28 ก.ค. 2022 เวลา 12:27 • ความคิดเห็น
คำแนะนำการใช้ชีวิตจากชายหนุ่มอายุ 21 ปี
Hunter S. Thompson เป็นนักข่าวชาวอเมริกันที่เกิดเมื่อปี 1937 และเสียชีวิตเมื่อปี 2005
2
ผลงานที่สร้างชื่อให้เขามากที่สุดคือหนังสือ Fear and Loathing in Las Vegas ซึ่งถูกนำไปสร้างเป็นหนังฮอลลีวูด นำแสดงโดย Johnny Depp
ในปี 1958 เพื่อนของทอมป์สันชื่อ Hume Logan ได้เขียนจดหมายมาขอคำแนะนำเรื่องแนวทางการใช้ชีวิต
จดหมายตอบกลับของทอมป์สันเป็นหนึ่งในคำแนะนำที่ลึกซึ้งที่สุดที่ผมเคยอ่านมา
เลยขอนำมาถอดความให้ผู้ติดตาม Anontawong's Musings ได้นำไปขบคิดกันต่อนะครับ
-----
22 เมษายน 1958
57 เพอรี่สตรีท
นิวยอร์ค
สวัสดีฮูม
คุณอยากได้คำแนะนำจากผม - นี่เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์และเป็นเรื่องอันตรายมาก! การที่คนคนหนึ่งจะไปแนะนำคนอื่นว่าควรใช้ชีวิตแบบไหนแสดงว่าเขาต้องหลงตัวเองประมาณหนึ่งเลยนะ การที่จะไปชี้ว่าอะไรคือเป้าหมายสูงสุด - ชี้ด้วยนิ้วมืออันสั่นระริกไปในทิศทางที่ "ถูกต้อง" เป็นเรื่องที่มีแต่คนโง่เท่านั้นที่จะกล้าทำ
3
ผมไม่ใช่คนโง่ แต่ผมก็เคารพในความจริงใจของคุณที่มาขอคำชี้แนะ ผมจึงขอออกตัวก่อนว่าเวลาที่คุณอ่านสิ่งที่ผมจะเขียน คุณควรระลึกไว้เสมอว่าคำแนะนำทุกอย่างล้วนเป็นผลผลิตของคนที่ให้คำแนะนั้น ความจริงของคนคนหนึ่งอาจจะเป็นหายนะของอีกคนก็ได้ ผมไม่อาจมองชีวิตผ่านสายตาของคุณ และคุณก็ไม่อาจมองชีวิตผ่านสายตาผม ถ้าผมพยายามจะให้คำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงมันก็คงไม่ต่างอะไรกับคนตาบอดนำทางให้คนตาบอดอีกคน
“To be, or not to be: that is the question: Whether ’tis nobler in the mind to suffer the slings and arrows of outrageous fortune, or to take arms against a sea of troubles … ” (Shakespeare)
"จะอยู่หรือจะตาย นั่นแหละคือคำถาม: อะไรเล่าจะดีกว่ากัน ระหว่างอยู่สู้ทนกับชีวิตที่มีความสุขเพียงครั้งคราว หรือจะจบมันลงเสียเพื่อจะไม่ต้องเผชิญความทุกข์อันท่วมท้น"
-เชกสเปียร์
1
ใช่ นี่แหละคือคำถาม ว่าเราควรจะล่องลอยไปกับเกลียวคลื่น หรือควรจะว่ายน้ำฝ่าฟันไปให้ถึงจุดหมาย มันคือสิ่งที่เราต้องเลือกไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม น้อยคนนักที่จะเข้าใจความจริงข้อนี้! ลองคิดย้อนกลับไปถึงการตัดสินใจที่มีผลต่ออนาคตของคุณดูสิ ผมอาจจะคิดผิดก็ได้ แต่ผมว่าสุดท้ายแล้วมันคือการเลือกระหว่างทางสองแพร่งที่กล่าวมานั่นแหละว่าจะลอยน้ำหรือจะว่ายน้ำ
3
แต่ถ้าไม่มีเป้าหมายแล้ว การลอยตามน้ำก็เป็นเรื่องเข้าท่าไม่ใช่หรือ? นั่นก็เป็นอีกหนึ่งคำถามเช่นกัน ผมว่ามันดีกว่ามากเลยนะที่จะรื่นรมย์ไปกับการลอยคอเมื่อเทียบกับการต้องแหวกว่ายอย่างไร้จุดหมาย
1
แล้วคนเรานั้นจะหาเป้าหมายได้อย่างไร? ไม่ใช่เป้าหมายฝันเฟื่องอย่างการสร้างปราสาทท่ามกลางหมู่ดาวนะ แต่เป็นเป้าหมายที่จับต้องได้จริงๆ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองไม่ได้กำลังออกตามหา "ภูเขาลูกกวาด" อันเป็นเพียงเป้าหมายที่สวยแต่รูปจูบไม่หอมและไม่มีแก่นสารอันใด
1
คำตอบ - ซึ่งในอีกมุมหนึ่งก็เป็นโศกนาฏกรรมของชีวิตด้วย ก็คือเราพยายามที่จะเข้าใจเป้าหมาย แต่เรากลับไม่ได้พยายามเข้าใจตนเอง เราตั้งเป้าหมายขึ้นมา และเป้าหมายนั้นก็เรียกร้องให้เราทำอะไรบางอย่าง แล้วเราก็ลงมือทำสิ่งเหล่านั้น เราเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของเป้าหมาย ซึ่งผมว่ามันไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย
ตอนที่คุณเป็นเด็ก คุณอาจเคยอยากเป็นนักดับเพลิง แต่ตอนนี้ผมค่อนข้างมั่นใจว่าคุณไม่ได้อยากเป็นนักดับเพลิงแล้ว ทำไมล่ะ? เพราะมุมมองของคุณได้เปลี่ยนไปแล้วยังไงล่ะ นักดับเพลิงไม่ได้เปลี่ยนไปเลย คนที่เปลี่ยนคือคุณต่างหาก
1
มนุษย์ทุกคนคือผลรวมของการตอบสนองต่อประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เมื่อประสบการณ์เริ่มหลากหลายและทวีคูณ คุณก็จะกลายเป็นอีกคนหนึ่ง และมุมมองของคุณก็ย่อมเปลี่ยนไป กระบวนการนี้จะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกการตอบสนองคือการเรียนรู้ และทุกประสบการณ์ที่สำคัญจะเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติของคุณ
3
มันจึงเป็นเรื่องไม่ฉลาดเท่าไหร่ที่เราจะปรับแต่งชีวิตของเราเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่เป้าหมายเรียกร้อง เพราะมุมมองที่เรามีต่อเป้าหมายนั้นเปลี่ยนไปทุกวัน ยิ่งพยายามเท่าไหร่ยิ่งอาจทำให้เป็นโรคประสาทได้
1
ดังนั้นคำตอบจึงไม่ได้อยู่ในเป้าหมายอย่างแน่นอน อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในเป้าหมายที่จับต้องได้ คงต้องใช้กระดาษหลายรีมถึงจะสาธยายเรื่องนี้ได้อย่างหมดจด ไม่มีใครรู้หรอกว่ามีคนเขียนหนังสือเกี่ยวกับ "ความหมายของชีวิต" ออกมาแล้วกี่เล่ม และไม่มีใครรู้หรอกว่ามีคนขบคิดเรื่องนี้มาแล้วกี่ครั้ง จึงไม่มีประโยชน์อันใดที่ผมจะพยายามให้คำตอบโดยสังเขป เพราะผมขาดคุณสมบัติทุกข้อที่จะมาบอกเล่าความหมายของชีวิตได้ภายในไม่กี่ย่อหน้า
ผมจะพยายามหลีกเลี่ยงคำว่า "อัตถิภาวนิยม" [existentialism ปรัชญาที่ว่าคนเรานั้นอิสระ] แต่คุณอาจจะอยากทดคำนี้ไว้ในใจ ถ้าสนใจคุณลองอ่านหนังสือ Being and Nothingness ของ Jean-Paul Sartre ดูก็ได้ ส่วนหนังสือชื่อ Existentialism from Dostoevsky to Sartre นั่นก็ดี แต่นี่เป็นแค่คำแนะนำเฉยๆ นะ ถ้าคุณรู้สึกพึงพอใจกับชีวิตอยู่แล้วก็ควรหนีห่างจากหนังสือทั้งสองเล่มนี้
