27 ก.ค. 2022 เวลา 23:10 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
“อาร์คติก”
ความในตอนนี้ผมได้มาจากหนังสือ Prisoners of Geography ครับ ผู้เขียนเขาเล่าถึงภูมิรัฐศาสตร์ที่น่าสนใจของ 10 ภูมิภาคสำคัญๆ มาให้เราได้รู้ว่าชะตากรรมของแต่ละประเทศนั้นผูกพันกับภูมิศาสตร์ อันหมายถึง แผ่นดิน ภูเขา แม่น้ำ ทะเลทรายตรงที่นั้นอย่างไร
ซึ่งในตอนที่แล้วผมก็ได้หยิบเอาเรื่องของรัสเซียมาสรุปเล่าให้อ่านสั้นๆ แล้วก็มีเพื่อนๆแฟนเพจสนใจอ่านกันหลายคน ผมก็จึงตั้งใจจะหยิบเอาเรื่องของอาร์คติก, จีน และซาอุดิอาระเบียมาทยอยเล่ากันต่อไปนะครับ
ที่นำมาเขียนนี่ไม่ใช่อะไร ผมเองก็อยากจะทบทวนสิ่งที่ตัวเองได้อ่านเหมือนกันครับ หากเพื่อนจะได้ประโยชน์จากที่ผมสรุปนี้ ก็ขอยกประโยชน์ให้ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ นายทิม มาร์แชล ครับ
.
.
.
“อาร์คติก”
ก่อนจะไปต่อ ขอบอกก่อนว่า “อาร์คติก - Arctic” นี้เป็นมหาสมุทรนะครับ ไม่ใช่ทวีป เป็นมหาสมุทรที่อยู่ตรงขั้วโลกเหนือพอดี ซึ่งแน่นอนว่าเป็นมหาสมุทรที่หนาวเหน็บและภูมิอากาศเลวร้ายเหลือเกิน มีเพียงชนพื้นเมืองที่เรารู้จักกันในชื่อ “เอสกิโม” และหมีขาวอาศัยอยู่กันเท่านั้น
ในเบื้องแรกนั้นไม่ค่อยจะมีประเทศไหนสนใจอาร์คติกกันสักเท่าไรด้วยเหตุที่อากาศหนาวเหน็บรุนแรง แต่ด้วยภาวะโลกร้อนที่เริ่มรุนแรงในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้ ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกเริ่มละลาย
การที่น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้แผ่นน้ำแข็งขนาดยักษ์บางส่วนเริ่มหายไป เปิดเส้นทางให้การเดินเรือบรรทุกสินค้าผ่านขั้วโลกเหนือทำได้มากขึ้น จากเดิมที่ต้องมีเรือตัดน้ำแข็ง (Ice Breaker) แล่นเปิดทางให้และทำได้ปีละไม่กี่สัปดาห์
ทุกวันนี้เรือบรรทุกสินค้าสามารถแล่นผ่านขั้วโลกเหนือได้โดยไม่ต้องใช้เรือตัดน้ำแข็งได้ยาวนานเป็นหลักเดือนต่อปี
การที่เส้นทางขั้วโลกเหนือเปิด ช่วยย่นระยะเวลาการขนส่งสินค้าจากทวีปอเมริกาเหนือหรือยุโรปมายังเอเชียได้ถึง 40% กล่าวคือ เดิมใช้เรือแล่น 10 วัน ก็เหลือแค่ 6 วัน ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2014 เรือบรรทุกสินค้าชื่อ “นูนาวิค” สามารถบรรทุกแร่นิเกิลหนัก 23,000 ตันจากแคนาดาไปจีนผ่านขั้วโลกเหนือได้แล้ว โดยไม่ต้องมีเรือตัดน้ำแข็งนำทางเสียด้วย
นอกจากระยะทางเดินเรือที่สั้นลงแล้ว ความที่อาร์คติกเป็นมหาสมุทรเปิด มีความลึกมาก ทำให้เรือสามารถบรรทุกสินค้าได้มากขึ้น ไม่ต้องกลัวท้องเรือไปครูดกับพื้นทะเล
เรื่องความลึกทะเลนี้สำคัญเพราะทุกวันนี้เรือสินค้าส่วนใหญ่จะใช้บริการคลองสุเอซ (ของอิยิปต์) และคลองปานามา ที่พื้นคลองนั้นตื้นกว่ามหาสมุทรอาร์คติกมากมาย
1
เส้นทางอาร์คติกนั้นจึงเป็นทางเลือกที่ทุกประเทศนั้นจับตามอง รวมทั้งอิยิปต์และปานามาซึ่งคงเริ่มรู้ตัวว่าลูกค้าที่เคยแล่นเรือผ่านคลองของตัวเองกำลังจะหายไป
.
