24 ส.ค. 2022 เวลา 12:20 • เกม
ข้อคิดจากเกม: Dying Light “การดำรงชีวิตด้วยความเกื้อกูลไม่ก้าวก่าย”
ใช้เวลาของชีวิตที่เหลืออยู่อย่างจำกัด ให้มีคุณค่าและมีความหมาย
Dying Light (2015)
เกมนี้เราจะได้รับบทเป็นตัวละครที่ชื่อ “ไคล์ เครน”
สายลับที่ถูกว่าจ้างจากหน่วยงาน G.R.E.
(Global Relief Effort: G.R.E. - องค์กรบรรเทาสาธารณภัยร้ายแรงระดับโลก)
ไคล์ได้รับภารกิจให้เข้าไปยังเมืองฮาราน ประเทศตุรกี
ซึ่งเมืองดังกล่าวถูกปิดตาย
เนื่องจากเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสไม่ทราบชนิด
ทำให้คนในเมืองที่ติดเชื้อกลายสภาพเป็นซอมบี้สุดคลั่ง
ที่พร้อมจู่โจมและไล่ฆ่าเหล่าผู้รอดชีวิต
โดยขณะนี้ยังไม่มียารักษาโรค มีเพียงแค่ยาระงับอาการชั่วคราว
เพื่อไม่ให้คนที่ติดเชื้อกลายเป็นซอมบี้
ภารกิจหลักของไคล์ก็คือ
‘การตามหาข้อมูลงานวิจัยยารักษาไวรัสที่ถูกขโมยไป’
ทำให้ไคล์ต้องแทรกซึมเข้าไปในกลุ่มผู้รอดชีวิต
เพื่อหาทางทวงคืนข้อมูลเหล่านั้นกลับมาให้ได้
แต่แล้วก็มีเรื่องที่ทำให้ไคล์ไม่สามารถปล่อยผ่านไปได้
เนื่องจากเขาได้รับรู้ว่า
“ทางกระทรวงกลาโหมวางแผนจะระเบิดเมืองนี้ทิ้ง เพื่อหยุดยั้งการระบาดของไวรัส”
ไคล์จึงต้องหาทางยืนยันและส่งข่าวออกไปว่า “ในเมืองยังมีผู้รอดชีวิต”
เพื่อปกป้องคนในเมืองให้รอดพ้นจากการทำลายล้าง
การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และการเอาตัวรอดท่ามกลางฝูงซอมบี้คลั่งจึงเริ่มต้นขึ้น
นี่คือเกมแนว Action เอาชีวิตรอดจากฝูงซอมบี้ในมุมมองแบบ FPS
ที่ให้เราสามารถเคลื่อนไหวแบบ ‘Free Running’
มีทั้งการวิ่ง การสไลด์ การปีนป่าย และการกระโดด
ซึ่งช่วยให้เราเคลื่อนที่ได้อย่างคล่องตัว (ทั้งการลุยแหลกและการวิ่งหนีตีนแตก 555)
อาวุธก็มีทั้งในระยะประชิด เช่น กระบอง ท่อ ประแจ มีด ดาบ ขวาน
และในระยะกลางถึงไกลอย่างดาวกระจาย มีดขว้าง ระเบิดขวด ธนู ปืน ระเบิดแบบทำเอง
นอกจากนี้ เรายังสามารถรับมือศัตรูด้วยการถีบ จับทุ่ม หักคอ
กระโดดถีบ และการกระทืบได้ด้วย
ตัวเกมเน้นให้เราเก็บรวบรวมทรัพยากร
ซึ่งหาได้จากการทำภารกิจ และการค้นหาตามสถานที่ต่าง ๆ
เพื่อนำมาสร้างเป็นอุปกรณ์ในการเอาชีวิตรอด
โดยนอกจากฝูงซอมบี้ที่พร้อมไล่กัดเราแล้ว
ยังมีเหล่าผู้คนกันเองนี่แหละที่อันตรายไม่แพ้กัน
ดังนั้น ไม่ว่าเรากำลังทำภารกิจ หรือ อยู่ในระหว่างการออกหาทรัพยากร
การไม่ระวังตัว หรือ การพลั้งเผลอเพียงนิดเดียว
อาจทำให้เราต้องจบชีวิตลงได้
นี่จึงไม่ใช่แค่สงครามระหว่างคน กับ ซอมบี้
แต่มันยังมีเรื่องความขัดแย้งของคนด้วยกัน
ทั้งการแย่งชิงอาหาร ยา ที่อยู่อาศัย และทรัพยากรต่าง ๆ
ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิด และการปรับตัวของมนุษย์
บทเรียนจากเกมนี้ ช่วยให้เรากลับมาตั้งคำถามกับตนเองว่า
“เราใช้เวลาในชีวิตไปอย่างไร ?”