เอาล่ะ กลับเข้าเรื่อง อย่างที่บอกไป การที่คุณยึดมั่นในเป้าหมายที่จับต้องได้นั้นอาจเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดนัก เพราะเราไม่ได้มุ่งหมายที่จะเป็นนักดับเพลิง เราไม่ได้มุ่งหมายที่จะเป็นนายธนาคาร เราไม่ได้มุ่งหมายที่จะเป็นตำรวจหรือเป็นหมอ - เรามุ่งหมายที่จะเป็นตัวของตัวเองต่างหาก (we strive to be ourselves)
4
แต่อย่าเข้าใจผิดนะ ผมไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นนักดับเพลิงหรือเป็นหมอไม่ได้ แต่เราต้องทำให้เป้าหมายนั้นสอดคล้องกับคน ไม่ใช่ทำให้คนสอดคล้องกับเป้าหมาย (we must make the goal conform to the individual, rather than make the individual conform to the goal.)
3
มนุษย์ทุกคนถูกโปรแกรมมาโดยพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมให้มีความสามารถและความมุ่งมาดปรารถนาที่จะทำอะไรบางอย่างให้ชีวิตของเขามีความหมาย คนเราล้วนมุ่งหวังจะเป็นอะไรสักอย่าง เราทุกคนล้วนอยากมีคุณค่า
สำหรับผม ผมคิดว่าสมการน่าจะเป็นประมาณนี้ - คนคนหนึ่งจะต้องเลือกทางเดินที่เอื้อให้เขาได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่เพื่อบรรลุในสิ่งที่เขามุ่งมาดปรารถนา
4
เมื่อทำตามกระบวนการนี้ เขาจะได้สนองความต้องการที่จะสร้างอัตลักษณ์ด้วยการทำอะไรตามแบบแผนเพื่อเข้าสู่เป้าหมายที่วางไว้ เขาจะปลดปล่อยศักยภาพของตนด้วยการเลือกเส้นทางที่จะไม่จำกัดโอกาสในการพัฒนาตัวเอง และเขาจะไม่ต้องเจอว่าเป้าหมายที่มีนั้นเสื่อมสิ้นมนต์ขลังในช่วงที่เขาเข้าใกล้เป้าหมาย เพราะแทนที่เขาจะเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่เป้าหมายเรียกร้อง เขาจะปรับเปลี่ยนเป้าหมายเพื่อให้มันสอดคล้องกับความสามารถและความปรารถนาที่เขามีในปัจจุบัน
3
หรือถ้าจะให้พูดสั้นๆ ก็คือ เราไม่ควรทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้ แต่เราควรเลือกเส้นทางชีวิตที่เรารู้ว่าเราจะสนุกไปกับมัน เป้าหมายนั้นเป็นเพียงเรื่องรอง การเดินทางไปสู่เป้าหมายต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญจริงๆ
4
และอาจฟังดูตลกที่ผมจะต้องขอย้ำเตือนว่า คนเราต้องได้เดินไปในเส้นทางที่เขาเป็นคนเลือก เพราะการปล่อยให้คนอื่นมาขีดเส้นทางให้เรานับเป็นการทิ้งขว้างสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชีวิต นั่นคือเจตจำนงเสรีที่มอบความเป็นปัจเจกให้มนุษย์คนหนึ่ง
3
สมมติว่าคุณมีทางเดินให้เลือก 8 ทาง (และแน่นอนว่าเป็นเส้นทางที่กำหนดเอาไว้แล้ว) และสมมติว่าคุณไม่เห็นประโยชน์ที่จะเดินทางใดทางหนึ่งใน 8 เส้นทางนี้เลย ถ้าอย่างนั้นคุณก็ต้องมองหาเส้นทางที่ 9 - และนี่คือใจความสำคัญทั้งหมดที่ผมต้องการจะสื่อ
แน่นอนว่าเรื่องแบบนี้พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะที่ผ่านมาชีวิตของคุณค่อนข้างคับแคบ เป็นชีวิตแนวดิ่งมากกว่าชีวิตแนวราบ จึงเข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมคุณถึงกำลังรู้สึกเช่นนี้ แต่ใครก็ตามที่ไม่ยอมตัดสินใจเลือกทางเดินของตน สุดท้ายเขาจะต้องจำใจเลือกเพราะถูกสถานการณ์บังคับอยู่ดี
ถ้าคุณกำลังท้อแท้ คุณก็มีเพียงสองทางเลือก นั่นคือยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องเสาะแสวงหาหนทางใหม่อย่างจริงจัง แต่ขอเตือนว่าอย่าเผลอไปแสวงหาเป้าหมาย แต่ขอให้แสวงหา way of life - จงตัดสินใจว่าคุณอยากจะมีชีวิตแบบไหน แล้วค่อยดูว่าคุณจะทำอะไรได้บ้างในการหาเลี้ยงชีพเพื่อที่จะได้มีชีวิตอย่างที่คุณอยากมี
2
คุณอาจจะตัดพ้อว่า "ผมไม่รู้ว่าจะมองหาที่ไหน ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมกำลังมองหาอะไร"
ประเด็นมันก็อยู่ตรงนี้แหละ มันคุ้มกันมั้ยที่จะยอมทิ้งสิ่งที่เรามีเพื่อออกแสวงหาสิ่งใหม่? ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน คุณคิดว่ามันคุ้มรึเปล่าล่ะ? ไม่มีใครตัดสินเรื่องนี้แทนคุณได้หรอกนะ แต่อย่างน้อยแค่เราตัดสินใจว่า "จะลองมองหาดู" ก็ช่วยให้เราเข้าใกล้คำตอบมากขึ้นแล้ว
ถ้าผมไม่หยุดเขียนเสียแต่ตอนนี้ สงสัยจะได้หนังสือเป็นเล่มๆ แน่ ผมหวังว่าข้อความนี้จะไม่ทำให้สับสนเท่ากับตอนที่คุณเห็นมันครั้งแรกนะ แน่นอนว่าคุณต้องทดไว้ในใจเสมอว่านี่คือวิธีการมองโลกในแบบของผม ผมคิดว่ามันน่าจะประยุกต์ใช้ได้กับคนทั่วไป แต่ถ้าคุณไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร เราทุกคนล้วนต้องยึดมั่นชุดความเชื่ออะไรบางอย่าง และนี่ก็เป็นเพียงชุดความเชื่อของผมเท่านั้นเอง
หากเจอข้อความใดในจดหมายนี้ที่อ่านแล้วไม่รู้เรื่องก็บอกผมได้เลย ผมไม่ได้พยายามจะส่งคุณไปตามหาปราสาทในเทพนิยาย แค่อยากจะชี้ให้เห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องยอมรับทางเลือกที่คนอื่นยื่นมาให้เรา ชีวิตมีอะไรมากกว่านั้น ไม่มีใครต้องทำสิ่งที่เขาไม่อยากทำไปชั่วชีวิต แต่ถ้าสุดท้ายแล้วคุณต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นก็ขอให้บอกตัวเองว่ามันเป็นเรื่องที่คุณเลี่ยงไม่ได้ มีคนที่ตกอยู่ในกลุ่มนี้มากมายดังนั้นคุณไม่ต้องกลัวเหงาเลย
ผมคงต้องพอแต่เพียงเท่านี้ จนกว่าผมจะได้ยินข่าวจากคุณอีกครั้ง ผมยังคงเป็น
เพื่อนคุณเสมอ
ฮันเตอร์
ขอบคุณเนื้อหาจาก Farnam Street: Hunter S. Thompson’s Letter on Finding Your Purpose and Living a Meaningful Life
โฆษณา