.
.
เมื่อเรามามองแผนที่โลกตรงขั้วโลกเหนือ เราจะเห็นว่ามีประเทศที่มีชายแดนติดกับมหาสมุทรอาร์คติกอยู่ 5 ประเทศ คือ แคนาดา รัสเซีย อเมริกา เดนมาร์กและนอร์เวย์
1
กลุ่มประเทศนี้เขามีชื่อเรียกราวกับวงบอยแบนด์ว่า “อาร์คติกไฟว์ - Arctic Five”
แน่นอนว่าประเทศที่มีชายแดนติดมหาสมุทรอาร์คติกยาวที่สุดคือ “รัสเซีย” ดินแดนแห่งหมีขาว
ความสำคัญของอาร์คติกนั้น ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเส้นทางเดินเรือ แต่ยังหมายถึงทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาลที่รอการขุดค้นอยู่ใต้พื้นทะเลอาร์คติกอีกด้วยครับ
กรมสำรวจธรณีวิทยาของอเมริกานั้นเขาประมาณการไว้ว่า อาร์คติกนั้นมีก๊าซธรรมชาติอยู่ 1,670 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มีก๊าซธรรมชาติเหลว 44 พันล้านบาร์เรล มีน้ำมันดิบอีก 9 หมื่นล้านบาร์เรล ฝังอยู่ใต้พื้นทะเล นี่ยังไม่รวมทองคำ เหล็ก นิกเกิลและแร่ธาตุอีกจำนวนมากมาย
เมื่อมีขุมทรัพย์มหาศาลขนาดนี้ จึงแน่นอนว่าบรรดาชาติอาร์คติกไฟว์ทั้งหลายจึงแย่งกันเคลมเกาะแก่งต่างๆที่อยู่กลางมหาสมุทรอาร์คติกกันใหญ่ กระทั่งชาติที่ไม่เกี่ยวกับเขา เช่น จีน หรือ เยอรมันก็ยังพยายามขอมีส่วนแบ่งโดยการขอไปตั้งสถานีสำรวจโน่นนี่ที่ขั้วโลกเหนือ
นั่นเพราะกฎของสหประชาชาติบอกไว้ว่า ชาติทั้งหลายมีสิทธิครอบครองพื้นที่ทะเลยืดออกไปจากแผ่นดินตัวเองได้ 200 ไมล์ทะเล หรือ ที่เราเรียกกันว่า “อาณาเขตทางทะเล” นั่นเองล่ะครับ
การมีอาณาเขตทางทะเลย่อมหมายถึง สิทธิในทรัพยากรธรรมชาติตรงนั้นนั่นเอง
วิธีการเคลมของชาติพวกนี้เขาก็มีหลายวิธี เช่น อ้างว่าเนื่องจากว่าเกาะนี้เป็นของชั้น ดังนั้นเกาะข้างๆก็ควรเป็นของฉันด้วยสิ
หรือ เอาธงชาติตัวเองไปหย่อนๆไว้ตามเกาะโน้นนี้ ซึ่งมีทั้งธงแบบผ้าแล้วก็ธงเหล็กกันสนิมก็มี แล้วแต่เทคนิคที่จะคิดทำกัน
เกาะแก่งส่วนใหญ่ในอาร์คติก ก็จึงล้วนแต่เป็นเกาะที่เป็นข้อพิพาททั้งสิ้น
.
