Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
JEENTHAINEWS
•
ติดตาม
2 ส.ค. 2022 เวลา 05:39 • ไลฟ์สไตล์
เปิดสำรับ ‘กับข้าวจีนโบราณ’ แต่ละยุคชอบอาหารแบบไหน รสชาติใดคือดาวเด่นประจำราชวงศ์
การทำอาหารนั้นถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดของวัฒนธรรมแดนมังกร ซึ่งมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานหลายพันปี และมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคและกลุ่มชาติพันธุ์ในจีน โดยอาหารจีนนับว่าเป็น “หนึ่งในสามอันดับอาหารของโลก” ร่วมกับอาหารฝรั่งเศสและอาหารตุรกี ซึ่งอาหารจีนนั้นแผ่ซ่านกลิ่นหอมฟุ้งและความอร่อยเลิศไปทั่วทุกสารทิศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก รวมถึงมีอิทธิพลต่ออาหารไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา
วันนี้แอดมินจึงขอพาไปเปิดสำรับกับข้าวจีนโบราณ ว่าแต่ละยุคแต่ละสมัยใหญ่ๆ ของจีน ชาวจีนนิยมทานอาหารและรสชาติใดกันเป็นหลัก
ราชวงศ์โจว (1100-256 ปี ก่อน ค.ศ.)
สมัยราชวงศ์โจว อาหารส่วนใหญ่จะเป็นประเภทธัญพืช เช่น ถั่ว ข้าวฟ่าง ข้าวบาเลย์ และข้าวกล้อง แต่ไม่เหมือนกับธัญพืชที่เพาะปลูกในการเกษตรสมัยใหม่ในปัจจุบัน จนกระทั่งในช่วงปลายราชวงศ์ชาวจีนจึงเริ่มเพาะปลูกข้าวเปลือก แต่ไม่พบเห็นได้แพร่หลายและมีราคาแพงสำหรับคนชนชั้นสูงเท่านั้น โดยเกลือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการประกอบอาหารของชาวจีนในยุคนี้
ราชวงศ์ฮั่น (206 ปี ก่อน ค.ศ.-ค.ศ. 220)
เช่นเดียวกับราชวงศ์โจว ชาวจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นชอบทานอาหารรสเค็มกันเป็นหลัก และยุคนี้ยังเป็นช่วงที่วัฒนธรรมการกินของชาวจีนมีความเฟื่องฟูด้วย ซึ่งจากการเปิดเส้นทางสายไหมในราชวงศ์ฮั่น การแลกเปลี่ยนทางการค้าและเศรษฐกิจทำให้ชาวจีนรู้จักกับวัตถุดิบทางอาหารจากหลายเชื้อชาติ เช่น พริกไทย ทับทิม องุ่น วอลนัท เมล็ดงา แตงโม แตงกวา ผักขม แครอท ยี่หร่า ขึ้นฉ่าย ผักกาดหอม หัวหอม และกระเทียม ซึ่งวัตถุดิบเหล่านี้ได้กลายเป็นรากฐานที่สำคัญของวัฒนธรรมการกินของชาวจีนต่อมาในสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง
ราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907)
มาถึงสมัยราชวงศ์ถัง อาหารจีนมีความก้าวหน้าและมีคุณภาพมากขึ้น โดยชาวจีนมักจะจัดงานเลี้ยงฉลองและงานรื่นเริงในหลากหลายโอกาส และมีสารพัดวิธีในการประกอบอาหาร ทั้งการต้ม การทอด การย่าง การนึ่ง และการเคี่ยว รวมถึงมีวิธีการถอมอาหารอีกหลายวิธี เช่น การปรุงอาหารล่วงหน้า การหมักเกลือหรือหมักในน้ำเกลือ และการหมักดอง ชาวจีนยุคนี้ทานธัญพืชหลายชนิดเป็นหลัก ส่วนเนื้อสัตว์นั้นมักจะเป็นอาหารสำหรับชนชั้นสูง
ราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1279)
ราชวงศ์ซ่งถือเป็นหนึ่งในจุงสูงสุดของการพัฒนาของอาหารจีน โดยร้านอาหารหลายแห่งในยุคนั้นเสิร์ฟทั้งอาหารจานเย็น อาหารจานร้อน ซุป และอาหารมังสวิรัติ ส่วนรสชาติที่ถูกปากของชาวจีนในสมัยราชวงศ์ซ่งนั้น รสหวานถือเป็นดาวเด่นสำหรับชาวจีนทางตอนเหนือ ขณะที่ชาวจีนทางตอนใต้จะชอบกินรสเค็มเป็นหลัก
ราชวงศ์หยวน-หมิง-ชิง (ค.ศ. 1206-1368, ค.ศ. 1368-1644, ค.ศ. 1616-1911)
ในยุคนี้วัฒนธรรมการกินของชาวจีนเจริญรุ่งเรืองและเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก มีตำรับอาหารหลายพันชนิดถูกคิดค้นหรือดัดแปลงขึ้นในยุคนี้ โดยชาวจีนทางตอนเหนือเริ่มใช้แป้งเป็นวัตถุดิบหลักในการประกอบอาหารแทนธัญพืช รวมถึงมีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เช่น มันฝรั่งและมันเทศ และในสมัยราชวงศ์หมิง รสเผ็ดเป็นที่นิยมกันในหมู่ชาวจีนที่อาศัยในมณฑลหูหนานและเสฉวน รวมถึงมีสถาบันสอนทำอาหารจีนเกิดขึ้น
ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิงซึ่งปกครองโดยชาวแมนจู วัฒนธรรมการกินของชาวแมนจูก็ส่งอิทธิพลต่ออาหารจีนในยุคนี้ด้วย จนกระทั่งในช่วงปลายราชวงศ์มีชาวต่างชาติเริ่มหลั่งไหลเข้ามายังจีนมากขึ้น อาหารจีนจึงมีลักษณะคล้ายกับอาหารตะวันตกบางส่วน หลังก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน
นับตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 1979 อาหารแบบดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์และภูมิภาคหลายแห่งกลับมาเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยร้านอาหารหลายแห่งเริ่มมีการคิดค้นตำรับอาหารตามแบบฉบับของราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง
ปัจจุบัน อาหารจีนได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางทั่วโลกในเรื่องของสีสัน กลิ่น รสชาติ และการตกแต่ง โดยอาหารชั้นเลิศของจีนมีด้วยกัน 4 ประเภท ได้แก่ อาหารซานตง (Lu Cuisine) อาหารเสฉวน (Chuan Cuisine) อาหารหวยหยาง (Huaiyang Cuisine) และอาหารกวางตุ้ง (Cantonese Cuisine)
ที่มา:
https://www.topchinatravel.com/china-guide/history-of-chinese-cuisine.htm
https://www.arsomsiam.com/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%99/
https://medium.com/exploring-history/food-that-conquered-the-world-the-tang-dynasty-f9ab3d17e493
จีน
ข่าวรอบโลก
ไลฟ์สไตล์
2 บันทึก
3
2
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย