29 ก.ค. 2022 เวลา 12:09 • เกม
ข้อคิดจากเกม: God of War “สิ่งที่ดีสำหรับพ่อแม่ อาจเป็นยาพิษสำหรับลูก”
สิ่งที่ดีในมุมมองของพ่อแม่ อาจเป็นสิ่งที่ทำร้ายชีวิตของลูก
God of War (2018)
เกมนี้เราจะได้รับบทเป็นตัวละครที่ชื่อ “เครโทส”
เทพแห่งสงครามจากดินแดนกรีก
ซึ่งรอดชีวิตจากการเสียสละตนเอง
เพื่อปลดปล่อยพลังแห่งความหวังออกไปสู่โลก
หลังจากเหตุการณ์ในศึกครั้งนั้น
เขาได้มาอาศัยอยู่ ณ ดินแดนมิดการ์ด
โดยมีภรรยาที่ชื่อ “เฟย์” และมีลูกชายที่ชื่อ “อเทรอัส”
แต่แล้ววันเวลาแห่งความสุขกลับดำรงอยู่เพียงกระชั้นสั้น
เมื่อเฟย์ได้เสียชีวิตลง พร้อมกับคำขอสุดท้าย คือ
“ขอให้สองพ่อลูกนำเถ้ากระดูกของเธอไปโปรย ณ ยอดเขาที่สูงที่สุดในโยธันไฮม์”
การเดินทางของทั้งสองยังไม่ทันจะเริ่มต้น
อยู่ ๆ ก็มีชายแปลกหน้าคนหนึ่งมาบุกถึงบ้าน
คล้ายกับกำลังตามหาอะไรบางอย่างด้วยท่าทีสุดห้าว
เมื่อเครโทสสัมผัสได้ถึงอันตรายที่เข้ามาเยือน
เขาจึงเปิดศึกซัดกับชายแปลกหน้าจนได้รับชัยชนะ
(โดยเจ้าคนนี้ดูเหมือนจะไม่รู้สึกเจ็บปวด และทนทานต่อการโจมตี)
ด้วยเหตุนี้
สองพ่อลูกจึงรีบออกเดินทางเพื่อหลีกเลี่ยงภัยร้ายที่อาจตามมา
และเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายที่ตั้งใจไว้
นี่คือเกมแนว Action RPG ในมุมมองแบบ TPS
ที่ให้เราได้สำรวจดินแดนแบบกึ่ง ๆ Open World
แค่ได้สัมผัสกับความเข้มข้นของเนื้อเรื่องหลัก
และบรรยากาศของการผจญภัยก็นับว่าคุ้มค่าแล้ว
ยิ่งความมันส์ในเวลาต่อสู้ก็มาแบบจัดเต็ม
ทั้งการใช้กำปั้นต่อย, ฉีกศัตรูด้วยมือเปล่า (แบบฉีกถุงเลย์),
นวดหน้าด้วยฝ่าเท้าเพื่อเผด็จศึก, ใช้โล่ปัดป้อง, ใช้ขวานสับ
และใช้ดาบติดโซ่กวัดแกว่งทั่วทิศทาง (ใครขวางต้องเจอกับโซ่อีโต้)
โดยนอกเหนือจากความดุเดือดเหล่านี้แล้ว
ยังมีเรื่องราวความสัมพันธ์ของสองพ่อลูกให้เราได้ติดตาม
เราจะได้เห็นความกลัวของเครโทสในฐานะพ่อคนหนึ่ง
ซึ่งทำให้เขาวางท่าทีแบบเหินห่างต่ออเทรอัส
อีกทั้งยังปิดบังความเป็นมา
และปิดบังชาติกำเนิดที่แท้จริงของตัวเองไม่ให้ลูกชายรับรู้
(เครโทสเดิมทีเป็นครึ่งเทพ และภายหลังได้รับพลังจนกลายเป็นเทพอย่างเต็มตัว)
เนื่องจากเครโทสกลัวว่า
“ถ้าอเทรอัสซึมซับสิ่งต่าง ๆ จากเขาไป
เจ้าลูกชายคนนี้จะกลายเป็นเหมือนตัวเขาเมื่อครั้งอดีต”
ที่เต็มไปด้วยความเดือดดาล ความแค้น และเคยทำสิ่งผิดพลาดมากมาย
เครโทสจึงตัดสินใจที่จะอยู่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ
ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเชื่อว่า
มันคือวิธีที่ดีที่สุดแล้วสำหรับการปกป้องลูกชายของตน