.
.
เมื่อหันมามองความพร้อมของแต่ละชาติอาร์คติกไฟว์แล้ว ก็พบว่า”รัสเซีย”นั้นมีข้าวของพร้อมที่สุด มีกำลังทหารพร้อมที่สุดในการครอบครองอาร์คติก
คำว่า “พร้อม” นั้นก็คือ เขามานับกันที่จำนวนเรือตัดน้ำแข็งและกองทัพที่พร้อมปฏิบัติงานในสภาพหนาวเหน็บ
1
รัสเซียมีเรือตัดน้ำแข็งอยู่ถึง 44 ลำ ฟินแลนด์มี 8 ลำ แคนาดาและสวีเดนมี 7 ลำ
1
ที่น่าแปลกใจคือ นอร์เวย์และอเมริกามีประเทศละแค่ลำเดียว
เมื่อหันมามองกองทัพอาร์คติก รัสเซียก็ยังคงกินขาด เพราะรัสเซียเอาทหารกว่า 6,000 คนมาประจำอยู่ในค่ายทหารอาร์คติกเลย ในขณะที่ชาติอื่นๆมีหรอมแหรม บางชาตินี่ไม่มีเลย
รัสเซียนั้นเขาเคยซ้อมรบในสภาพอากาศหนาว (Cold Weather Fighting) และเล่นใหญ่ถึงขนาดเอาทหาร 155,000 คนพร้อมยุทโธปกรณ์มาซ้อมรบแบบที่เรียกว่า “วอร์เกม - War Game” โดยสมมติให้ข้าศึกคือประเทศที่ชื่อว่า “มิสซูรี่” (แน่นอนว่าหมายถึงอเมริกา) กับชาติเอเชียที่เป็นพันธมิตร (หมายถึงญี่ปุ่น)
ดูแล้วอนาคตมหาสมุทรอาร์คติก ไม่น่าจะรอดพ้นมือรัสเซียเป็นแน่
.
.
.
เรื่องการสอดแนมระหว่างชาติอาร์คติกไฟว์ด้วยกันนี้ ก็มีเรื่องพิลึกๆอยู่บ้าง นั่นคือเมื่อปี 2014 มีชาวประมงนอร์เวย์ เขาจับปลาวาฬเบลูก้าได้ตัวหนึ่งได้แถวชายฝั่งทะเลนอร์เวย์
เจ้าวาฬเบลูก้าตัวนี้มีความพิเศษคือ มีสายรัดหัวติดกล้องโกโปร และที่ตรงสายรัดหัวมีเขียนเอาไว้ว่า “อุปกรณ์นี้เป็นสมบัติของเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก - Equipment of St Petersburg”
โปรเฟสเซอร์ผู้เชี่ยวชาญสัตว์ทะเลของนอร์เวย์แกได้เห็นอุปกรณ์นี้ก็เลยมั่นอกมั่นใจว่า รัสเซียกำลังสอดแนมนอร์เวย์อยู่เป็นแน่ จึงเอาเรื่องราวไปขยายต่อ จนกระทั่งได้ลงหนังสือพิมพ์ใหญ่โต
พันเอกท่านหนึ่งของรัสเซียจึงออกมาให้ความเห็นกับข่าวนี้ว่า
ข“คุณคิดหรือว่า หากเราจะฝึกสัตว์ตัวหนึ่งให้เป็นสายลับจริงๆ แล้วเราจะเอาโทรศัพท์มือถือติดหัวมันไปด้วย พร้อมแปะเบอร์โทรไว้แล้วเขียนโน้ตไว้ว่า “ช่วยโทรกลับเบอร์นี้ทีนะ”
.
.
.
เอามาเล่าสู่กันฟังเพลินๆครับ
โฆษณา