือ สังคมเมืองทั่วโลกคงหาทางออกไม่ได้ แต่ทุกอย่างกลับง่ายขึ้น เร็วขึ้น สะดวกขึ้น เพราะเทคโนโลยีสื่อสารที่ล้ำสมัย
จึงไม่ใช่ข้อแก้ตัวอีกต่อไปแล้ว สำหรับคนที่จะไม่เรียนรู้เทคโนโลยี ที่วันนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต ขณะที่ภาครัฐเอง ต้องหาทางทุ่มเทให้ประชากรประเทศ ได้เข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย อุดรอยรั่วของความเหลื่อมล้ำ
การให้เอกชนภาคบริการสื่อสาร ต้องไขว่คว้าไลเซนส์คลื่นความถี่ที่มีราคาแพงที่สุด เอามาให้บริการประชาชน เพื่อเหตุผลว่า รัฐจะได้เงินเข้าประเทศมากๆ อาจไม่ใช่คำตอบ เพราะเห็นจากทุกวันนี้ ผู้ให้บริการต้องคำนวณถึงต้นทุน กำไร เพราะเมื่อต้องประมูลคลื่นในราคาที่สูง อัตราราคาค่าบริการ ก็จะแปรผันไปตามต้นทุน กำไรในทางธุรกิจ
มื่อผู้บริการแบกรับต้นทุนที่มหาศาล สุดท้ายไปไม่รอดต้องหาทางลดต้นทุนที่ซ้ำซ้อน คิดควบรวมกิจการ ปัญหาผูกขาดก็ตามมา เกิดการฟ้องร้อง สารพันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ผู้บริโภคก็ไม่มีทางเลือก ไม่เลือก A ก็ต้องเลือก B เพราะคงไม่มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาด ด้วยเพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง สายป่านต้องยาว
อีกคำถามสำคัญ แล้วเงินที่รัฐได้จากการประมูลคลื่นความถี่จำนวนมหาศาลนั้น วันนี้อยู่ไหน เอาไปทำอะไร ได้ใช้ประโยชน์จากเม็ดเงินจำนวนนี้เพื่อประชาชน ประเทศชาติหรือยัง ไปเร่งสร้างบริการเทคโนโลยีสาธารณะในแบบที่ ใครอยู่ที่ไหน ห่างไกลแค่ไหนก็เข้าถึงได้แบบเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด หรือบริการแบบนี้ควรกลายเป็นบริการพื้นฐานที่ให้กับประชาชนได้ใช้ฟรีด้วยซ้ำหรือไม่
แม้ประเทศไทย จะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงติดอันดับโลก แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีของเจ้าของเทคโนโลยีต่างชาติ ที่เข้ามาหารายได้ สร้างผลกำไร และหอบเงินเหล่านั้นออกนอกประเทศไทยไป มาอาศัยวิ่งบนโครงข่ายของโอเปอเรเตอร์ที่ยังขาดการควบคุมและกำกับดูแล ช่องโหว่ตรงนี้รัฐต้องก้าวตามให้ทัน ถึงเวลาที่ภาครัฐ และหน่วยงานกำกับดูแล ต้องมองในมุมใหม่ จัดอีโคซิสเตมการพัฒนาเทคโนโลยี มีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล โฟกัสผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นสูงสุด อย่ามัวแต่มอง (หา) ผลประโยชน์จาก “กลุ่มทุน” จนลืม “ประชาชน”
โฆษณา