28 ก.ค. 2022 เวลา 03:44 • หนังสือ
นวนิยาย แผลเก่า ตำนานรักขวัญ เรียม ประพันธ์โดย
ไม้ เมืองเดิม
เรียม ..เป็นสาวมุสลิมแห่งทุ่งบางกะปิ
จากเรื่องเล่าขานกลายเป็นตำนานมีชีวิต แห่งคลองแสนแสบ ณ ทุ่งบางกะปิ ต้นกำเนิดตำนานรักอันน่าเศร้า ที่เล่าขานว่าเรียมนั้นใช้มีดแทงตัวตายตามอ้ายขวัญ หนุ่มคนรัก ณ ท้องน้ำแห่งคลองแสนแสบ อันเป็นที่พลอดรักของคนทั้งคู่ และเป็นสายน้ำที่ไหลสู่ศาลเจ้าพ่อไทร
สถานที่ที่ขวัญกับเรียมเคยสาบานว่า จะรักกันตราบจนความตายจะมาพรากจาก
ความรักของ ขวัญและเรียม เป็นเรื่องในหนังสือแผลเก่าที่ตรึงใจผู้คน เป็นผลงานประพันธ์เรื่องแรกของ ไม้ เมืองเดิม ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2479 ที่บอกเล่าเรื่องรักของหนุ่มสาวทั้งสองได้ยืนยาวจนทุกวันนี้
อ้ายขวัญลูกผู้ใหญ่เขียน หนุ่มเลือดนักเลงรูปงาม เรียมลูกสาวของตาเรือง โดยความวุ่นวายเกิดขึ้นเมื่อตาเรือง แพ้คดีรุกที่นาที่ผู้ใหญ่เขียนฟ้องร้อง จึงเป็นอริกับผู้ใหญ่เขียนเสมอ แต่เหมือนเป็นกรรมเก่าที่ทำร่วมกันมาเพราะอ้ายขวัญเกิดไปชอบพอกับเรียม ซึ่งเรียมก็มีหนุ่มมารุมรักมากมาย
แผลเก่า เล่าเรื่องความรักตราตรึงของคนคู่นี้ ผู้เขียนใช้ภาษาดี อ่านได้รื่นรมย์เพลิดเพลินน่าติดตาม คนอ่านจะได้เห็นหัวจิตหัวใจของคนคู่นี้ ทั้งสุขและเศร้า โดยเฉพาะใจของอ้ายขวัญนั้นสำแดงพลังให้คนอ่านได้ผูกใจด้วยตั้งแต่ต้น หากหัวใจของขวัญจะสลายลงเพราะเรียม หัวใจคนอ่านจะแตกละเอียดลงเพราะความซื่อจริงใจและมุทะลุของเจ้าขวัญ
ไม้ เมืองเดิม เล่าเรื่องได้น่าติดตามมาก เรื่องนี้สั้นนัก แต่ความเก่งกาจของผู้เล่าทำให้เรื่องสั้นๆ นี้ยิ่งใหญ่ประจักษ์ในใจผู้อ่านได้ ผู้เขียนยังเข้าใจเล่าความให้คนอ่านได้เห็นว่าบางครั้ง ความรักทำให้เวลาของชีวิตหนึ่งหยุดลง ซึ่งหัวใจดวงนี้จะดำเนินต่อไปได้ก็ต่อเมื่อคนรักของเขากลับคืนมาแล้วเท่านั้น
แผลเก่า เล่าเรื่องรักที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง แผลเก่านี้เป็นแผลรักที่ฝากรอยประทับไว้กับเจ้าขวัญ เจ้าเรียม และจะฝากรอยประทับใจกับผู้อ่านด้วยเช่นกัน
เรื่องย่อ
ขวัญเป็นลูกชายนายเขียน ผู้ใหญ่บ้านบางกะปิ เรียมเป็นลูกสาวตาเรือง อยู่คลองแสนแสบ เรียมมีพี่ชายชื่อ เริญ น้องชายชื่อ รอด
ตาเรืองแพ้คดีรุกที่นา ที่ผู้ใหญ่เขียนฟ้องร้อง จึงเป็นอริกับผู้ใหญ่เขียนเสมอมา แต่ขวัญกับเรียมรักกัน และแอบไปมาหาสู่เพื่อแสดงความรักกันตลอดมา ขวัญสาบานต่อเจ้าพ่อไทรว่า จะรักและซื่อตรงต่อเรียมตลอดไป ขณะนั้น ครอบครัวเรียมตามมาพบ จึงจับเรียมกลับไป ล่ามเรียมไว้ไม่ให้ไปพบกับขวัญอีก
ขวัญซึ่งคิดถึงเรียมก็ลักลอบมาหา ได้พบและทำร้ายจ้อย นักเลงซึ่งสนิทกับครอบครัวเรียมและหลงรักเรียมอยู่ ตาเรืองเห็นว่า จะห้ามปรามขวัญกับเรียมไม่ได้ จึงขายเรียมให้ไปเป็นคนใช้คุณนายทองคำ เศรษฐินีม่ายในบางกอก ด้วยราคาหนึ่งร้อยบาท