แต่นี่กลับทำให้อเทรอัสเกิดความเข้าใจผิดและน้อยใจอยู่ลึก ๆ ว่า
“ตนเองนั้นไม่ดีพอ และทำให้พ่อไม่รัก”
พอบวกกับการไม่รู้ชาติกำเนิดของตัวเอง
อเทรอัสจึงมีโรคประจำตัวที่ทำให้เขาเจ็บป่วยบ่อย ๆ
(เนื่องจากเขาเชื่อว่าตนเองเป็นมนุษย์ธรรมดา มันจึงทำให้เกิดความขัดแย้งในระดับร่างกายจิตใจ)
เส้นทางของสองพ่อลูก
จะทำให้เราสัมผัสถึงความผูกพันที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น
รวมทั้งการสื่อสารเพื่อสะสางความไม่เข้าใจต่าง ๆ
และการส่งต่อบทเรียนชีวิตจากพ่อสู่ลูก
“จากความห่างเหิน สู่ความใกล้ชิด”
“จากความเข้าใจผิด สู่ความประจักษ์แจ้ง”
แล้วตัวเครโทสเองก็ได้พบว่า
ลูกชายคนนี้ทำให้เขาได้พัฒนาตัวเอง
ในการเป็นพ่ออย่างเข้าที่เข้าทางยิ่งขึ้น
บทเรียนจากเกมนี้จึงเป็นสิ่งเตือนใจสำหรับพ่อแม่ผู้เลี้ยงดู
ให้กลับมาดูแลเงื่อนปมในใจของตัวเอง
ก่อนที่เงื่อนปมเหล่านั้น เช่น ความกลัว, ความปวดร้าว หรือ ความทุกข์ใด ๆ
จะแผ่ขยายออกไปจนสร้างรอยบาดแผลให้แก่ลูกหลาน
รวมทั้งในเรื่องของการไม่เที่ยวไปตัดสินใจแทนลูกหลาน
โดยขาดความเข้าใจ และไม่ได้สื่อสารเพื่อตรวจสอบความเข้าใจ เช่น
-คิดแทนว่า สิ่งใดเป็นสิ่งที่ดีสำหรับลูก
-เลือกให้ว่า สิ่งใดเป็นสิ่งที่ลูกควรจะได้รับ
-ตัดสินใจให้ว่า อนาคตลูกควรจะเติบโตไปในทิศทางไหน
ฯลฯ
หากพิจารณาจากประโยคนี้
“ให้ชีวิตลูกกำหนดวิธีการเลี้ยงดู ไม่ให้วิธีการเลี้ยงดูมากำหนดชีวิตลูก”
ประโยคนี้คล้ายกับเป็นแผนที่ซึ่งจะช่วยให้พ่อแม่ผู้เลี้ยงดู
ได้กลับมาตั้งหลัก และจัดวางท่าทีของตนเองใหม่
โดยผ่านการสังเกต รวมทั้งการทำความเข้าใจ
“ในธรรมชาติ ต้นทุน และความเป็นไปของลูกหลานอย่างลึกซึ้งรอบด้าน”
เพื่อนำมาเป็นฐานในการออกแบบวิธีการและเทคนิคต่าง ๆ สำหรับการเลี้ยงดู
ให้เหมาะกับธรรมชาติที่แท้ของชีวิตลูกหลาน
ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เค้าเหล่านั้น
-ได้รับการดูแลบ่มเพาะอย่างถูกที่ถูกทาง
-ได้รู้จักธรรมชาติของตนเอง
-ได้เติบโตอย่างเป็นสุข
แตกต่างจากการเอาแต่หาเทคนิควิธีการต่าง ๆ มากมาย
เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือสำเร็จรูปสำหรับการเลี้ยงดู
โดยหลงลืมเรื่องของการทำความเข้าใจชีวิตลูกหลาน
และหลงลืมความจริงข้อหนึ่งไปว่า
“วิธีการเหล่านั้นมันเหมาะกับชีวิตของเค้ารึเปล่า ?”
จนท้ายที่สุดอาจลงเอยด้วยการทำลายชีวิตเด็กคนหนึ่ง
ซึ่งจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีความสุข และไม่รู้จักธรรมชาติของตนเอง
รวมทั้งอาจกลายเป็นผู้ที่ส่งต่อบาดแผลให้แก่ผู้อื่นในอนาคตก็เป็นได้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา