29 ก.ค. 2022 เวลา 01:59 • ความคิดเห็น
ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล
คนรอบข้างจะทนอยู่ด้วยไม่ไหว
เพราะเมื่ออารมณ์เป็นใหญ่
แนวโน้มคือคุณจะไม่อยู่กับร่องกับรอย
ชั่วโมงนี้อยากอย่างหนึ่ง ตัดสินใจอย่างหนึ่ง
อีกชั่วโมงเกิดอยากไปอีกอย่าง
ก็เปลี่ยนใจเลือกไปอีกอย่าง
ก่อความเสียหาย หรือทำลายความรู้สึกคนอื่น
จากการเอาแน่เอานอนไม่ได้บ่อยๆ
ที่สำคัญคือ
หลังจากปล่อยให้อารมณ์เป็นใหญ่นานไป
ใจคุณจะเหมือนพอกไอร้อนหนาแน่นขึ้นทุกที
ตัวคุณเองยังไม่อยากทนกับความร้อนรนในตนเอง
ก็คงยากที่จะหวังให้ใครมาทนกับความร้อน
ที่คุณเผลอระบายออกสู่โลกภายนอกบ่อยๆได้
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
แต่ถ้า ‘ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์’
ก็อย่าเพิ่งนึกว่าจะดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นพวกตาไว
เห็นรายละเอียด
เห็นสาเหตุที่มาที่ไปของปัญหาได้มากกว่าคนอื่น
คุณจะออกแนวขุดคุ้ยเก่ง
และในที่สุด ความแข็งแรงในการใช้เหตุผล
จะพัฒนาเป็นความแข็งกระด้างของอัตตาอันใหญ่โตได้
การเป็นคนอยู่กับร่องกับรอย
และเป็นฝ่ายชี้ถูกชี้ผิดได้ทุกครั้ง
อาจเสริมให้อัตตาเจ้าเหตุผลของคุณใหญ่โตเท่าภูเขา
แล้วบดบังความรู้สึกละเอียดอ่อนได้แทบไม่เหลือ
เช่น
ความสามารถในการเห็นอกเห็นใจคนอื่นอาจลดลง
ความสามารถในการเห็นหัวคนอื่นอาจน้อยลง
ความสามารถในการเห็นแก่ส่วนรวมอาจไม่เหลือเลย
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
เพื่อจะมีเหตุผลให้ได้ดุลกับอารมณ์
คุณไปสั่งตัวเองดื้อๆไม่ได้ว่า ‘จงพอดี’
เพราะเกิดมาไม่มีใครพอดี
ต้องเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
ระหว่างเหตุผลและอารมณ์เสมอ
คุณจำเป็นต้องอาศัย ‘ความไม่พอดี’ ที่มีอยู่นั่นเอง
เป็นเครื่องสังเกต
เป็นเครื่องทำสติให้เจริญขึ้น
กล่าวคือ..
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
#เมื่อใดรู้สึกกระด้างเกินไป
ดูใจแล้วเห็นแต่เหตุผลข้างตัวเอง
ไม่สัมผัส ไม่ไยดีกับความรู้สึกของคนอื่นเลย
แม้เห็นหน้าเห็นตาคนเป็นทุกข์อยู่ทนโท่
ก็ไม่นึกสงสาร ไม่นึกอยากเห็นใจสักนิด
อันนั้นให้กระซิบกับตัวเองว่า
ตรรกะเอาถูกเอาผิดของคุณ
บีบอัดให้ ‘มนุษยธรรม’ ของคุณเหลือน้อยลง
เห็นเช่นนั้น สติของคุณจะเจริญขึ้น
ลดระดับเหตุผลแข็งๆ
ลงมาเจออารมณ์อ่อนๆที่ครึ่งทางได้
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
#หรือเมื่อใดรู้สึกอ่อนไหวยวบยาบเกินไป
ดูใจแล้วซัดส่าย เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้เลย
มองกี่ทีเห็นแต่ความผันผวน
เดี๋ยวอยากโน่น เดี๋ยวอยากนี่
ไม่มีการตัดสินใจที่เด็ดขาด
เพราะขาดเป้าหมายแน่ชัดว่าจะเอาอะไร เพื่ออะไรแน่
อันนั้นให้กระซิบกับตัวเองว่า
อารมณ์เหวี่ยงไปเหวี่ยงมาของคุณ
เป็นต้นเหตุรบกวนโลกให้ปั่นป่วนรวนเรแล้ว
เห็นเช่นนั้น สติของคุณจะเจริญขึ้น
เพิ่มระดับเหตุผลดีๆขึ้นมา
มีแก่ใจเปิดตาเล็งเป้าหมายให้ชัดขึ้นได้
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
การเจริญสติเพื่อปรับเปลี่ยนนิสัยนั้น
ต้องใช้เวลา
ไม่ใช่ทำครั้งสองครั้งแล้วได้ผลเลย
เพราะอัตตาเดิม
จะหาทางต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทุกท่า
คุณมักต้อง ‘เห็นความไม่พอดี’ อันเป็นภายในไปนานๆ
ผ่านความฝืดฝืน
พัฒนาเป็นความเคยชิน
ก่อนจะย่างเข้าสู่ความเป็น ‘ปกติใหม่’ เต็มที่
กระทั่งรู้สึกว่ากลายเป็นอีกคนที่พอดีได้
ในวันที่ ‘เห็นโทษ’ ของเหตุผลอันแข็งกระด้างได้ทุกครั้ง
และ ‘เห็นภัย’ ของอารมณ์อันยวบยาบได้ทุกหน
ร้อยเรียงจากบทความของคุณดังตฤณ
โฆษณา