คุณนายทองคำเห็นเรียมหน้าตาน่ารักและละม้ายโฉมยง บุตรสาวที่เพิ่งตาย จึงเอ็นดูและเลี้ยงเรียมเหมือนลูก เรียมจึงมีชีวิตเหมือนผู้ดีอยู่ในบางกอก เรียมยังได้พบสมชาย ลูกของพี่ชายคุณนายทองคำ ซึ่งเป็นคนรักของโฉมยง สมชายก็เหมือนคุณนายทองคำที่เมื่อเห็นเรียมก็รักใคร่ คุณนายเห็นทั้งสองสมน้ำสมเนื้อกันก็ส่งเสริม แต่เรียมยังคงรักขวัญอยู่
สามปีผ่านไป ขวัญซึ่งไร้เรียมใช้ชีวิตเหมือนรอวันตายไปวัน ๆ เข้าใจว่า เรียมไปได้ดีในบางกอกจนลืมคนเคยรักคนนี้เสียแล้ว
เวลานั้น นางรวย แม่ของเรียมป่วย เรียมจึงขออนุญาตคุณนายกลับบ้านเดิมเพื่อมาเยี่ยมไข้
นางรวยเมื่อลูกสาวมาหาได้ไม่นานก็สิ้นใจ เมื่อกลับมาแล้ว เรียมได้พบกับขวัญ และแสดงให้เขาเข้าใจว่า ยังรักกันไม่เสื่อมคลาย
หลังเสร็จงานศพนางรวย สมชายมาตามเรียมกลับบางกอก เพราะคุณนายทองคำล้มป่วยลงเช่นกัน เรียมสองจิตสองใจ ใจหนึ่งไม่อยากกลับเพราะรักขวัญ ใจหนึ่งก็คิดถึงอนาคตอันรุ่งโรจน์ที่บางกอก
ขณะนั้น สมชายก็พร่ำพรอดรักเรียม ขวัญแอบมาได้ยินก็โกรธจนบ้าคลั่ง เข้าทำลายเรือที่คนทั้งนั้นจะใช้ไปบางกอก ผู้คนจึงออกติดตามจับขวัญ สมชายใช้ปืนยิงขวัญตาย เรียมจึงคว้ามีดของขวัญมาเชือดคอตัวเองตายตามขวัญไป
 
ดังตำนานข้างต้น คุณอรุณ วิทยานนท์ ผู้กำกับละครและรายการทีวีมุสลิมชื่อดัง รอมฏอนไนท์ เผยกับผู้สื่อข่าวมุสลิมไทยโพสต์ว่า เกี่ยวกับเรื่องเล่า หรือเรื่องลือ กันกว่า "เรียม นับถือศาสนาอิสลาม" นั้น ไม่มีใครรู้แจ้งเห็นจริง อีกทั้งผู้แต่นิยายเรื่องดังกล่าว ก็ได้เสียชีวิตไปนานแล้ว
ทั้งนี้ให้แง่คิดว่า หากมองถึงความเป็นไปได้ที่ "เรียม" มาจากชื่อเต็มๆว่า "มาเรียม" ก็มีโอกาสเป็นไปได้เช่นเดียวกัน เพราะในอดีต บางกะปิ หรือทุ่งบากะปิ รวมไปถึงคลองแสนแสบ ตั้งแต่บ้านครัวถึงมีนบุรี จะมีชุมชนมุสลิมตลอดลำคลอง จวบจนปัจจุบัน ก็ยังเต็มไปด้วยชุมชนมุสลิมมากมาย
ดังนั้นการที่หลายๆคน นึกว่า เรียม คือ มาเรียม ก็มีโอกาส เป็นไปได้ และในสมัยนั้น ความรักต่างศาสนาก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นปัจจุบันนี้
อีกทั้งจะเห็นได้ว่าตำนานหรือละครดังของประเทศไทย ล้วนแล้วแต่มีทีมาของเทียบเคียงกับเรื่องจริงเกือบทั้งนั้น โดยเฉพาะการเล่าขาน ต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น นั้นเอง
ยกตัวอย่างเช่น บางกะปิ หลายคน ก็คิดว่า กรุงเทพฯ ไม่น่าจะมีคำว่า "กะปิ" และคำว่า "กะปิ" มาจากไหน ทั้งนี้ ก็นึกไปว่า ในอดีตนั้น มีมุสลิมอยู่เยอะย่านคลองแสนแสน และมุสลิมจำนวนมาก ก็ใส่หมวก ที่เรียกในภาษายาวีว่า "กะปิเยะห์"
ดังนั้นการเรียกมุสลิม ว่า "บังกะปิเยาะห์" จึงนิยมเรียกสั้นๆว่า "บังกะปิ" และนั้นคือที่มาของการตั้งชื่อชุมชนดังกล่าวว่า "บางกะปิ" (เป็นความเชื่อส่วนบุคคล) นั้นเอง
ดังนั้นความเชื่อที่ว่า "เรียม มาจาก มาเรียม และเป็นมุสลิม" จึงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณ ของแต่ละท่านไปนั้นเอง
ข้อมูลเพิ่มเติม
ไม้ เมืองเดิม นามจริง
ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา
โฆษณา