เราเอื้อเฟื้อเกื้อกูลเพียงใด เราเอาแต่ก้าวก่ายกอบโกยเพียงไหน
บางครั้งเราก็อาจเผลอขูดเลือดขูดเนื้อคนอื่น
คล้ายกับเคยชินกับเรื่องของการได้มาและการครอบครอง
จนหลงลืมเรื่องของการแบ่งปันและการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ซึ่งมักทำให้เรารู้สึกชินชาเมื่อได้ครอบครองสิ่งที่ปรารถนา
ทำนองว่า “ได้สิ่งที่ต้องการมาแล้ว แต่เหมือนมันขาดอะไรบางอย่างไป”
โดยภาวะเช่นนี้กำลังบอกบางสิ่งกับเรา
นั่นคือ เรากำลังใช้ชีวิตโดยละเลยคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ
คำว่า ‘คุณค่า’ ในที่นี้หมายถึง “การรับรู้ถึงคุณค่าและคุณประโยชน์ของสิ่งต่าง ๆ”
ไม่ว่าจะเป็นของตนเอง ผู้อื่น และสิ่งรอบตัว
หากเรามองชีวิตด้วยจิตใจอันละเอียดอ่อน
เราจะพบว่า “สิ่งต่าง ๆ ล้วนพึ่งพาอาศัยกัน”
ความเข้าใจเช่นนี้ จะช่วยให้เราค้นพบความจริงที่ซ่อนเร้น เช่น
๐ การดำรงอยู่ของสิ่งใดก็ตาม ล้วนมีคุณค่าในตัวของมันเอง
๐ การดำรงอยู่ของสิ่งใดก็ตาม จะมีผลต่อสิ่งอื่นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
นี่คือสายใยที่เชื่อมโยงทุกสิ่งเข้าด้วยกัน
จนเกิดเป็นสายสัมพันธ์อันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ
คล้ายกับว่า ทุกสิ่งในธรรมชาติล้วนเป็นครอบครัวเดียวกัน
ซึ่งแตกต่างกันเพียงแค่ชื่อเรียกเท่านั้น
การดำรงชีวิตโดยเข้าใจและรู้ซึ้งถึงคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ
จะทำให้จิตใจของเราเกิดความอ่อนโยน เกิดความชื่นชมยินดี เกิดเป็นความขอบคุณ
ทั้งต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อทุกสิ่งรอบตัว
จิตใจของเราจะเปิดกว้างยิ่งขึ้น
รวมทั้งเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ซึ่งจะช่วยให้เราต้อนรับความจริงของชีวิต ต้อนรับความแตกต่าง
และหาทางดำรงอยู่กับทุกสิ่งด้วยความเกื้อกูลไม่ก้าวก่าย
ถึงแม้เวลาในชีวิตของเราจะมีอยู่อย่างจำกัด
แต่ก็ไม่ได้แปลว่า “เราต้องใช้ชีวิตด้วยใจที่จำกัด”
ที่มักเอาแต่ทำตัวเป็นพื้นที่อันคับแคบ พร้อมก้าวก่าย ทำร้าย และกอบโกย
ด้วยเหตุนี้ เราจึงสามารถดำรงชีวิตด้วยใจที่ไม่จำกัด
ซึ่งมีพลังในการเป็นพื้นที่ว่าง พร้อมเกื้อกูล ดูแล และแบ่งปัน
การดำรงอยู่ของเราก็จะเปลี่ยนจากคลื่นแห่งความร้อนรุ่มและความเกลียดชัง
มาเป็นการแผ่ร่มเงาแห่งความสงบเย็นและความรัก

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา